ศาลฮ่องกงเริ่มตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง 45 คน ที่รวมถึงโจชัว หว่อง และเบนนี ไท่ ในคดีความมั่นคงแห่งชาติ
ศาลฮ่องกงเริ่มตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงหลายคนในวันนี้ (19 พ.ย.) รวมถึงโจชัว หว่อง และเบนนี ไท่ ในคดีความมั่นคงแห่งชาติ โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เรียกว่า “ฮ่องกง 47” ซึ่งถูกตั้งข้อหาเมื่อ 3 ปีก่อนในคดีภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่บังคับใช้โดยจีน
โดยนายไท่ได้รับโทษจำคุก 10 ปี ขณะที่หว่องได้รับโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน เนื่องจากมีบทบาทในการวางแผนคัดเลือกผู้สมัครฝ่ายค้านในการเลือกตั้งท้องถิ่น
เจ้าหน้าที่กล่าวหาหญิง 8 คนและชาย 39 คน ว่าพยายามโค่นล้มรัฐบาลโดยจัดการเลือกตั้งขั้นต้นอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเลือกผู้สมัครฝ่ายค้านสำหรับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ โดยการเลือกตั้งขั้นต้นซึ่งจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2020 มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ฝ่ายค้านได้ฐานเสียงที่มากพอที่จะขัดขวางร่างกฎหมายของรัฐบาลที่สนับสนุนจีน โดยสามารถดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้มากกว่า 500,000 คน
การเลือกตั้งขั้นต้นนี้ถือเป็นวิธีหนึ่งในการสานต่อการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย หลังจากการประท้วงในปี 2019 ยุติลงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 การกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่เจ้าหน้าที่จีนและฮ่องกง โดยพวกเขาเตือนว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งขั้นต้น
ผู้จัดการเลือกตั้งโต้แย้งว่าการกระทำของพวกเขาได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายพื้นฐาน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับย่อที่ควบคุมฮ่องกงและรับรองเสรีภาพบางประการ แต่เมื่อการพิจารณาคดีสิ้นสุดลง ผู้พิพากษาเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของอัยการที่ว่าแผนดังกล่าวจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ หากผู้ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภา
จำเลยส่วนใหญ่ให้การรับสารภาพหรือถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานสมคบคิดเพื่อล้มล้างรัฐบาล จำเลย 2 คนได้รับการตัดสินให้พ้นผิดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้ต้องโทษ 45 คนในวันนี้
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มฮ่องกง 47 บางคนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น โจชัว หว่อง และเบนนี่ ไท่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2014 และยังรวมถึงสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านที่มีชื่อเสียง เช่น คลอเดีย โม, เฮเลน่า หว่อง, กว็อก กากี และเหลียง กัวหุ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อลองแฮร์
แต่หลายคน เช่น โอเวน โจว, เวนตัส เลา และทิฟฟานี หยวน เป็นตัวแทนของนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงออก นายหลิวและนายโจวเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงหลายร้อยคนที่บุกเข้าไปในสภานิติบัญญัติ และพ่นสีสเปรย์บนตราสัญลักษณ์ฮ่องกง ซึ่งกลายมาเป็นช่วงเวลาสำคัญของการประท้วงในปี 2019
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ได้รับการปลุกเร้าจากการประท้วงในปี 2019 เช่น เฮนดริก ลุย นักสังคมสงเคราะห์, ไมค์ แลม นักธุรกิจ และวินนี่ หยู อดีตพยาบาล
จำเลยส่วนใหญ่ถูกคุมขังตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อต้นปี 2564 เนื่องจากการกักขังก่อนพิจารณาคดีกลายเป็นเรื่องปกติภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ จำเลย 2 คนที่ถูกตัดสินให้พ้นผิด ได้แก่ ลอว์เรนซ์ เลา ทนายความและอดีตสมาชิกสภาเขต และลี เยว่ชุน อดีตสมาชิกสภาเขตเช่นกัน
นายไท่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดหลักของการเลือกตั้งขั้นต้นในปี 2020 ถูกจีนตราหน้าว่าเป็น “ผู้ก่อปัญหาหัวรุนแรง” เนื่องจากเขาสนับสนุนเอกราชของฮ่องกงและเรียกการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ว่าเป็น “เผด็จการ” เบนนี ไท่ เป็นนักวิชาการและอาจารย์ด้านกฎหมาย มีชื่อเสียงโด่งดังในปี 2014 เมื่อเขาได้ก่อตั้งขบวนการ Occupy Central ที่เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับอีกสองคน โดยขบวนการดังกล่าวถือเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งประวัติศาสตร์ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและเสรีในฮ่องกง และมีผู้ออกมาเดินขบวนบนท้องถนนหลายแสนคน
ในปี 2019 นายไท่ถูกตัดสินจำคุกจากบทบาทของเขาในการประท้วง Occupy Central หนึ่งปีต่อมา หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ เขาถูกไล่ออกจากงานประจำที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง เนื่องจากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา นายไท่กล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยยอมจำนนต่อแรงกดดันของจีน และเรียกสิ่งนี้ว่า “จุดจบของเสรีภาพทางวิชาการ” ของฮ่องกง
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 พ.ย.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2826320