BRICS ขยายพาร์ตเนอร์เพิ่มอีก 13 ประเทศ รวมถึงไทย โดย รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน มองว่าพาร์ตเนอร์ใหม่ BRICS ล้วนมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ หรือแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ป้อนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ
ในอีกมุมหนึ่ง การเลือกพาร์ตเนอร์ BRICS รอบนี้ยังสะท้อนการเชื่อมหมากในกระดานหมากล้อม ที่จีนพยายามแก้เกมปิดล้อมในทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก
แอลจีเรียมีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เดิมมีลูกค้าพลังงานรายใหญ่คือฝรั่งเศส แต่เริ่มรู้สึกว่าไม่แฟร์ จึงกระจายความเสี่ยงไปคบกับจีน
ไนจีเรีย เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุด และมีตัวเลข GDP สูงที่สุดในทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นประตูสู่แอฟริกาตะวันตก และประตูสู่พื้นที่รอยต่อทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา และเหนือพื้นที่สีเขียวของแอฟริกาที่เรียกว่าเข็มขัดซาเฮล
ยูกันดาเป็นประตูสู่แอฟริกาตะวันออก มีทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์
โบลิเวียเป็นประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเธียมมากที่สุดในโลก ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการป้อนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของจีนตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ขั้น
คิวบาเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ของ BRICS ด้วยเหตุผลด้านทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ เพื่อจ่อคอหอยอเมริกา โดยที่ผ่านมาเคยมีบทบาทสำคัญจากวิกฤตการณ์คิวบาปี 1962 ที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต หลังสหรัฐฯ นำขีปนาวุธไปติดตั้งในตุรกีและเล็งไปที่มอสโก รัสเซียจึงขนขีปนาวุธไปคิวบาจนเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น
เบลารุสเป็นรัฐกันชนรัฐสุดท้ายของรัสเซีย (รัสเซียมี 3 แนวกันชน แนวแรกคือ ลัตเวีย, ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ซึ่งเป็น NATO ทั้งหมด แนวที่ 2 ที่อยู่ใต้ลงมาคือ เบลารุส และใต้ลงมาอีกคือยูเครน) โดยมีความสำคัญในเชิงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ทำให้รัสเซียและ BRICS ต้องพยายามชิงเบลารุสให้ได้ก่อน
ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมเอเชียและยุโรป การได้ตุรกีเป็นพาร์ตเนอร์ยังได้ประโยชน์ในแง่การ PR ว่า BRICS เป็นความร่วมมือที่เปิดกว้างจริงๆ และโฟกัสเรื่องเศรษฐกิจ เพราะตุรกีเป็นสมาชิก NATO ซึ่งแม้ NATO จะขัดแย้งกับรัสเซีย แต่ก็สามารถร่วมมือกันทางเศรษฐกิจได้ ขณะที่จีนเองก็ไปลงทุนในตุรกีผ่านโครงการ BRI ในการเชื่อมจากตุรกีไปยุโรป โดยมองเป็นเส้นทางสายไหมทางบกทางด้านใต้
คาซัคสถานมีความสำคัญจากการเป็นประเทศที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรปทางตอนกลาง และอยู่ในเส้นทางสายไหมตอนกลางที่ทอดจากนครซีอานของจีน
อุซเบกิสถานเป็นจุดศูนย์กลางของเอเชียกลาง และมีแหล่งแร่ธาตุเยอะ รวมทั้งอยู่ในเส้นทางสายไหมตอนกลางที่ทอดจากนครซีอานของจีน
ไทยถือเป็นศูนย์กลางอาเซียนภาคพื้นทวีป มีความสำคัญในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่คำถามสำคัญคือไทยจะได้อะไรจาก BRICS นั้น ยังคงเป็นเรื่องของความร่วมมือในทุกมิติ ต่างจากเขตการค้าเสรีที่มีข้อผูกมัด โดย BRICS เน้นเปิดพื้นที่เพื่อให้แต่ละประเทศมาให้สิทธิประโยชน์และให้สิทธิพิเศษระหว่างกัน แต่มีจุดต่างระหว่างการเป็นสมาชิกเต็มตัวกับประเทศพาร์ตเนอร์ โดยสมาชิกดั้งเดิมมีสิทธิพิเศษในการนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ส่วนพาร์ตเนอร์ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้สิทธิประโยชน์อะไรจากแหล่งเงินกู้ในธนาคาร New Development Bank หรือไม่
อินโดนีเซียเป็นแหล่งทรัพยากร (นิกเกิล) มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และตลาดแรงงานมหาศาล อีกทั้งยังมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่การรวมกลุ่มมุสลิม
มาเลเซียมีศักยภาพในการเป็นฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต นอกเหนือจากการเป็นแหล่งสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันปาล์ม และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อพิจารณาว่าผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ย้ายฐานออกจากไต้หวันจะไปไหน คำตอบคือไป 4 ที่ ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์, เท็กซัส และแอริโซนา จีนจึงจำเป็นต้องมีมาเลเซีย
เวียดนามมีศักยภาพ เศรษฐกิจโตเร็ว เป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียน โดยจีนเองอยากให้อินเดียมองเวียดนามเป็นตัวอย่าง จากการที่มีพรมแดนติดกับจีนเหมือนกัน และมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเหมือนกัน แต่จีนกับเวียดนามสามารถทำมาค้าขายกันได้ และเวียดนามยังเปิดประตูให้จีนเข้าไปลงทุนอย่างมหาศาล แม้มีปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอยากใช้โมเดลนี้กับอินเดียเช่นกัน
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 20 พ.ย.67
Link : https://thestandard.co/13-new-brics-partners/