ความพินาศจากสงครามโลกครั้งที่ 3 นั้นขึ้นอยู่ที่หัวรบของขีปนาวุธโดยแท้
เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้อนุญาตให้ยูเครนสามารถใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐอเมริกาที่มอบให้ยูเครนทำการโจมตีในพื้นที่ลึกเข้าไปในรัสเซียได้ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐได้ปฏิเสธคำขอของทางการยูเครน และไม่อนุญาตให้ยูเครนโจมตีเข้าไปดินแดนรัสเซียด้วยการใช้ขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สงครามลุกลามบานปลาย ซึ่งถือว่าเป็นการทิ้งทวนของโจ ไบเดน ที่พลิกนโยบายของสหรัฐต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคมปีหน้านี้ และอาจทำให้อนาคตการสนับสนุนยูเครนของสหรัฐสะดุดหยุดลงก็ได้
ครับ ! ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายนนี้เอง ยูเครนยิงขีปนาวุธเชิงยุทธวิธีกองทัพบก ATACMS (Army Tactical Missile System) ของสหรัฐอเมริกา 6 ลูก เข้าใส่แคว้นบรีแยนสก์ของรัสเซีย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กองทัพยูเครนใช้ขีปนาวุธโจมตีระยะไกลเข้าไปในรัสเซีย นับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น และในวันเดียวกันนี้ยูเครนยังใช้ขีปนาวุธร่อนพิสัยไกล Storm Shadows ของอังกฤษโจมตีเข้าไปในดินแดนรัสเซียอีกด้วย
ทันทีทันใดเช่นกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ว่า รัสเซียได้ใช้ขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยกลางรุ่นใหม่ชื่อโอเรชนิค โจมตีเมืองดนิโปรในภาคตะวันออกของยูเครนเพื่อตอบโต้แบบทันควัน โดยปูตินระบุว่า การยิงขีปนาวุธทิ้งตัวความเร็วเหนือเสียงแต่ไม่ใช้หัวรบนิวเคลียร์เข้าใส่เขตอุตสาหกรรมทางทหารของยูเครนด้วยความเร็วถึง 10 มัค หรือ 2.5-3 กิโลเมตร/วินาที เป็นการตอบโต้การใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางของสหรัฐและอังกฤษของยูเครนเข้ามาในดินแดนรัสเซีย
ซึ่งขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยกลาง (IRBM) ที่ชื่อโอเรชนิค ตามปกติแล้วจะมีพิสัยทำการ 3,000 กม. ถึง 5,500 กม. ซึ่งการใช้อาวุธชนิดนี้ไม่มีความสำคัญทางทหารมากนัก แต่มีผลเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากเป็นการปรับหลักการในการใช้หัวรบนิวเคลียร์ให้ทำได้ง่ายขึ้น และประกาศให้โลกรู้ว่า ถ้ารัสเซียจะใช้อาวุธเกรดนิวเคลียร์ ก็สามารถใช้ได้อย่างสะดวกเช่นเดียวกัน
ปรากฏการณ์ที่รายงานมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำให้สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ.2492 ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า
“I know not with what weapons World War 3 will be fought, But World War 4 will be fought with sticks and stones. – ฉันไม่ทราบว่าประเทศต่างๆ จะใช้อาวุธอะไรรบกันในสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 4 มนุษย์จะ (เหลือเพียง) ท่อนไม้และก้อนหินเพื่อรบกัน”
ผู้เขียนจึงอยากจะเปรียบเทียบระเบิดแบบธรรมดาสามัญกับระเบิดนิวเคลียร์ว่ามีอำนาจการทำลายแตกต่างกันอย่างไร? ทำไมหากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นจะมีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์อย่างแน่นอน ซึ่งก็คงทำลายโลกแทบจะสิ้นเชิง และส่งมนุษย์ที่เหลือรอดตายจากสงครามกลับไปสู่ยุคหินอีกครั้ง
ระเบิดแบบธรรมดาสามัญที่รัสเซียสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2550 เรียกว่าระเบิดโคตรพ่อ (Father Of All Bombs-FOAB) มีน้ำหนัก 7.1 ตัน แต่มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิด ที.เอ็น.ที. ถึงสี่สิบสี่ตัน และนำมาใช้ครั้งแรกที่เมืองแดร์ เอซ-ซอร์ ในประเทศซีเรีย กำจัดกองกำลังไอเอสได้กว่า 40 ราย รวมไปถึงผู้บัญชาการระดับสูงสองคนของไอเอส เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2560 ซึ่งก่อนหน้านี้ใน พ.ศ.2546 สหรัฐอเมริกาสร้างระเบิดโคตรแม่ (Mother Of All Bombs-MOAB) มีน้ำหนัก 10.3 ตัน มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิด ที.เอ็น.ที. ถึงสิบเอ็ดตัน และนำมาใช้ครั้งแรกในการโจมตีอุโมงค์ของกลุ่มไอเอสตามเทือกเขาในเขตอาชิน จังหวัดนานกาฮาร์ ประเทศอัฟกานิสถาน คร่าชีวิตกองกำลังไอเอสได้ 94 คน เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2560
นำรายละเอียดของระเบิดโคตรพ่อ ระเบิดโคตรแม่มานำเสนอก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านที่เคารพลองนำไปเปรียบเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก (เป็นระเบิดปรมาณู) ที่สหรัฐอเมริกาใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2488 (เมื่อ 79 ปีมาแล้ว) ระเบิดปรมาณูลูกนี้มีน้ำหนัก 4.4 ตัน มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิด ที.เอ็น.ที. ตั้งสองหมื่นตัน (มากกว่าระเบิดโคตรพ่อหลายร้อยเท่านัก) ทำให้เมืองฮิโรชิมาราบไปหมดทั้งเมือง คร่าชีวิตมนุษย์ไปประมาณ 70,000 คนโดยทันที อันเป็นผลจากการระเบิดปรมาณูโดยตรง ในขณะที่ประชากรญี่ปุ่นอีกจำนวนมากต้องเสียชีวิตในภายหลังจากการทิ้งระเบิดเนื่องมาจากกัมมันตรังสีและมะเร็งในเม็ดเลือดขาว สำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์นั้นก็ต้องสูญเสียทารกในครรภ์ไป หรือมิฉะนั้นก็ให้กำเนิดทารกที่พิการ
อาวุธนิวเคลียร์ เป็นวัตถุระเบิดซึ่งมีอำนาจทำลายล้างมาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาฟิชชัน (ปฏิกิริยานิวเคลียร์จากการแตกตัวของนิวเคลียสธาตุหนัก เช่น ยูเรเนียม หรือพลูโตเนียม จนกลายเป็นอนุภาคที่มีมวลเบาลงและปลดปล่อยพลังงานออกมา หรือที่เรียกว่าปฏิกิริยาลูกโซ่ พลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมานี้เรียกว่าพลังงานนิวเคลียร์) และเป็นหลักการที่นำไปใช้ในการสร้างระเบิดปรมาณู (atomic bomb)
ส่วนอาวุธนิวเคลียร์อีกแบบหนึ่งจะเกิดจากปฏิกิริยาฟิชชันและฟิวชัน (ปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิวชัน เกิดจากการรวมตัวของนิวเคลียสธาตุเบา เช่น ไฮโดรเจน หรือฮีเลียม ซึ่งการรวมตัวสามารถทำให้เกิดพลังงานได้เช่นกัน และเป็นแบบเดียวกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลจากดวงอาทิตย์) รวมกันปฏิกิริยาทั้งสองปลดปล่อยพลังงานปริมาณมหาศาลจากสสารปริมาณค่อนข้างน้อย เรียกว่าระเบิดไฮโดรเจน (hydrogen bomb)
การทดสอบระเบิดไฮโดรเจนลูกแรกซึ่งหนัก 10.6 ตัน โดยสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2497 ที่เกาะปะการังบิกินี หมู่เกาะมาร์แชลล์ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิด ที.เอ็น.ที. สิบห้าล้านตัน (รุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาถึง 750 เท่า)
แต่ปัจจุบันนี้รัสเซียมีระเบิดไฮโดรเจนที่มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิด ที.เอ็น.ที. ถึงห้าสิบล้านตันแล้วนะครับ และทั้งระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจนไม่ได้ใช้เครื่องบินบรรทุกระเบิดไปทิ้งที่เป้าหมายเหมือนอย่างการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2488 แล้ว เนื่องจากมีขีปนาวุธชนิดต่างๆ ติดหัวระเบิดได้ทั้งระเบิดแบบธรรมดาสามัญและระเบิดนิวเคลียร์ กลายเป็นสงครามกดปุ่มไปแล้ว ถ้าเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นจริงๆ ก็น่าเชื่อว่าผลของสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็คงจะส่งมนุษยชาติกลับไปสู่ยุคหินตามที่ไอน์สไตน์ว่าไว้แน่นอน
บทความโดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 27 พ.ย.67
Link : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4919365