จีนเตือนมิจฉาชีพ ใช้ ‘Squid Game’ สร้างชาเลนจ์ลวงเงินค่าสมัครหลักหมื่น เพื่อชิงรางวัลก้อนโตสูงสุด 4.6 ล้านบาทและช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งเงื่อนไขเข้มงวด หลอกคนในยุคเศรษฐกิจซบเซา
ขณะที่ซีรีย์ดังเรื่อง Squid Game 2 กำลังเป็นไวรัลไปทั่วโลก สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน มิจฉาชีพจีน นำ Squid Game มาใช้ในการหลอกลวงผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินในภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านการโฆษณาบน Douyin แอปพลิเคชัน TikTok ของจีน โดยต้องจ่ายเงินราว 25,274 บาท เข้าร่วมชาเลนจ์ที่มีเงื่อนไขเข้มงวด เพื่อชิงเงินรางวัลสูงสุด 4.6 ล้านบาท และการช่วยปรับโครงสร้างหนี้
หน่วยงานรัฐบาลจีนออกมาเตือนประชาชนให้ระวังการหลอกลวง หลังจากศาลพบว่าผู้ที่เข้าร่วมเกม Squid Game ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ผู้เข้าร่วมต้องกักตัวอยู่ในห้องเป็นเวลานานเพื่อลุ้นเงินรางวัลก้อนโตนั้น ถูกหลอกลวงให้เสียเงินจำนวนมาก โดยไม่ได้รับเงินรางวัลตามที่สัญญาไว้
เล่นลวงเงิน
กฎระเบียบของเกมมีมากมาย เช่น ห้ามเข้าห้องน้ำเกิน 15 นาที และห้ามแตะนาฬิกาปลุกเกินสองครั้งต่อวัน ผู้เข้าร่วมหลายคนรู้สึกถูกหลอกลวงเมื่อพวกเขาไม่สามารถผ่านวันแรกได้ เนื่องจากการละเมิดกฎที่ถูกจับได้จากกล้องวงจรปิด ซึ่งพวกเขาไม่เห็นด้วย
ในเดือนตุลาคม ศาลในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนมีคำสั่งให้ผู้จัดการแข่งขันคืนค่าสมัคร 5,400 หยวน หรือประมาณ 25,274 บาท ให้กับ “ซุน” หนึ่งในผู้เข้าร่วม โดยระบุว่าสัญญาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและขัดต่อกฎหมาย
ซุนพยายามชิงเงินรางวัล 250,000 หยวน หรือประมาณ 1.1 ล้านบาท ซึ่งมีเงินรางวัลสูงสุดถึง 1 ล้านหยวน หรือราว 4.6 ล้านบาท โดยการเอาชีวิตรอดในการท้าทายการกักตัวเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งมีกฎห้ามสูบบุหรี่ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามติดต่อกับบุคคลภายนอกห้อง
ผู้จัดการแข่งขันระบุว่า ในวันที่ 3 ของแข่งขัน ผู้จัดการแข่งขันกล่าวว่า ซุนได้ปิดบังใบหน้าของเขาด้วยหมอน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎที่ห้ามผู้เข้าร่วมปิดบังใบหน้า
เตือนระวัง ‘มิจฉาชีพ’
สำนักงานกำกับดูแลการเงินแห่งชาติ (NFRA) ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระวัง “ตัวกลางจัดการหนี้” ผู้ที่อ้างว่าจะช่วยเหลือประชาชนในการปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับปรุงเครดิต
NFRA เตือนว่าการโฆษณาบริการช่วยเหลือในการขอสินเชื่อใหม่หรือจัดหาเงินทุนชั่วคราวได้ ผ่านโทรศัพท์ ข้อความ SMS ใบปลิว และโฆษณาบนโซเชียลมีเดียนั้นมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงมาก ซึ่งสูงถึง 12% ของเงินกู้ รวมทั้งบริการปรับปรุงประวัติเครดิต ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมอาจรั่วไหลหรือถูกนำไปขายต่อ
อ้างอิง Reuter
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : thestandard / วันที่เผยแพร่ 27 ธ.ค.67
Link : https://thestandard.co/harvard-study-why-people-quit-jobs/