จอร์เจียตกอยู่ในความวุ่นวายนับตั้งแต่พรรค “จอร์เจียน ดรีม” คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อ 26 ต.ค. 2567 ซึ่งกลุ่มฝ่ายค้านกล่าวหาว่ามีการโกงเกิดขึ้นแล้ว
ชาวจอร์เจียหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภาในกรุงทบิลิซีอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 พ.ย. และเคลื่อนไหวต่อเนื่องจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงต่อต้านการตัดสินใจของรัฐบาล ที่จะระงับการเจรจาขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไปจนถึงปี 2571
ตำรวจถูกส่งออกมาปราบปรามการชุมนุม โดยใช้ทั้งปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตา จนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก แต่ฝ่ายผู้ประท้วงก็ขว้างปาดอกไม้ไฟ ก้อนหิน และวัตถุต่างๆ เข้าใส่เจ้าหน้าที่ จนมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 42 ราย และมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอีก 107 คน
อะไร เป็นสาเหตุทำให้จอร์เจียตกอยู่ในความวุ่นวายเช่นนี้?
ความไม่สงบในจอร์เจีย
พรรคจอร์เจียน ดรีม ซึ่งปกครองจอร์เจียมาตั้งแต่ปี 2555 ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งว่าพยายามพาประเทศออกห่างจากสหภาพยุโรป และเข้าหารัสเซียมากขึ้น โดยก่อนจะถึงการเลือกตั้ง พวกเขาเร่งผลักดันผ่านกฎหมายเล่นงานองค์กรภาคประชาสังคมอิสระ และจำกัดสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ
หลังจากพวกเขาอ้างตัวเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อ 26 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา สส.ฝ่ายค้านก็ออกมาตั้งคำถามเรื่องผลคะแนนที่ออกมา เนื่องจากผลเอ็กซิตโพลแทบทุกสำนักชี้ว่ากลุ่มฝ่ายค้านมีคะแนนนำ แต่ผลลัพธ์กลับเป็นความพ่ายแพ้ของพวกเขา ฝ่ายค้านจึงกล่าวหาว่ามีการโกงเกิดขึ้น และบอยคอตรัฐสภาชุดใหม่
หลังจากนั้น ประธานาธิบดี ซาโลเม โซราบิควิลี ซึ่งมีรายงานว่าเกิดความขัดแย้งกับคนในพรรครัฐบาล ก็ออกมาประกาศว่า รัฐสภาที่ควบคุมโดยพรรคการเมืองเดียวนั้น “ผิดรัฐธรรมนูญ” และพยายามทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะผ่านศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานาธิบดี ซาโลเม โซราบิควิลี
ในวันที่ 28 พ.ย. ฝ่าย EU ก็ผ่านมติประณามการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคมว่า วิกฤติประชาธิปไตยที่กำลังเสื่อมถอยลงของจอร์เจีย รวมทั้งแสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานเรื่องการควบคุมคะแนนโหวต และซื้อสิทธิ์ขายเสียง, ข่มขู่คุกคามผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและผู้สังเกตการณ์
หลัง EU มีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรี อิราคลี โคบาคิดเซ ก็ประกาศทันทีว่า รัฐบาลของเขาตัดสินใจแล้วว่า จะไม่ยกประเด็นเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปขึ้นมาอีกจนกว่าจะสิ้นสุดปี 2571 และปฏิเสธข้อเรียกร้องที่ให้มีการเลือกตั้งใหม่
นายโคบาคิดเซโดยย้ำด้วยว่า จอร์เจียจะยังคงบังคับใช้มาตรการปฏิรูปตามเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก และวางแผนจะเข้าร่วมภายในปี 2573 แต่ EU ก็ต้องเคารพผลประโยชน์และค่านิยมของจอร์เจียด้วย
ทั้งนี้ จอร์เจียได้สถานะ “แคนดิเดต” หรือผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก EU ตั้งแต่ปี 2566 แต่เบลเยียมระงับกระบวนการเข้าร่วมเอาไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากจอร์เจียบังคับใช้กฎหมายเผด็จการรูปแบบเดียวกับรัสเซีย เพื่อเล่นงานองค์กรที่ถูกกล่าวหาว่า ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ
การประท้วงครั้งล่าสุด
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในจอร์เจีย และการระงับกระบวนการเจรจาเข้าร่วมก็ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนนับหมื่นคนออกมาชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภาในกรุงทบิลิซี เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ก่อนจะถูกตำรวจปราบจลาจลเข้าสลายด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตา
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมหวนกลับมาอีกครั้งตั้งแต่วันศุกร์จนถึงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และเผชิญการปราบปรามอย่างหนักของเจ้าหน้าที่รัฐ โดย Pirveli สื่อท้องถิ่นเจ้าหนึ่งรายงานว่า หนึ่งในนักข่าวของพวกเขาซึ่งกำลังรายงานข่าวการประท้วง ถูกตำรวจทุบตีจนได้รับบาดเจ็บหนัก และต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
ในวันศุกร์ (29 พ.ย.) ลูกจ้างกระทรวงต่างประเทศ, กลาโหม, ศึกษาธิการ และยุติธรรมจำนวนมากร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก ประณามการระงับการเจรจาเข้าเป็นสมาชิก EU ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ประธานาธิบดีซูราบิควิลีก็ออกมาสนับสนุนการประท้วง โดยเธอแถลงถ่ายทอดทางโทรทัศน์ว่า “การเคลื่อนไหวขัดขืนเริ่มขึ้นแล้ว ฉันยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา” “เราจะยังคงรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน จนกว่าจอร์เจียจะบรรลุเป้าหมายในการ กลับเข้าสู่เส้นทางสู่ยุโรป และได้มีการเลือกตั้งใหม่”
แต่ความไม่สงบที่เกิดขึ้นก็ส่งผลให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งในกรุงทบิลิซีต้องหยุดการเรียนการสอน ขณะที่กลุ่มธุรกิจหลายกลุ่ม เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนจุดยืนใหม่
ความสัมพันธ์กับ EU ที่แย่ลง
การตัดสินใจระงับการเจรจาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของรัฐบาลจอร์เจีย สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากตะวันตกกล่าวหาพรรค จอร์เจียน ดรีม ว่าเป็นเผด็จการ และเอนเอียงเข้าหารัสเซีย
ในช่วงปีที่ผ่านมา จอร์เจียน ดรีม ผ่านกฎหมายต่อต้านองค์กรที่ถูกเรียกว่า “ตัวแทนต่างชาติ” และจำกัดสิทธิ์ของกลุ่ม LGBTQ แม้ว่านางซูราบิควิลีจะพยายามใช้สิทธิ์ “วีโต” คัดค้าน แต่ประธานาธิบดีจอร์เจียมีอำนาจส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงพิธีการ สุดท้ายคำสั่งของเธอก็ถูกรัฐสภาโหวตยกเลิก
พรรค จอร์เจียน ดรีม ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า ถูกควบคุมโดยนาย บิดซีนา อิวานิชวิลี อดีตนายกรัฐมนตรี, มหาเศรษฐีพันล้าน และผู้ก่อตั้งพรรค ยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นก็เพราะจำเป็นต้องการปกป้องค่านิยมของจอร์เจีย และพวกเขาจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในท้ายที่สุด
แต่สิ่งที่พวกเขาพูดคงมีเพียงการกระทำและการเวลาเท่านั้นที่จะเป็นข้อพิสูจน์
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2 ธ.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2828716