ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองระหว่างประเทศและด้านการทหารที่ร้อนแรงไปทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นการแทรกซึมของทหารสหรัฐฯ ไปประจำการที่ชาติพันธมิตร และตะวันออกการ การทำสงครามระหว่างชายแดนอย่างอิสราเอล ยูเครน รัสเซีย หรือแม้แต่ในแถบเอเชียอย่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้
กองทัพแต่ละประเทศจึงต้องมี “หน่วยรบพิเศษ” ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับปฏิบัติการโหดหิน ทั้งลาดตระเวนพิเศษ ทำสงครามนอกแบบ ต่อต้านการก่อการร้าย แฝงตัวเก็บข้อมูลข่าวกรองจากในพื้นที่ของศัตรู ซึ่งจะต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วได้ “ทุกที่ ทุกเวลา”
Spotlight จึงอยากชวนมาทำความรู้จัก “หน่วยรบพิเศษ” ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีกองทัพสุดแข็งแกร่งระดับโลก รวมถึงประเทศที่ถูกจับตามองด้านการทหารเป็นพิเศษ จะมีประเทศใดบ้าง หน่วยรบพิเศษของพวกเขาชื่ออะไร และฝึกโหดอย่างไรบ้าง
The Navy SEALs หรือ หน่วยซีลสหรัฐฯ
กองกำลังทหารที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกแน่นอนว่าเป็นของสหรัฐฯ แต่ในบรรดาหน่วยรบที่ถูกพูดถึงมากที่สุดต้องยกให้ The Navy SEALs หรือ “หน่วยซีลสหรัฐฯ” หน่วยรบพิเศษภายใต้ศูนย์บัญชาการสงครามพิเศษแห่งกองทัพเรือ ที่ได้ชื่อว่า SEAL นั้น มาจากการที่ทหารพิเศษจะต้องพร้อมปฏิบัติการทั้ง 3 ฝั่ง คือ ในน้ำ (SEA) บนฟ้า (AIR) และบนฝั่ง (LAND) เรียกได้ว่าเป็นหน่วยรบทีต้องทำงานแบบ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” เลยทีเดียว
การฝึกของหน่วยซีลนั้นขึ้นชื่อในเรื่องความโหด หนึ่งในการฝึกอันเป็นที่โจษจันนั้น คือ “Hell Week” หรือสัปดาห์นรก ซึ่งกินเวลา 5 วันครึ่ง แต่โปรแกรมการฝึกถูกออกแบบมาเพื่อผลักดันผู้สมัครให้สามารถทะลุขีดจำกัดทางด้านร่างกายและจิตใจ พวกเขาจะได้นอนหลับไม่เกิน 4 ชั่วโมง เป็นการทำให้ร่างกายพักผ่อนน้อยและอยู่ในจุดเหนื่อยล้า ต้องดำน้ำ ว่ายน้ำ พายเรือเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในแต่ละปี จะมีทหารที่ผ่านสัปดาห์นรกไปได้เพียง 25% เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการฝึกแบบอื่น ๆ อีกไม่ต่ำกว่า 7 เฟสเลยทีเดียว
Spetsnaz GRU หน่วยรบพิเศษจากรัสเซีย
Spetsnaz หรือ สเปซนาซ เป็นหน่วยรบพิเศษทั้งหมดของรัสเซีย พลทหารของหน่วยรบนี้คือทหารชั้นหนึ่งของประเทศ ซึ่งหน่วยที่เรียกได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดของรัสเซีย คือ Spetnaz GRU: กองบัญชาการข่าวกรองกองทัพแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย นับเป็นกองกำลังแรกในสหภาพโซเวียต ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1949 กองกำลังนี้ได้รับการออกแบบในบริบทของสงครามเย็นเพื่อทำการลาดตระเวนและก่อวินาศกรรมก่อกวนและโจมตีศัตรู
กระทรวงกลาโหมรัสเซียยกย่องทหารในหน่วยรบพิเศษนี้ว่าพวกเขาได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีที่สุด ทหารหน่วยนี้สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หนึ่งภาษาหรือมากกว่านั้นอย่างคล่องแคล่วและยังมีรายงานลับ ๆ ว่าภารกิจหลักของพวกเขามีไว้เพื่อลอบสังหารผู้นำฝ่ายศัตรูโดยเฉพาะ
สำหรับการฝึกนั้น พลทหารทุกนายจะต้องเรียนรู้การใช้อาวุธทุกประเภท การโรยตัวอย่างรวดเร็วการฝึกใช้วัตถุระเบิด การยิงปืนการต่อต้านการก่อการร้าย การฝึกทางอากาศไปจนถึงการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ฝึกทักษะต่าง ๆ ทั้งปีนเขา ดำน้ำ การต่อสู้ใต้น้ำ ตลอดจนฝึกการแพทย์ฉุกเฉินด้วย
PLA SOF: กองกำลังปฏิบัติการพิเศษของจีน
PLA SOF ย่อมาจาก People’s Liberation Army Special Operations Forces หรือ กองกำลังปฏิบัติการพิเศษ ภายใต้กองทัพปลดแอกประชาชน หน้าที่หลักของสุดยอดหน่วยรบจีนครอบคลุมตั้งแต่การลาดตระเวนในพื้นที่ศัตรูเพื่อรวบรวมข้อมูลในงานข่าวกรอง การวางแผนเตรียมการโจมตีศัตรู การต่อต้านการก่อการร้าย การแทรกซึมโดยเรือและเฮลิคอปเตอร์ ไปจนถึงภารกิจขัดขวางการโจมตีของศัตรู
อย่างไรก็ตาม กองกำลังพิเศษของจีนเน้นภารกิจในประเทศเป็นหลัก เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย การควบคุมชายแดน และความไม่สงบในสังคม โดยปฏิบัติการในหน่วยที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีโอกาสน้อยที่จะส่งไปประจำการนอกประเทศจีน
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนจะค่อนข้างเก็บความลับทางทหารและหลีกเลี่ยงการเปิดเผยด้านการฝึกฝนต่อนานาชาติ มีการวิเคราะห์ว่า ความโดดเด่นของหน่วยรบพิเศษนี้ อยู่ที่การฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมและการต่อสู้ด้วยมือเปล่า รวมถึงการฝึกจิตด้วย ทั้งนี้ หน่วยรบพิเศษของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนถือเป็นหน่วยรบพิเศษที่มีชื่อเสียงที่สุดในจีน โดยประมาณการว่ามีสุดยอดทหารชั้นดีอยู่ในหน่วยราว 7,000 นาย
MARCOS กองกำลังคอมมานโดนาวิกโยธินอินเดีย
MARCOS ย่อมาจาก The Marine Commando Force หรือ “กองกำลังคอมมานโดนาวิกโยธิน” จากประเทศอินเดีย ซึ่งหน่วยนี้จะเป็นเอกเทศออกมาจากกองทัพทหารอินเดีย เชื่อกันว่า กองกำลัง MARCOS สามารถปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมทุกประเภท ทั้งในทะเล บนอากาศ และบนบก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนจัมมูและแคชเมียร์ เนื่องด้วยความขัดแย้งที่รุนแรงกับเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน
สำหรับการฝึกฝนนั้น จุดแข็งของหน่วยรบพิเศษอินเดียหน่วยคืออยู่ที่ความร่วมมือและวิทยาการที่ได้จากกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพของสหราชอาณาจักร ซึ่งพลทหารมีการร่วมซ้อมรบและฝึกฝนกับกองทัพมหาอำนาจอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาจะได้เรียนรู้จากปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก การปฏิบัติการเฝ้าระวังพิเศษและลาดตระเวน การปฏิบัติการลับ ๆ ภายในดินแดนศัตรู รวมทั้งการปฏิบัติการกระโดดร่ม และการโจมตีพิเศษ ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย
กองภารกิจพิเศษที่ 707 แห่งเกาหลีใต้
The 707th Special Mission Group หรือ กองภารกิจพิเศษที่ 707 แห่งเกาหลีใต้ อยู่ภายใต้หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษกองทัพสาธารณรัฐเกาหลี (ROK-SWC) ก่อตั้งขึ้นในปี 1981 ตามคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกโดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายในและต่างประเทศ
ภารกิจหลักของกองพลพิเศษของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่การรบแบบกองโจร การลาดตระเวนพิเศษ การรบนอกแบบ การปฏิบัติการโดยตรง การรวบรวมข้อมูลในดินแดนของศัตรู และการปฏิบัติภารกิจพิเศษ
กองกำลังพิเศษของเกาหลีใต้ถือเป็นกองกำลังชั้นยอดที่มีชื่อเสียงด้านการฝึกฝนเพื่อความคล่องตัว ซึ่งได้รับการยกระดับอย่างต่อเนื่องผ่านการฝึกฝนอันเข้มงวด เทคโนโลยีขั้นสูง และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยพลทหารทุกคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมพิเศษเป็นเวลา 1 ปีเต็ม โดยเป็นทักษะการรบขั้นพื้นฐานของทหารราบ 6 เดือน และการฝึกสงครามพิเศษอีก 6 เดือน
SAS: หน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศแห่งสหราชอาณาจักร
Special Air Service (SAS) หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ ของสหราชอาณาจักร ถูกมองว่าเป็นหน่วยปฏิบัติการลับที่แทรกซึมอยู่ทั่วทุกมุมโลก พลทหารในหน่วยนี้ ปฏิบัติหน้าที่หลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นการลาดตระเวนลับ การต่อต้านการก่อการร้าย การช่วยเหลือตัวประกัน สืบข้อมูลความลับจากหลาย ๆ ประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบของหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจโลกอื่น ๆ ด้วย
หน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ SAS ขึ้นชื่อเรื่องกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครที่มีความเสี่ยงตายและท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความทรมานทางจิตใจและร่างกายที่โหดร้ายที่สุดในโลก และมีอัตราการลาออกจากกองทหารสูงที่สุดในบรรดากองทหารทั้งหมด
เริ่มต้นจาก การประเมินทางกายภาพอย่างเข้มงวดซึ่งจะทดสอบขีดจำกัดสูงสุดของความสามารถทางกีฬา หลังจากนั้นผู้สมัครจะต้องเดินขึ้นเขา 23 กม. พร้อมผู้นำทาง โดยจะมีการจับเวลาให้ถึงเส้นชัยและทะยอยเพิ่มน้ำหนักที่แบกอยู่บนหลัง เมื่อผ่านด่านการเดินเขามาได้ ก็จะได้เข้าสู่โรงเรียนทหารอากาศ ซึ่งจะได้เรียนรู้การกระโดดร่ม และการดิ่งพสุธา รวมถึงวิธีการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์สุดโหด และในด่านทดสอบทางจิตใจ พลทหารจะถูกจับแยกและควบคุมตัวไว้ในพื้นที่อันน่าอึดอัดเป็นเวลาอย่างน้อย 36 ชั่วโมงและถูกสอบถามด้วยการยั่วยุทางจิตใจ
นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หน่วยซีลของไทย
หน่วยรบพิเศษที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่งจากกองทัพไทย เป็นของ “หน่วย SEAL” หรือนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ โดยประเทศไทยให้ฉายาพลหทารของหน่วยซีลว่าเป็น “มนุษย์กบ” ที่จะต้องดำน้ำได้นาน ทำงานบกบกเป็นเลิศ และกระโดดร่มและปฏิบัติการทางอากาศได้เช่นเดียวกับกบที่กระโดดสูง ซึ่งหัวใจหลักของหน่วซีลของไทยคือ “กำลังรบขนาดเล็ก ปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ และไม่ให้ข้าศึกรู้ตัว”
การฝึกในหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ใช้ระยะเวลาประมาณ 7-8 เดือน หรือ 31 สัปดาห์ นับเป็นการฝึกหลักสูตรทางทหารที่มีระยะเวลานานที่สุดของไทย พลทหารจะต้องผ่านด่านความกดดันทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อปฏิบัติภารกิจพิเศษสำคัญๆเสมอ เช่น การแทรกซึมหาข่าว ค้นหา ลักพาตัว ถอดทำลายวัตถุระเบิด ปฏิบัติการสงครามนอกรูปแบบ ต่อต้านการก่อการร้าย
ในสัปดาหร์แรก ๆ พลทหารจะได้รับการฝึกขั้นต้น เช่น ว่ายน้ำทางไกล 1,800 เมตร ดำน้ำ 3 ฟุตอย่างน้อย 75 วินาที จนมาถึงในสัปดาห์ที่ 9 – 10 จะมีการลดเวลาพักผ่อน พร้อมฝึกในป่าและกลางทะเลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกแบกท่อนซุง แบกแพยาง เป็นเวลานาน ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ “Hell Week” หรือสัปดาห์นรกเช่นเดียวกับหน่วยซีลของสหรัฐฯ จะเป็นการฝึกต่อเนื่อง 120 ชั่วโมง โดยใน 5 วันนี้ พลทหารจะไม่ได้นอนหลับพักผ่อน มีเพียงช่วงเวลาพักรับประทานอาหารสั้น ๆ ในแต่ละมื้อ หนึ่งในการฝึกคือการแช่ตัวในบ่อน้ำแข็งหนาวจัดเป็นเวลาหลายนาที นับเป็นการทดสอบทางร่างกายและจิตใจที่โหดหินที่สุดของไทย ดังนั้น ในแต่ละรุ่นจึงมีผู้สำเร็จหลักสูตรเพียง 30% เท่านั้น
——————————————————————————————————————————
ที่มา : อมรินทร์ทีวี / วันที่เผยแพร่ 26 ธ.ค.67
Link : https://www.amarintv.com/spotlight/world/503026