เปิดรายงานการศึกษาครั้งใหม่จากมหาวิทยาลัยนิโคเซีย ในไซปรัส ซึ่งมุ่งไปที่ผลลัพธ์เลวร้าย หากเกิดความขัดแย้งจนเป็น “สงครามนิวเคลียร์” โดยหลายประเทศอาจเผชิญภาวะอดอยากครั้งใหญ่ แล้วประเทศไหนปลอดภัยที่สุด
ขณะที่บางประเทศ เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และไอซ์แลนด์ จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ท่ามกลางความตึงเครียดทั่วโลกยังคงทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนสถานที่หลบภัย ได้รับการพิจารณาว่า มีความปลอดภัยที่สุด เช่น นิวซีแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์
ถึงอย่างไรการทำความเข้าใจกับความเสี่ยงเหล่านี้ และการเตรียมพร้อม เพื่อความอยู่รอดจากสงครามนิวเคลียร์ จึงมีความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งนิวเคลียร์ กลายเป็นปัญหาที่น่าวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ในรายงานการศึกษาล่าสุด ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Food ได้เน้นย้ำถึงผลที่ตามมาอันเลวร้ายจากสงครามนิวเคลียร์ อาจมีผลต่อแหล่งอาหารของโลก นอกเหนือจากการทำลายล้างที่เป็นผลทันทีจากนิวเคลียร์ ซึ่งมาจากรังสี ความร้อน และผลกระทบแรงระเบิด
รายงานนี้สร้างขึ้นจากการจำลองสงครามนิวเคลียร์สร้างผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศและพื้นที่เกษตรกรรม เผยให้เห็นผลคาดการณ์ชัดเจนว่า แหล่งผลิตอาหารทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้ผู้คนกว่า 6.7 พันล้านคนทั่วโลกต้องอดอยาก
นิวเคลียร์ทำลายแหล่งผลิตอาหารโลก
หากสงครามนิวเคลียร์ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในโลกต้องเผชิญความเลวร้าย การศึกษาฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่างๆ เช่นสหรัฐ แคนาดา ยุโรป และรัสเซีย อาจประสบภาวะอดอยากอย่างกว้างขวาง โดยประชากรของสหรัฐกว่า 98% เสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะขาดอาหาร ตัวอย่างเช่น ประชากรประมาณ 312.2 ล้านคนในสหรัฐ อาจเสียชีวิตจากภาวะขาดอาหาร เพราะระบบเกษตรกรรมได้รับความเสียหายรุนแรง และการค้าระหว่างประเทศล่มสลาย
วิธีเอาชีวิตรอด ระเบิดนิวเคลียร์
นอกจากภัยคุกคามในระยะยาว ซึ่งเป็นผลจากความอดอยากแล้ว ยังจะมีเหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทันที เป็นผลจากการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ ซึ่งการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยนิโคเซียในไซปรัส ได้ทำการจำลองการระเบิดขนาด 750 กิโลตัน หรือมีขนาดใหญ่กว่าระเบิดนางาซากิ 3 เท่า โดยชี้ว่า สถานที่หลบภัยดีที่สุดคือ พื้นที่ไกลที่สุดจากของหน้าต่างหรือประตู ในอาคารที่แข็งแรงมั่นคง เพราะจำเป็นต้องใช้เป็นที่กำบังจากคลื่น แรงกระแทกและลมพัดแรง
ภัยคุกคามนิวเคลียร์ทวีรุนแรง ทั่วโลกตึงเครียด
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีความเสี่ยงใช้อาวุธนิวเคลียร์ จากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้น ซึ่งอดีตประธานาธิบดีดมีตรี เมดเวเดฟ ของรัสเซียเตือนว่า ขีปนาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซียที่ผ่านการทดสอบในสนามรบแล้ว อาจหลบเลี่ยงการโจมตีจากยุโรป ขณะเดียวกันก็สามารถโจมตีเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ในไม่กี่นาที
“ยุโรปกำลังสงสัยว่า ระบบขีปนาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซียจะสร้างความเสียหายได้แค่ไหน หากหัวรบเป็นนิวเคลียร์ ซึ่งแน่นอนว่าความเสียหายนั้นไม่อาจยอมรับได้” เมดเวเดฟ โพสต์ในเทเลแกรม
สถานที่ปลอดภัยในวิกฤตินิวเคลียร์
พื้นที่โลกส่วนใหญ่จะเผชิญความเสี่ยงอย่างมาก หากเกิดความขัดแย้งนิวเคลียร์ แต่คาดว่า บางประเทศจะอยู่รอดได้ดี เพราะเป็นประเทศห่างไกลความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือรักษาความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจยังเป็นแหล่งหลบภัยของผู้ที่ติดอยู่ในความขัดแย้งสงครามนิวเคลียร์
ดังนั้น พื้นที่ที่มีความปลอดภัยจากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ได้แก่
1.แอนตาร์กติกา
เนื่องจากพื้นที่ห่างไกล และไม่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ แอนตาร์กติกาจึงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด ในช่วงเกิดความขัดแย้งนิวเคลียร์ โดยพื้นที่อันกว้างใหญ่สามารถรองรับผู้คนนับพันที่แสวงหาที่หลบภัยได้
2. ไอซ์แลนด์
ขึ้นชื่อเป็นประเทศมีความเป็นกลาง และจุดยืนที่สันติ จึงมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตามผลกระทบจากการโจมตีนิวเคลียร์ในยุโรป อาจลามไปถึงเกาะไอซ์แลนด์ด้วย
3. นิวซีแลนด์
เนื่องจากเป็นประเทศมีความเป็นกลาง และมีภูมิประเทศเป็นภูเขา นิวซีแลนด์สามารถป้องกันการรุกรานได้ แม้จะสนับสนุนยูเครนในเรื่องการเงินและกฎหมาย แต่ไม่น่าตกเป็นเป้า เพราะนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลาง
4. สวิตเซอร์แลนด์
สวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นกลางมายาวนาน และมีหลุมหลบภัยนิวเคลียร์จำนวนมาก จึงอาจเป็นสถานที่ปลอดภัย เพราะนิวซีแลนด์ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง จึงทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นเป้าโจมตีอาวุธนิวเคลียร์น้อย
5. กรีนแลนด์
กรีนแลนด์เป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก มีภูมิประเทศห่างไกลทางภูมิศาสตร์ และเป็นกลางทางการเมือง ทำให้เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยระหว่างมีวิกฤตการณ์ระดับโลก
6. ประเทศในอเมริกาใต้
ประเทศต่างๆ เช่น อาร์เจนตินา ชิลี และอุรุกวัย มีโอกาสประสบปัญหาขาดแคลนอาหารน้อย เนื่องจากเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ แม้ได้รับผลกระทบจากนิวเคลียร์
อ้างอิง : TheEconomicTime
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 30 พ.ย.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1155954