Excel เป็นโปรแกรมที่อยู่คู่ออฟฟิศทุกแห่ง ผู้ใช้งานหลายรายอาจคุ้นเคยกับการนำเอาไปใช้คำนวณ สร้างโมเดลธุรกิจ ทำบัญชี แต่ในโอกาสนี้กลับเป็นการใช้ Excel ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
จากรายงานโดยเว็บไซต์ The Hacker News ได้รายงานถึงการที่ทีมวิจัยจาก FortiGuard ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของ Fortinet บริษัทผู้พัฒนาโซลูชันด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในระดับองค์กร ได้ตรวจพบกลยุทธ์ในการแพร่กระจายมัลแวร์ประเภทเข้าควบคุมเครื่องของเหยื่อจากระยะไกล (Remote Access Trojan หรือ RAT) ที่มีชื่อว่า Remcos RAT โดยการแพร่กระจายของมัลแวร์ดังกล่าวนั้นจะเริ่มต้นจากการที่แฮ็กเกอร์ใช้วิธีการหลอกลวงเหยื่อในรูปแบบ Phishing ด้วยการส่งไฟล์ Excel ผ่านทางอีเมลที่เหยื่อใช้ในการสั่งซื้อ (ทางแหล่งข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นการสั่งซื้ออะไร ซึ่งอาจเป็นการสั่งซื้อของให้กับบริษัท ซื้อสินค้าส่วนตัว หรือซื้อบริการซอฟต์แวร์แบบเช่าใช้ก็ได้)
โดยหลังจากที่เหยื่อได้ทำการเปิดไฟล์ Excel ดังกล่าวแล้ว ภายในตัวไฟล์ที่แทรกสคริปท์ไว้ ก็จะใช้สคริปท์กับช่องโหว่ CVE-2017-0199 ซึ่งเป็นช่องโหว่สำหรับการรันโค้ดจากระยะไกล (Remote Code Execution หรือ RCE) เพื่อทำการดาวน์โหลดไฟล์ HTML Application (HTA) ที่มีชื่อว่า “cookienetbookinetcahce.hta” ลงมาจากเซิร์ฟเวอร์ “192.3.220[.]22” แล้วทำการรันไฟล์ดังกล่าวผ่านทาง mshta.exe ซึ่งภายในไฟล์ดังกล่าวนั้นจะมีหลากสคริปท์ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น JavaScript, Visual Basic Script, และ PowerShell Script เพื่อใช้ในการหลอกลวงระบบ (Obfuscation), หลบเลี่ยงการถูกตรวจจับ รวมทั้งป้องกันการถูกวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญผ่านทางการทำ Anti-Debugiing, และดาวน์โหลดไฟล์สำหรับการรันที่มีชื่อว่า dllhost.exe ลงมาในเวลาเดียวกัน
หลังจากที่ไฟล์สำหรับการรันดังกล่าวได้ลงมาสู่เครื่องของเหยื่อเป็นที่สำเร็จแล้ว ก็จะทำการดาวน์โหลด และรันไฟล์ PowerShell Script ตัวที่ 2 ที่ก็มีสคริปท์เพื่อหลบเลี่ยงการถูกตรวจจับโดยระบบป้องกันเช่นเดียวกัน เพื่อดาวน์โหลดไฟล์สำหรับการรันตัวที่ 3 ที่มีชื่อว่า “Vaccinerende.exe” ลงมา ซึ่งไฟล์ตัวนี้จะเป็นไฟล์สำหรับดาวน์โหลด และติดตั้งมัลแวร์ Remcos RAT ตัวจริง โดยหลังจากที่มัลแวร์ตัวจริงได้ทำการติดตั้งสู่เครื่องเป็นการสำเร็จ ก็จะทำการติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ควบคุม (C2 หรือ Command and Control) เพื่อส่งข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ที่ถูกเก็บมาหลังจากที่ติดตั้งเสร็จ เช่น ข้อมูลของระบบบนเครื่องของเหยื่อ อย่าง System Metadata เป็นต้น แล้วเปิดทางรอให้แฮ็กเกอร์ส่งคำสั่งลงมาจากทางเซิร์ฟเวอร์ C2
โดยคำสั่งต่าง ๆ ที่แฮ็กเกอร์สามารถสั่งให้เล่นงานเหยื่อได้ ก็มีตั้งแต่ การเก็บข้อมูลไฟล์ต่าง ๆ เพื่อส่งกลับมาให้แฮ็กเกอร์, การสั่งปิด Process ต่าง ๆ บนเครื่องของเหยื่อ, การจัดการปรับแต่งตั้งค่าระบบต่าง ๆ, การปรับแต่ง Windows Registry, การคัดลอกขโมยข้อมูลบน Clipboard, การเปิดกล้อง และไมโครโฟนเพื่อแอบบันทึกภาพและเสียง, การหยุดการทำงานของเมาส์ และคีย์บอร์ด, การแอบบันทึกหน้าจอ, การรันสคริปท์ และคำสั่งต่าง ๆ บนเครื่องของเหยื่อ, การปรับแต่งภาพหน้าจอ Wallpaper บนเครื่อง ไปจนถึงการแอบบันทึกหน้าจอของเหยื่อ เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นมัลแวร์ที่มีความสามารถในการควบคุมที่หลากหลาย และร้ายกาจมาก
นอกจากความสามารถในการทำงานที่หลากหลาย และการติดตั้งตนเองลงสู่ระบบที่ซับซ้อนแล้ว ทางทีมวิจัยยังระบุว่า เอกสารที่เป็นตัวล่อให้เหยื่อเปิดนั้น ทางแฮ็กเกอร์ยังได้มีการใช้ DocuSign API เพื่อสร้างเอกสารที่มีความน่าเชื่อถือ จนทำให้เครื่องมือป้องกันชื่อดัง เช่น จากของ Norton ไม่สามารถตรวจจับความผิดปกติของเอกสารได้อีกด้วย
ที่มา : thehackernews.com
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 พ.ย.67
Link : https://mgronline.com/around/detail/9670000111057