กฎหมายอินเทอร์เน็ตฉบับใหม่ของเวียดนาม ที่กำหนดให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ต้องยืนยันตัวตนและส่งมอบข้อมูลให้กับทางการ มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก
กฎหมายอินเทอร์เน็ตฉบับใหม่ของเวียดนาม ที่กำหนดให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ต้องยืนยันตัวตนและส่งมอบข้อมูลให้กับทางการ มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก โดยภายใต้ “พระราชกฤษฎีกา 147” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทุกแห่งที่ดำเนินการในเวียดนาม จะต้องตรวจสอบบัญชีผู้ใช้ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขประจำตัวประชาชนของเวียดนาม และจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวร่วมกับชื่อ นามสกุล และวันเกิด
บริษัทเหล่านี้จะต้องให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ทางการเมื่อได้รับการร้องขอ และลบเนื้อหาใดๆ ที่รัฐบาลถือว่า “ผิดกฎหมาย” ภายใน 24 ชั่วโมง
ด้าน VNExpress สื่อของรัฐบาล รายงานว่า กฎฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันพุธที่ 25 ธ.ค. และระบุว่า เว็บไซต์โซเชียลมีเดียทั้งหมด จะมีเวลา 90 วัน ในการจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับ “จำนวนการเยี่ยมชมปกติทั้งหมดในเวียดนาม” และจำนวนผู้ใช้ปกติต่อเดือนให้กับทางการ
ดั่ง ธิ เว้ นักเคลื่อนไหวด้านการเมืองและปัญหาสังคม กล่าวผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของเธอซึ่งมีผู้ติดตาม 28,000 คนว่า “พระราชกฤษฎีกา 147 จะถูกใช้เพื่อปิดกั้นผู้ที่มีมุมมองที่แตกต่างต่อสาธารณะ” ส่วน เล อันห์ หุ่ง อดีตนักโทษการเมือง กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เป็น “สัญญาณล่าสุดของการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยมีเส้นแบ่งที่คลุมเครือระหว่างสิ่งที่ถูกกฎหมายและสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย” “ไม่มีใครอยากติดคุก ดังนั้นแน่นอนว่านักเคลื่อนไหวบางคนจะระมัดระวังและหวาดกลัวพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มากขึ้น”
โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลเวียดนามจะดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างและจับกุมผู้วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะบนสื่อโซเชียลมีเดีย เมื่อเดือนตุลาคม นายเดือง หว่าน ไต บล็อกเกอร์ซึ่งมักไลฟ์สดเพื่อวิจารณ์รัฐบาล ที่มีผู้ติดตามบนยูทูบ เกือบ 120,000 คน ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 12 ปี ในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลต่อต้านรัฐ
พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 147 ประกอบขึ้นจากกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ในปี 2018 ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และผู้สนับสนุนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้เลียนแบบการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของจีน
นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกายังระบุด้วยว่า เฉพาะบัญชีที่ผ่านการตรวจสอบแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถทำการไลฟ์สดได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้คนที่หารายได้ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ เช่นติ๊กต่อก ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
นอกจากผลกระทบต่อบริษัทโซเชียลมีเดียแล้ว กฎหมายใหม่ยังรวมถึงการจำกัดการเล่นเกมสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อป้องกันอาการติดเกม คาดว่าบริษัทเกมจะบังคับใช้กฎการจำกัดเวลา 1 ชั่วโมง ต่อเซสชันเกม และไม่เกิน 180 นาทีต่อวันสำหรับเกมทั้งหมด ด้านบริษัทวิจัยข้อมูล Newzoo ระบุว่า ประชากรเวียดนามมากกว่าครึ่งหนึ่งเล่นเกมเป็นประจำ
ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของเวียดนามยังใช้โซเชียลมีเดีย โดยกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารเวียดนามประมาณการว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ประมาณ 65 ล้านคน ผู้ใช้ยูทูบ 60 ล้านคน และผู้ใช้ติ๊กต่อก 20 ล้านคน.
ที่มา CNA
———————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 ธ.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2833076