“6 หมื่นกว่าล้านบาท” เป็น “มูลค่าความเสียหาย” ที่เกิดขึ้นกับ “คดีหลอกลวงทางออนไลน์” ในช่วงตั้งแต่ เดือน มี.ค. 2566 ถึงเดือน มิ.ย. 2567 หรือเฉลี่ยมูลค่าที่เหยื่อสูญไป เฉลี่ยอยู่ที่วันละกว่า 80 ล้านบาท!!!……
ตัวเลขน่าตกใจเกี่ยวกับ “เหยื่อภัยไซเบอร์” ดังกล่าว รวบรวมจากจำนวนสถิติการรับแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ www.thaipoliceonline.com และสายด่วน 1441 ซึ่งพบว่า…ในช่วงเวลาดังกล่าว จากจำนวนการรับแจ้งผ่านทางระบบนี้ จำนวนทั้งสิ้น 575,507 เรื่องนั้น…
“กว่า 77%”เป็น “เหยื่อภัยออนไลน์”
ตัวเลขนี้ “สะท้อนปัญหาภัยไซเบอร์”
ที่…“นับวันยิ่งกล้าแกร่งสำแดงเดช!!”
รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์
แล้ว “ใครเสี่ยงเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ที่สุด?” ในยุค “ภัยออนไลน์ดุ”… กับปุจฉานี้ก็พอจะมีคำตอบ ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่จะช่วยให้เห็นภาพเรื่องนี้ชัดขึ้น เป็นข้อมูลจากบทวิเคราะห์โดย รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ รองผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ฉายภาพไว้ ซึ่ง รศ.ดร.จงจิตต์ ระบุไว้ว่า… จากตัวเลขสถิติ “เหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์” ที่พบสูงเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่จำนวนกรณี และมูลค่าความเสียหาย สะท้อนว่า… สังคมไทยกำลังเผชิญอาชญากรรมทางเทคโนโลยีรุนแรงที่สุด!!จากการที่ภัยนี้มีรูปแบบหลากหลาย-มีวิธีการซับซ้อนมากขึ้น…
ยิ่งยุคนี้“เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก้าวล้ำ”
ก็ทำให้“ยิ่งสะดวกกับมิจฉาชีพด้วย!!”
ทางนักวิชาการท่านเดิมยังสะท้อน “วิธีหลอกลวงเหยื่อผ่านระบบออนไลน์ประเภทต่าง ๆ” ไว้ว่า… แม้จะมีหลากหลายรูปแบบ แต่ก็พบว่า… “วิธีที่ฮิตที่สุด” ที่มิจฉาชีพมักจะเลือกใช้ ก็ยังเป็น “วิธีเบสิค” อย่างเช่น… “การส่งข้อความหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นผู้โชคดี” เพื่อให้แอดไลน์ หรือเพื่อล่อหลอกให้เหยื่อยอมส่งข้อมูลส่วนบุคคลให้ ซึ่งเมื่อได้แล้วมิจฉาชีพก็จะนำข้อมูลไปใช้ดำเนินการในทางที่ผิด แล้วก่อให้เกิดความเสียหายกับเหยื่อ และที่ยังอมตะไม่แพ้วิธีการแรก นั่นก็คือ… “การหลอกให้รักแล้วลงทุน” หรือ Romance scammer และ “การหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน”
รวมไปถึง “การวิดีโอคอลข่มขู่เหยื่อ”
เพื่อ “ให้เหยื่อหวาดกลัว–ยอมทำตาม”
ทั้งนี้ กับคำถามที่ว่า แล้วประชากรกลุ่มใดที่มีความเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์มากที่สุด? กับเรื่องนี้ก็มีสถิติข้อมูลน่าสนใจจาก รายงานการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2565 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่า… ประชากรไทยเกือบทั้งหมดมีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ โดยบ่งชี้ได้จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีประมาณ 59 ล้านคน และกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน 62.9 ล้านคน ที่ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและนอกเขตเมืองมีสัดส่วนการใช้งานไม่แตกต่างกันมากนัก โดยอีกหนึ่ง “ปัจจัยสำคัญ” ที่ก็อาจกระตุ้นให้มี “จำนวนเหยื่อไซเบอร์เพิ่มขึ้น” นั้น ก็อาจบ่งชี้ได้จาก…
“จำนวนชั่วโมงการใช้งาน” อินเทอร์เน็ต
ที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ “7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน”
จากจำนวนผู้ใช้งาน และจากจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยในการใช้งานอินเทอรเน็ตดังกล่าว นี่ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นสำคัญ…จนทำให้เกิดเหยื่อของภัยไซเบอร์มากขึ้น โดยที่ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็พบตัวเลขน่าสนใจว่า… ประชากรไทยกว่า 13% เคยมีปัญหาถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ในบรรดาเหยื่อภัยไซเบอร์ “เหยื่อคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” นั้น พบว่า… มีเหยื่อที่เป็น “กลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในวัยทำงาน” คิดเป็น 64% ซึ่งนี่ก็อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ประชากรกลุ่มนี้ นิยมซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ กันมาก
ขณะที่ “เหยื่อคดีถูกมิจฉาชีพหลอกลวง” นั้น ก็ยังพบว่า… กลุ่มที่ก็เสี่ยงตกเป็นเหยื่อมากคือ “กลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณ” โดยประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีเงินเก็บ เช่น เงินบำนาญ กองทุน เบี้ยผู้สูงอายุ อีกทั้งการที่ต้องอยู่ลำพังคนเดียวช่วงกลางวันในเวลาที่ลูกหลานไปทำงาน และมีการ ติดโทรศัพท์มือถือกับโซเชียล นี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เสี่ยงตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไซเบอร์ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวัยอื่นแล้ว ผู้สูงอายุมักขาดทักษะทางดิจิทัลเช่น ขาดความรู้ทางเทคนิคในการใช้โซเชียล รวมถึงจากการที่ มิจฉาชีพเข้าถึงฐานข้อมูลประชากรกลุ่มนี้ได้ง่าย กว่ากลุ่มอื่น ๆ
และ อีกกลุ่มที่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ได้แก่ “กลุ่มเด็กและเยาวชน” ซึ่งที่พบคือประชากรกลุ่มนี้มักตกเป็น “เหยื่อคดีทางเพศออนไลน์” จากการที่ถูกมิจฉาชีพหรือคนไม่ดีเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการที่เด็กและเยาวชนต้องการเงินหรือต้องการหารายได้เสริมเพื่อนำไปใช้จ่ายของตัวเอง จนอาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ได้ง่าย ๆ เช่นกัน ซึ่งวิธีหลอกเหยื่อกลุ่มนี้ก็มักเป็นการ “หลอกให้เงิน–เชิญเป็นดารา–ชวนแก้ผ้าเปิดกล้อง” …ทั้งนี้ ต่าง ๆ เหล่านี้ฉายภาพ “ภัยไซเบอร์กับคนไทย” ผ่านบทความบทวิเคราะห์ของ รศ.ดร.จงจิตต์ รอง ผอ.ฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ที่ก็ตอบปุจฉา…
“ใครเสี่ยงสุด??” ใน “ยุคภัยไซเบอร์ดุ”
แต่กับ “ผู้ชายที่อยู่ในวัยทำงาน” นั้น…
ก็ “มิใช่ว่าจะไม่เสี่ยงเป็นเหยื่อนะ!!”
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์
——————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 17 ธ.ค.67
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4192813/