กรมงานแนวร่วมของจีนเป็นหน่วยงานหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
หากว่ากันตามคำกล่าวของอดีตผู้ก่อตั้งอย่างเหมา เจ๋อตุง และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำคนปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมี “อาวุธวิเศษ”
อาวุธวิเศษที่ว่านี้คือ กรมงานแนวร่วม (United Front Work Department หรือ UFWD) และนี่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่กำลังสร้างความตื่นตระหนกในประเทศฝั่งตะวันตกไม่น้อยไปกว่าแสนยานุภาพทางการทหารที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ของปักกิ่ง
หยาง เติ้งป๋อ นักธุรกิจชื่อดังที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าชายแอนดรูว์ เป็นชาวจีนโพ้นทะเลรายล่าสุดที่ถูกจับตามองและถูกลงโทษ เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับกรมงานแนวร่วมแห่งนี้
แท้จริงแล้ว กรมงานแนวร่วมไม่ใช่องค์กรลับแต่อย่างใด กรมฯ นี้เป็นหน่วยงานในสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีมานานหลายทศวรรษ และมีหลักฐานบันทึกไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งเคยตกเป็นประเด็นถกเถียงมาก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่สืบสวนทั้งจากสหรัฐฯ หรือออสเตรเลีย ก็ได้อ้างถึง UFWD ในรายงานคดีจารกรรมหลายคดี โดยมักกล่าวหารัฐบาลจีนว่าใช้กรมฯ นี้เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาการจารกรรมทั้งหมด โดยระบุว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ
สรุปแล้วกรมงานแนวร่วม (UFWD) คืออะไรกันแน่ และมีบทบาทอย่างไร ?
“ควบคุมสารจากจีน”
เดิมทีกรมงานแนวร่วมหมายถึงพันธมิตรคอมมิวนิสต์ในวงกว้าง และเหมา เจ๋อตุง ก็เคยยกย่องว่ากรมฯ นี้เป็นกุญแจสำคัญสู่ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองจีนที่ยืดเยื้อหลายทศวรรษ
หลังสงครามยุติลงในปี 1949 และพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มปกครองประเทศจีน กิจกรรมของกรมงานแนวร่วมก็ลดความสำคัญลงเนื่องจากมีประเด็นสำคัญเร่งด่วนอื่น ๆ ที่รัฐบาลต้องดำเนินการก่อน ทว่าในทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง UFWD กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
UFWD ในยุคของสี จิ้นผิง ยังคงมีจุดมุ่งหมายสอดคล้องกับแนวทางเดิม คือต้องการ “สร้างพันธมิตรที่กว้างขวางที่สุดกับทุกกลุ่มสังคมที่เกี่ยวข้อง” มาเรอิเคอ ออลเบิร์ก นักวิชาการอาวุโสจากกองทุนเจอร์มัน มาร์แชลล์ (German Marshall Fund) กล่าว
หากมองเผิน ๆ กรมงานแนวร่วม ไม่ใช่องค์กรลึกลับแต่อย่างใด เนื่องจากมีเว็บไซต์ของตัวเองและรายงานกิจกรรมหลายอย่างบนแพลตฟอร์มดังกล่าว แต่ขอบเขตและการเข้าถึงของหน่วยงานนี้กลับไม่ชัดเจนนัก
แม้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศ แต่ ดร.ออลเบิร์กกล่าวว่า “เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้สำหรับงานแนวร่วมคือชาวจีนโพ้นทะเล”
ในปัจจุบัน UFWD พยายามจะขึ้นมามีอิทธิพลเหนือการถกเถียงในประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ ตั้งแต่ไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตน ไปจนถึงการปราบปรามชนกลุ่มน้อยในทิเบตและซินเจียง นอกจากนี้ยังพยายามกำหนดทิศทางการเล่าเรื่องเกี่ยวกับจีนในสื่อของต่างประเทศ โจมตีผู้วิจารณ์รัฐบาลจีนในต่างแดน และยังพยายามดึงชาวจีนโพ้นทะเลที่เป็นบุคคลสำคัญให้มาอยู่ในวงอิทธิพล
“งานแนวร่วมอาจรวมถึงการจารกรรม แต่มีขอบเขตกว้างกว่าการจารกรรม” ออเดรีย วอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียกล่าวกับบีบีซี
“นอกจากการได้มาซึ่งข้อมูลลับจากรัฐบาลต่างประเทศ กิจกรรมของงานแนวร่วมยังมุ่งเน้นไปที่การระดมพลชาวจีนโพ้นทะเลในวงกว้าง” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่าจีน “โดดเด่นในด้านขนาดและขอบเขต” ของกิจกรรมการสร้างอิทธิพลเหล่านี้
สี จิ้นผิง ได้ผลักดันให้จีนมีท่าทีที่เข้มแข็งในต่างประเทศ
จีนทะเยอทะยานที่จะมีอิทธิพลในลักษณะนี้มาตลอด ทว่าการเติบโตของประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาช่วยให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากอิทธิพลเหล่านี้ที่ถูกหว่านเอาไว้
นับตั้งแต่สี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2012 เขาได้แสดงความกระตือรือร้นเป็นพิเศษในทำให้โลกรู้ถึงสารที่จีนต้องการจะสื่อออกไป เขาส่งเสริมแนวทางการทูตแบบ “นักรบหมาป่า” ที่เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม และกระตุ้นให้ชาวจีนในต่างประเทศ “เล่าเรื่องราวของจีนให้ดี”
กรมงานแนวร่วม (UFWD) ดำเนินงานผ่านองค์กรชุมชนชาวจีนในต่างประเทศหลากหลายแห่ง ซึ่งคแยปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเข้มแข็ง พวกเขาได้เซ็นเซอร์งานศิลปะที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประท้วงต่อกิจกรรมของผู้นำทางจิตวิญญาณทิเบต ดาไล ลามะ นอกจากนี้ UFWD ยังถูกเชื่อมโยงกับการขู่เข็ญสมาชิกของชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ในต่างประเทศ เช่น ชาวทิเบตและอุยกูร์
อย่างไรก็ตาม งานส่วนใหญ่ของ UFWD มักทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ ของพรรค โดยผู้สังเกตการณ์ให้คำจำกัดความการทำงานของ UFWD ว่าเป็น “ความสามารถในการปฏิเสธเท่าที่เป็นไปได้”
ความขมุกขมัวไม่ชัดเจนนี้เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสงสัยและความกังวลมากมายเกี่ยวกับ UFWD
ตอนที่นายหยางยื่นอุทธรณ์ต่อการถูกรัฐบาลสหราชอาณาจักรแบนท่ามกลางข้อกล่าวหา การจารกรรม ศาลตรวจคนเข้าเมืองได้ตัดสินว่าเขาได้พยายามกลบเกลื่อนความสัมพันธ์ของเขากับ UFWD ลง โดยเจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรอ้างว่าเขาใช้ความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในอังกฤษเพื่อการแทรกแซงของรัฐจีน
อย่างไรก็ตาม หยางยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ทำสิ่งใดที่ผิดกฎหมายและข้อกล่าวหาการจารกรรมเป็น “เรื่องที่ไม่เป็นความจริงทั้งหมด”
ภาพถ่ายของ หยาง เติ้งป๋อ กับเจ้าชายแอนดรูว์
กรณีแบบนายหยางที่ถูกกล่าวหาเรื่องการจารกรรมพบเห็นได้บ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2022 ทนายความชาวจีน-อังกฤษที่มีชื่อว่า คริสตีน ลี ถูกกล่าวหาจาก MI5 ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับภายในประเทศของอังกฤษ ว่าเธอได้ดำเนินการผ่าน UFWD เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลมีอิทธิพลในสหราชอาณาจักร
ปีถัดมา เหลียง หลี่ถัง ชาวอเมริกันที่เปิดร้านอาหารจีนในบอสตัน ถูกฟ้องร้องว่ามีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้คัดค้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนในพื้นที่แก่ผู้ติดต่อของเขาใน UFWD
และในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ลินดา ซัน อดีตผู้ช่วยในสำนักงานผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ถูกตั้งข้อหาว่าใช้ตำแหน่งของเธอเพื่อให้บริการผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน โดยเธอได้รับสิทธิประโยชน์ รวมถึงการเดินทางเป็นการตอบแทน ตามรายงานจากสื่อของรัฐจีน เธอได้พบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UFWD ในปี 2017 ซึ่งบอกเธอว่าให้ “เป็นทูตแห่งมิตรภาพจีน-อเมริกา”