ปัจจุบันการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเทรนด์ที่กำลังมา มีการนำไปประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลายในหลากหลายวงการ แต่อย่างที่รู้เทคโนโลยีนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย!
และเป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเทศว่าควรจะมีการออกกฎหมายมาควบคุมหรือไม่? ซึ่งมีเพียงสหภาพยุโรป ที่ได้ออกกฎหมาย AI เป็นฉบับแรกของโลก
ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ AI หรือไม่? ยังเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องหารือถึงผลดีผลเสียในการออกกฎหมายมากำกับดูแล แต่ในระหว่างนี้ที่มีการนำ AI มาใช้งานอย่างแพร่หลาย ทาง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จับมือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า โดย ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Center หรือ AIGC) เดินหน้าพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นการต่อยอด AI Governance Guideline ของไทย สู่การออกประกาศ Guideline ใหม่ !
คือ “แนวทางประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” (Generative AI Governance Guideline for Organizations) สำหรับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการวางกรอบการกำกับดูแล การประยุกต์ใช้ Generative AI ระดับองค์กร
“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บอกว่า ปัจจุบัน Generative AI ได้กลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญ สำหรับองค์กรในยุคดิจิทัล ที่หลายๆ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มทักษะการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงแม้การใช้งาน Generative AI จะเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายอุตสาหกรรม แต่ประเด็นเรื่องความเสี่ยงก็ยังคงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของข้อมูล และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานและสังคมในภาพรวม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่องค์กรจะต้องมีการวางแผนตลอดจนแนวทางการกำกับดูแล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย
“กระทรวงดีอี ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย AI Governance เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการ ด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570) ที่ได้มีการกำหนดในมิติของการเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น”
ทาง เอ็ตด้า จึงได้ออก “แนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในองค์กร ที่มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Generative AI ในทุกมิติที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรที่สนใจ สามารถนำไปช่วยกำหนดแนวทางการประยุกต์ใช้งาน Generative AI ภายในองค์กรได้อย่างชัดเจน และสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล
“แนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” ฉบับนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ของการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการความเสี่ยงในการประยุกต์ใช้ Generative AI ที่มีความสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำพาองค์กรในประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยยกระดับความพร้อมในทุกภาคส่วนจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาลที่มีนโยบายที่เด่นชัดในเรื่องดังกล่าว ที่จะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระดับสากลต่อไป” นายประเสริฐ ระบุ
สำหรับเนื้อหาของแนวปฏิบัติหรือไกด์ไลน์ฉบับใหม่นี้ เนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจ Gen AI, ประโยชน์และข้อจำกัด, ความเสี่ยง, และแนวทางการประยุกต์ใช้อย่างมีธรรมาภิบาล
ภาพ pixabay.com
“ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการ เอ็ตด้า บอกว่า คู่มือฉบับนี้ถูกต่อยอดขยายผลมาจากเล่มแรก อย่าง “แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารองค์กรที่พัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ AIGC โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาและตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมาตรฐานสากล ที่จะเป็นแนวทางให้องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยเนื้อหาคู่มือจะประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลัก ๆ คือ
1. การทำความเข้าใจ Generative AI ที่จะช่วยปูความเข้าใจพื้นฐานให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในองค์กรได้เข้าใจหลักการที่สอดคล้องกัน ทั้งในมุมของคำนิยาม ความหมายและคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง 2. ประโยชน์และข้อจำกัด Generative AI ที่จะฉายภาพให้เห็นในมุมของการนำไปใช้งานได้จริง พร้อมด้วย Use case ที่น่าสนใจ 3. ความเสี่ยงของ Generative AI เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงของ Generative AI พร้อมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งานจริงขององค์กร
4.แนวทางการนำ Generative AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง และรูปแบบของการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร และส่วนสุดท้าย 5.ข้อพิจารณาสำหรับการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลที่มุ่งเน้นให้องค์กรสามารถสร้างสมดุล ระหว่างการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาจาก Generative AI ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
สำหรับองค์กร หรือ ผู้สนใจ คู่มือ “แนวทางประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” สามารถดาวน์โหลดคู่มือนี้ได้ฟรีที่เว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/GovernanceGuideline_v1.aspx
การนำ AI ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งจำเป็น ในระหว่างที่ไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุม การนำไกด์ไลน์ที่ออกใหม่มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายก่อนที่จะมีบทสรุปว่าไทยต้องมีกฎหมาย AI หรือไม่ !?
จิราวัฒน์ จารุพันธ์
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 10 พ.ย.67
Link : https://www.dailynews.co.th/news/4062903/