บ้านเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับการมาลงทุนตั้ง ดาต้าเซนเตอร์ของบริษัทต่างประเทศมากพอควร ล่าสุด บีโอไอ ออกมาระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการ ดาต้าเซนเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิส ขอรับการส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท
ช่วงนี้บ้านเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับการมาลงทุนตั้งดาต้าเซนเตอร์ของบริษัทต่างประเทศมากพอควร ล่าสุดทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการ ดาต้าเซนเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิส ขอรับการส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง
ชนอกจาก Google ที่ได้ประกาศแผนลงทุน และยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกเข้ามาลงทุนตั้งดาต้าเซนเตอร์ในไทยแล้วหลายราย
ไม่เพียงแต่ Google ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายรายเลือกไทยเป็นฐานลงทุน อาทิ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศแผนลงทุนมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2580 โดยเฟสแรกสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แล้ว 3 แห่ง ด้วยเงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการชั้นนำจากทั่วโลก เช่น NextDC จากออสเตรเลีย CtrlS จากอินเดีย STT GDC จากสิงคโปร์ Supernap จากสหรัฐอเมริกา และ Telehouse จากญี่ปุ่น ที่ทยอยเข้ามาลงทุนในไทย
แม้ดูเหมือนว่าจะมีการมาลงทุนด้านนี้ในบ้านเราเป็นจำนวนมากขึ้น โดยปัจจัยหลักมาจากการเติบโตเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว โดยเฉพาะความก้าวหน้าเทคโนโลยีเอไอ ประกอบกับความต้องการธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง และแอปพลิเคชันที่ต้องประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้ปริมาณดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องตั้งดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้นขึ้น การเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ
ปัจจุบันมีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ 10,978 แห่งทั่วโลก ประเทศที่มีจำนวนมากสุด คือ สหรัฐอเมริกา 5,388 แห่ง ตามด้วยเยอรมัน 522 แห่ง สหราชอาณาจักร 517 แห่ง และจีน 449 สำหรับในทวีปเอเชีย นอกจากจีนที่เป็นอันดับหนึ่งแล้ว ยังมีญี่ปุ่นที่มี 219 แห่ง อินเดียมี 152 แห่ง สิงคโปร์มี 99 แห่ง และอินโดนีเซียมี 79 แห่ง
การวัดปริมาณการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์สามารถวัดได้จากปริมาณการใช้ไฟฟ้า ซึ่งข้อมูลบริษัท Cushman & Wakefield ระบุว่า ปี 2023 ดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกใช้ไฟฟ้าสูงถึง 7.4 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 55% ทั้งนี้เมืองที่เป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชีย คือ ปักกิ่งที่ใช้ไฟฟ้าสูงถึง 1,799 เมกกะวัตต์ ถือว่าเป็นอันดับสองของโลก ตามด้วยสิงคโปร์ 876 เมกกะวัตต์อันดับสี่ของโลก ส่วนเมืองอันดับสามและสี่ในเอเชีย คือ โตเกียว และเซียงไฮ้
ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การใช้ดาต้าเซนเตอร์มากกว่า 60% มาจาก ประเทศสิงคโปร์ แต่ยังมีเมืองอื่นๆ ที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากดาต้าเซนเตอร์รองลงมา คือ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กัวลาลัมเปอร์ และเมืองยะโฮร์ ในประเทศมาเลเซีย
เมื่อดูข้อมูลปัจจุบันจะเห็นได้ว่า โอกาสเป็นศูนย์กลางดาต้าเซนเตอร์ภูมิภาคนี้สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนมีไม่มาก แต่ข้อมูลบริษัท Cushman & Wakefield จัดอันดับตลาดดาต้าเซนเตอร์ทั่วโลกประจำปี 2024 แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว (Global Established Markets) เมืองเวอร์จิเนีย ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำ ตามด้วยแอตแลนตา โตเกียว ดัลลัส และลอนดอน ขณะที่ ฟีนิกซ์ มุมไบ โอเรกอน ซิดนีย์ และนอร์ท/เซาท์แคโรไลนา ติดอันดับ 6-10 ตามลำดับ
ส่วนกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Global Emerging Markets) แคนซัสซิตี้ ขึ้นแท่นผู้นำ ตามด้วยมิลาน แนชวิลล์ โอซากะ และไอโอวา โดยมีซูริค มินนีแอโพลิส ไฮเดอราบัด ออสติน และกรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 6-10 การที่กรุงเทพฯ ติดอันดับตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ สะท้อนถึงโอกาสเติบโตในอนาคต
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มุมไบ โตเกียว และจาการ์ตา ก้าวมาในอันดับที่สูงขึ้น โดดเด่นด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่การใช้งาน การพัฒนาโครงการใหม่ และอัตราการว่างของพื้นที่ ขณะที่สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่เคยเป็นผู้นำตลาดกลับหลุดจากอันดับท็อป 10 เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ ส่วนตลาดเกิดใหม่อย่าง โอซาก้า เชนไน ไฮเดอราบัด และยะโฮร์ ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูงในพื้นที่ใกล้เคียงกับโตเกียว มุมไบ และสิงคโปร์
ปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้มีการลงทุนตั้งดาต้าเซนเตอร์ในไทยมากขึ้น เป็นเพราะสิงคโปร์ ผู้นำตลาดดาต้าเซนเตอร์ในภูมิภาคกำลังเผชิญข้อจำกัดสำคัญ ทั้งด้านพื้นที่และกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้พลังงาน และข้อสำคัญยิ่งกำลังผลิตไฟฟ้าสำหรับการใช้งานดาต้าเซนเตอร์สิงคโปร์เหลืออยู่น้อยมาก ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ เริ่มมองหาทำเลใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน
ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ ดึงดูดการลงทุนด้านดาต้าเซนเตอร์ เริ่มจากความก้าวหน้า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องเทรนด์โลกที่ดาต้าเซนเตอร์ต้องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทย ยังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ใจกลางภูมิภาคเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวก เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของเคเบิลใต้น้ำหลายเส้นทาง
กระแสลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาและการที่กรุงเทพฯ ติดอันดับตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ ไม่เพียงตอกย้ำโอกาสไทยในการเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ภูมิภาค แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ สร้างงานคุณภาพสูง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้ก้าวไกลขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีให้เพียงพอ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารให้ทัดเทียมระดับโลก และการสร้างมาตรการจูงใจทางภาษีและการลงทุน
การก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการเร่งพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกัน หากไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและโอกาสที่มีได้อย่างเต็มที่ เราอาจได้เห็นประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านดาต้าเซ็นเตอร์ที่สำคัญของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย
บทความโดย ธนชาติ นุ่มนนท์
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 18 พ.ย.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1154066