อุปกรณ์อินเทอร์เน็ตดาวเทียมสตาร์ลิงค์ (แฟ้มภาพ/AFP)
การตรวจยึดอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตดาวเทียมสตาร์ลิงค์ของไทยเพื่อควบคุมอาชญากรรมไซเบอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อพลเรือนในเมียนมา ที่ต้องการอุปกรณ์เดียวกันเพื่อสื่อสารและรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมท่ามกลางภาวะสงครามกลางเมือง
เสียงปืนและระเบิดในการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองทัพกะเหรี่ยง หรือ KNLA ที่อยู่ไม่ไกลออกไป ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมสัญญานอินเทอร์เน็ตสตาร์ลิงก์ขนาดจิ๋ว ที่เพียงต้องการพื้นที่โล่งและเวลาเพียงเล็กน้อยก็สามารถเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ทันที
ท่ามกลางการเข่นฆ่า อุปกรณ์นี้กำลังทำในสิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อกลุ่ม Free Burma Rangers ที่ทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา พยายามใช้อุปกรณ์สตาร์ลิงค์ทำภารกิจในพื้นที่ปาปูน (Papun) เขตสู้รบไม่ไกลจากชายแดนไทย เมื่อเดือนเมษายน ปี 2024
ในวันนั้น ทีมงานใช้อินเทอร์เน็ตสื่อสารกับแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาด้านการรักษาพยาบาล และช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ
เดวิด ยูแบงค์ ผู้ก่อตั้ง FBR กล่าวกับวีโอเอไทยว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มแรก ๆ ที่นำสตาร์ลิงค์เข้าไปใช้ในภารกิจมนุษยธรรมในเมียนมา ทั้งการติดต่อสื่อสารในหน้างาน ไปจนถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกไปยังโลกภายนอก
ด้วยราคาที่ถูกและประสิทธิภาพที่ดี ทำให้อินเทอร์เน็ตดาวเทียมนี้ได้รับความนิยม
“สตาร์ลิงค์มีประโยชน์มหาศาล ผมคิดว่าอย่างแรกเลย มันช่วยให้ชุมชนสามารถเชื่อมต่อซึ่งกันและกันได้เพื่อแบ่งปันข้อมูล เพื่อกระจายคำเตือนล่วงหน้า เช่น ทหารพม่ากำลังมา…คนก็ตั้งสตาร์ลิงค์และกระจายข่าวให้ทุกคน ประชาชนที่ได้รับคำเตือนก็สามารถหนีได้ทัน” ยูแบงค์กล่าว
สตาร์ลิงค์ (Starlink) เป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของบริษัท SpaceX ที่มหาเศรษฐีอิลอน มัสก์ เป็นเจ้าของ ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านสัญญาณจากดาวเทียมมากกว่า 6,000 ดวง ปัจจุบันให้บริการอย่างเป็นทางการในพื้นที่มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือยูเครน ที่ใช้อินเทอร์เน็ตดาวเทียมเป็นเครื่องมือสื่อสาร และสั่งการโจมตีด้วยโดรนเพื่อต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย
กระนั้น ในทางปฏิบัติ สตาร์ลิงค์สามารถใช้งานได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ด้วยการเปิดใช้บริการในประเทศที่ได้รับอนุญาต จากนั้นก็ลำเลียงอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นแล้วในเมียนมา
เชื่อมต่อไร้สาย ทดแทนปัญหาขาดแคลนอินเทอร์เน็ต
ประชาชนในเมียนมาหันมาใช้งานสตาร์ลิงค์อย่างแพร่หลาย หลังสงครามกลางเมืองและการสอดส่องจากรัฐบาลทหารทำให้เข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศได้ยากขึ้น
ข้อมูลจากองค์กรไม่แสวงผลกำไร อะธาน เมียนมา (Athan) ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มีพื้นที่เมือง 40 แห่ง ถูกตัดการให้บริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ขณะที่ข้อมูลจากองค์กร Myanmar Internet Program รายงานว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2021 มีการตัดอินเทอร์เน็ตไปแล้วมากกว่า 300 ครั้งทั่วประเทศ
ธู อ่อง ลิน นักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายจากนครย่างกุ้ง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการของกลุ่มแพทย์อาสา Spring Health ในรัฐคะเรนนี เล่าว่า สตาร์ลิงค์เป็นเครื่องมือสื่อสารเดียวในรัฐตอนนี้ และการติดต่อเพื่อส่งคนไข้ไปยังจุดที่แพทย์มีความเชี่ยวชาญ หรือสอบถามคำแนะนำจากผู้รู้ มีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิตคน
โค โค ซอ บรรณาธิการใหญ่ของสำนักข่าวธาน ลวิน ไทม์ ในเมียนมา บอกกับวีโอเอไทยว่า สตาร์ลิงค์ถูกใช้ในพื้นที่ชายขอบของประเทศ และมีสื่อมวลชนพลัดถิ่นราว 20 สำนัก ใช้สตาร์ลิงค์เพื่อรายงานข่าว
บ.ก. ใหญ่ของธาน ลวิน ไทม์เพิ่มเติมว่า สตาร์ลิงค์เข้าไปในประเทศผ่านเครือข่ายชาวเมียนมาในต่างแดน ที่ส่งมาไทยก่อนจะกระจายต่อไปตามชายแดน
การลักลอบส่งของในลักษณะนี้ ไม่ใช่ความลับในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีการจับกุมและตรวจยึดอุปกรณ์สตาร์ลิงค์ในไทยได้เกือบ 200 ชุด โดยการสอบสวนพบว่าจำนวนมากอาจมีผู้รับเป็นกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเมียนมา กัมพูชา และลาว และมีชาวจีนเกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา ไทยพยายามปราบปรามและกวดขันการเดินสายอินเทอร์เน็ตไปให้แก๊งเหล่านี้จากฝั่งไทย ทำให้สตาร์ลิงค์เป็นที่ต้องการของอาชญากรมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสามารถใช้งานได้แบบไร้สาย และติดตามร่องรอยข้อมูลได้ยากกว่าผู้ให้บริการในพื้นที่
ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมและยึดอุปกรณ์สตาร์ลิงค์ได้ราว 58 เครื่อง ตามการรายงานของสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางที่ทำภารกิจปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ และในอีกสามเดือนต่อมาก็ยึดเพิ่มได้อีก 86 เครื่อง สะท้อนถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในทางจำนวน
สภาบริหารรักษาการแห่งรัฐคะเรนนี (IEC) รัฐบาลชั่วคราวของรัฐคะเรนนี ที่มีพรมแดนติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ในจำนวนที่มีการจับกุมในครึ่งปีแรก มีสามเครื่องที่เป็นขององค์กรมนุษยธรรมในพื้นที่
ซู พะโดนมาร์ เลขานุการเอก IEC ระบุว่าสตาร์ลิงค์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับงานมนุษยธรรมและการสื่อสารทั่วไปภายในรัฐ
“ปัจจุบันเรามีทรัพยากรบุคคลที่จำกัดมาก ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการศึกษา…นั่นทำให้เราต้องหาคนจากประเทศอื่น หรือหาครูใหม่ ๆ ในไทยหรือในประเทศอื่น แบบนั้นแหละที่เราใช้สตาร์ลิงค์เพื่อสื่อสารกันและเรียนกันแบบออนไลน์” เลขานุการเอก IEC กล่าว
สตาร์ลิงค์ที่รัฐคะเรนนีใช้งานกันอยู่ ได้มาจากการบริจาค โดย IEC เป็นผู้ชำระค่าบริการรายเดือน ที่รวมแล้วตกอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 10,000 บาท อ้างอิงจากคู พลู เร เลขาธิการใหญ่ IEC ที่เล่าด้วยว่าสตาร์ลิงค์ใช้งานได้ดีในภาพรวม แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้างเป็นบางกรณี
วีโอเอไทยติดต่อสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ร่วมปฏิบัติการตรวจยึดจับกุมสตาร์ลิงค์เพื่อสอบถามถึงการจับกุม และผลกระทบที่มีต่อการใช้งานของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
ไร้ตัวแทนธุรกิจ ขาดเครื่องมือแก้ปัญหา
ปัจจุบัน การใช้สตาร์ลิงค์ในไทยยังอยู่ในขั้นทดลองภายใต้โครงการในรั้วอุดมศึกษา ส่วนในเมียนมา กฎหมายโทรคมนาคมยังไม่อนุญาตให้ใช้อินเทอร์เน็ตในลักษณะนี้
ที่มา : วีโอเอไทย / วันที่เผยแพร่ 24 ธ.ค.67
Link : https://www.voathai.com/a/thai-curb-on-starlink-smuggling-hurts-both-scams-and-do-gooders/7908018.html