เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวในแวดวงเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการวิเคาะห์สภาพอากาศ เพื่อใช้ในการพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ!!!
วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” มีรายละเอียดในเรื่องนี้มาบอกกัน โดยเป็นผลงานของ “Alibaba DAMO Academy” ซึ่งเป็น หน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาของอาลีบาบา กรุ๊ป ที่ได้ประกาศ เปิดตัว “ปากวน (Baguan)” อย่างเป็นทางการ
“ปากวน” คือ อะไร? ดูจากชื่อหลายคนอาจสงสัย อย่างที่เกริ่นในตอนแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพอากาศ โดย “ปากวน” คือ โมเดลพยากรณ์อากาศที่ได้รับการตั้งชื่อตามแนวคิด “การสังเกตจากมุมมองที่ต่างกัน” ของจีน โมเดลนี้นำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ล้ำสมัยมาใช้ปฏิวัติความสามารถด้านการพยากรณ์อากาศ เลยทีเดียว
มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจสงสัยว่า โมเดลพยากรณ์อากาศที่ทาง “ ยักษ์เทค” จากแผ่นดินมังกร พัฒนาขึ้นนี้มีความพิเศษ หรือมีความแม่นยำในการใช้งานแค่ไหน?
“ปากวน” สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยสามารถพยากรณ์ตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงไปจนถึงอีกสิบวันข้างหน้า!!
โดย โมเดลที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ ได้ใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง ที่ช่วยให้โมเดนนี้มีความโดดเด่นหลายประการ เช่น มีความละเอียดเชิงพื้นที่สูง สามารถพยากรณ์ด้านอุตุนิยมวิทยาอย่างละเอียดถึง 1 x 1 กิโลเมตรกริด และอัปเดตทุกชั่วโมง
ซึ่งความสามารถเหล่านี้ทำให้ “ปากวน” จะกลาย เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้งานด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ พยากรณ์ปริมาณไฟฟ้า คาดการณ์พลังงานทดแทน และการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้ดียิ่งขึ้น !!
“วอเทา หยิน” ผู้อำนวยการฝ่าย Decision Intelligence Lab ที่ Alibaba DAMO Academy บอกว่า “ปากวน” คือโมเดลที่แสดงถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญของ Alibaba ในการใช้เทคโนโลยีสร้างสิ่งที่ดีกว่า เทคโนโลยีอันทันสมัยของโมเดลนี้ ไม่เพียงช่วยยกระดับด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศเท่านั้น
แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนและภาคการเกษตร แกนหลักทางเทคนิคของ “ปากวน” คือการใช้โครงสร้าง Siamese Masked Autoencoders (SiamMAE) ที่ทันสมัย และวิธีการพรี-เทรนที่เข้มข้น
ความล้ำหน้าเหล่านี้ทำให้โมเดลพยายกรณ์อากาศนี้สามารถค้นพบแพทเทิร์นที่ซับซ้อนต่าง ๆ ที่รวบรวมมาจากข้อมูลพลวัตของบรรยากาศที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ วิธีการพรี-เทรนแบบ autoregressive ทำให้ “ปากวน” สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงถึงอีกสิบวันข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ ทั้งในระดับพื้นที่และมิติเวลาต่าง ๆ
สำหรับการทำงานของ “ปากวน” จะ ใช้ ERA5 ในการสร้างแบบจำลองพื้นฐานสำหรับการพยากรณ์อากาศ โดย ERA5 เป็นระบบวิเคราะห์สภาพอากาศทั่วโลกแบบซ้ำ ๆ ของศูนย์การพยากรณ์อากาศระยะกลางของยุโรป (European Center for Medium-Range Weather Forecasts: ECMWF) ซึ่งทำการวิเคราะห์สภาพอากาศทั่วโลกตั้งแต่ปี 1979 ถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ “ปากวน” ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพต่าง ๆ เช่น ตัวบ่งชี้ด้านอุตุนิยมวิทยาในระดับภูมิภาคที่สำคัญ ๆ เช่น อุณหภูมิของภูมิภาคต่าง ๆ ความเข้มข้นของปริมาณรังสี และความเร็วลม วิธีการสร้างโมเดลระดับโลกและระดับภูมิภาคที่ละเอียดรอบคอบลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่เพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์ที่ลงลึกในระดับภูมิภาค เท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกที่เจาะจงเฉพาะกับสภาพภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย
ความพิเศษที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้โมเดลพยากรณ์นั้น คือ การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำของ “ปากวน” มีความสำคัญอย่างมากต่อความต้องการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โมเดลนี้ช่วยให้การคาดการณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนเชื่อถือได้มากขึ้น ช่วยให้การจัดการพลังงานมีเสถียรภาพมากขึ้น และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดให้เพิ่มมากขึ้น
โดยปัจจุบัน ภาคกำลังไฟฟ้าและพลังงานในประเทศจีน ได้มีการนำศักยภาพด้านการพยากรณ์อากาศของ “ปากวน” ไปใช้ในการทำงานสำคัญต่าง ๆ แล้ว เช่น ใช้คาดการณ์ปริมาณไฟฟ้าและคาดการณ์พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
สำหรับตัวอย่างที่มีการนำไปใช้ คือ เมื่อเดือน ส.ค. ได้เกิดเหตุการณ์อุณหภูมิลดลงอย่างกระทันหันในมณฑลชานตง และ โมเดล ของ “ปากวน” ก็สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า ความต้องการไฟฟ้าจะลดลง 20% ในอีกหนึ่งวันข้างหน้า ซึ่งแม่นยำถึง 98.1% ในด้านค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าล่วงหน้าหนึ่งวัน
ซึ่ง การคาดการณ์ที่แม่นยำนี้ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานโครงข่ายไฟฟ้าในท้องถิ่นสามารถปรับการส่งพลังงานได้อย่างเหมาะสม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ด้วย
“วอเทา หยิน” ผู้บริหารของ Alibaba DAMO Academy ยังบอกอีกว่า ได้ใช้เวลาหลายปีเพื่อทำการวิจัยด้านการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ การพยากรณ์อนุกรมเวลา และ AI ที่สามารถอธิบายได้ (explainable AI) ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างโมเดลพยากรณ์อากาศในระดับภูมิภาคที่มีความแม่นยำสูง
“ เราจะยังเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวบ่งชี้สภาพอากาศที่สำคัญ ๆ เช่น ปริมาณเมฆปกคลุม ความเร็วลมและปริมาณน้ำฝนที่มีความรุนแรง รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน และรองรับการใช้งานต่าง ๆ เช่น การเตือนด้านอุตุนิยมวิทยาการบินพลเรือน การผลิตในภาคการเกษตร และการเตรียมการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ”
อย่างที่รู้ๆกันว่าสภาพอากาศของโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลง และในภูมิภาคนี้เกิดพายุหมุนเขตร้อนปีละหลายลูก และมีการพัดเข้าสู่ประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม รวมถึงไทยทุกปี หนักเบาแตกต่างกันในแต่ละปี!!
ซึ่งหากมีการโมเดลพยากรณ์ที่ได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความแม่นยำได้เกือบ 100% นั้นหมายความว่า จะช่วยพยากรณ์เตือนล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำให้กับประชาชน
ก็จะช่วย ลดความสูญสียในชีวิตและทรัพย์สินจากภัยธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นด้วย!?!
Cyber Daily
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 พ.ย.67
Link : https://www.dailynews.co.th/news/4085285/