จัดการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ ประจำปี 67 หรือ เอ็นซีเอ็กซ์ 2024 ให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ พร้อมสู้ภัยไซเบอร์
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า ได้จัดกิจกรรมจัดการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ ประจำปีงบประมาณ 2567 หรือ เอ็นซีเอ็กซ์ 2024 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ได้มีโอกาสในการพัฒนาและทดสอบสถานะความพร้อมในการรับมือต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามที่กฎหมายกำหนดโดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกมากกว่า 1,000 คน จาก 148 หน่วยงาน หลังจากในช่วงที่ผ่านมา เหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แรนซัมแวร์ที่เกิดกับโรงพยาบาล เหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลที่เกิดกับภาคเอกชน หรือแม้แต่เหตุการณ์จอฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อบริการสำคัญทั่วโลก เวลานี้คงตระหนักแล้วว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ หากไม่เตรียมความพร้อม ไม่ฝึกซ้อมรับมือเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของ ประเทศ
“นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้ความสำคัญในเรื่องของการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพื่อหน่วยงานของรัฐทบทวนความพร้อมในการติดต่อประสานงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติในการตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานในยามที่ประสบเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ในสถานการณ์”
ด้าน พลอากาศตรี จเด็ด คูหะก้องกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ เอ็นซีเอ็กซ์ 2024 ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนรับมือเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ของหน่วยงาน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ กกม. เรื่อง ประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ พ.ศ. 2562 แล้ว ยังเป็นการทดสอบการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะเมื่อเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับประเทศ การแก้ไขปัญหาด้วยหน่วยงานเดียวอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกัน ในการแก้ไขปัญหา ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เพื่อยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศไทย
———————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 20 ธ.ค.67
Link : https://www.dailynews.co.th/news/4208123/