เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรียดูจะหายไปจากหน้าสื่อพักใหญ่ จนหลายคนอาจคิดไปว่าสถานการณ์สงบลงแล้วจริง ๆ แต่ล่าสุดกลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพันธมิตรกลุ่มกบฏซีเรียนำกำลังบุกยึดเมืองอเลปโป เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศในวันที่ 27 พ.ย. 67
ก่อนจะเดินหน้าปฏิบัติการรุกคืบอย่างต่อเนื่อง และสามารถยึดกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของประเทศได้ในวันที่ 8 ธ.ค. 67 ทำให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน หลบหนีออกนอกประเทศ
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ซีเรียนี้ เกิดขึ้นในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น แต่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทั้งหมดมาจากไหน ทำไมรัฐบาลถึงถูกโค่นได้ง่ายดายนัก และอนาคตของซีเรียจะเป็นอย่างไร ทีมเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์สรุปมาให้อ่านกัน
การเมืองใน “ซีเรีย” และจุดเริ่มต้นสงคราม
ซีเรียเป็นประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีชายแดนทางเหนือติดกับตุรกี ทางใต้ติดกับจอร์แดน ทางตะวันออกติดกับอิรัก และทางตะวันตกติดกับเลบานอน อิสราเอล และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีประชากรราว 20.6 ล้านคน
ซีเรีย มีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐภายใต้การปกครองโดยทหาร (ตั้งแต่ ค.ศ.1964) โดยอยู่ภายใต้การนำของตระกูลการเมือง “อัล-อัสซาด” มายาวนานกว่า 53 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ “บาชาร์ อัล-อัสซาด” ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2000 ต่อจากบิดา “ฮาเฟซ อัล-อัสซาด” ผู้ขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการรัฐประหารในปี 1970 และปกครองประเทศอย่างเข้มงวดนาน 29 ปี มีการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง
ในช่วงแรกที่บาชาร์ อัล-อัสซาด ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ มีความหวังว่าเขาจะเปิดกว้างมากกว่าผู้เป็นพ่อ แต่แนวทางการบริหารประเทศของเขากลับไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก
ต่อมาในปี 2011 ในช่วงของการเกิด “อาหรับสปริง” ที่หลายประเทศลุกฮือต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องประชาธิปไตย ในซีเรียก็มีการชุมนุมประท้วงเช่นกัน แต่ถูกประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด สั่งปราบปรามอย่างรุนแรง จนลุกลามกลายมาเป็นสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ มีกองกำลังกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำการสู้รบยึดหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงการเข้ามาของกลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS)
สงครามที่เกิดขึ้น ยังมีการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของประเทศเพื่อนบ้านและชาติมหาอำนาจต่างๆ ทั้งรัสเซีย อิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ที่สนับสนุนกำลังและอาวุธให้กองทัพรัฐบาลอัล-อัสซาด
ขณะที่สหรัฐฯ สนับสนุนกบฏกลุ่มกองกำลังประชาธิปไตยซีเรียชาวเคิร์ด (Kurdish-led Syrian Democratic Forces – SDF) เพื่อต่อต้านกลุ่ม ISIS เช่นเดียวกับ ตุรกี ที่สนับสนุนกบฏกลุ่มกองทัพแห่งชาติซีเรีย (Syrian National Army: SNA) เพื่อรักษาผลประโยชน์ชายแดนและถ่วงดุลกับกลุ่ม SDF ที่ตุรกีมองว่าเป็นศัตรู จนกลายเป็นสงครามตัวแทนที่มีความซับซ้อน มากกว่าสงครามกลางเมืองในประเทศ
ในช่วงแรกของสงคราม รัฐบาลอัล-อัสซาดเพลี่ยงพล้ำและสูญเสียดินแดนจำนวนมากให้กลุ่มกบฏ ก่อนที่จะเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2015 ที่ “รัสเซีย” ได้เข้ามามีบทบาทโดยตรงในการช่วยทำสงคราม ส่งเครื่องบินรบเข้ามาทิ้งระเบิด โดยสมรภูมิหลักเกิดขึ้นในเมือง “อเลปโป” ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ จนสุดท้ายรัฐบาลกลับมาควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของซีเรียได้
ต่อมาในปี 2020 รัสเซียและตุรกี บรรลุข้อตกลงหยุดยิง ทำให้ในปัจจุบันยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่บ้างประปราย แต่ไม่รุนแรงเท่าช่วงแรก โดยมีผู้เสียชีวิตจากสงครามรวมทั้งหมดกว่า 5 แสนราย กว่าครึ่งประเทศต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น หรืออพยพหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจอร์แดน ตุรกี อิรัก เลบานอน ไปจนถึงสหภาพยุโรป
ในช่วงก่อนที่กลุ่มกบฏจะยึดเมืองหลวงได้สำเร็จนั้น ซีเรีย ถูกแบ่งพื้นที่ปกครองด้วยรัฐบาลกลางและกลุ่มกบฏติดอาวุธหลายกลุ่ม โดยพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศปกครองโดยรัฐบาลอัล-อัสซาด ขณะที่ทางตอนเหนือและตะวันออกปกครองโดยกลุ่มกองกำลังประชาธิปไตยซีเรียชาวเคิร์ด (SDF) และตามแนวชายแดนทางตอนเหนือบางส่วนปกครองโดยกลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี และทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ของกลุ่มฮายัต ตาห์รีร์ อัลชาม (HTS)
สถานการณ์ล่าสุด เกิดอะไรขึ้น?
ตัวละครที่สำคัญของเหตุการณ์ล่าสุดในซีเรีย คือกลุ่มกบฏที่มีชื่อว่า ฮายัต ตาห์รีร์ อัลชาม (Hayat Tahrir al-Sham-HTS) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในเมืองอิดลิบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ที่มีประชากรมากกว่า 4 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้พลัดถิ่นจากสงคราม
กลุ่มนี้มีผู้นำคือ “อาบูโมฮัมเหม็ด อัล-จาวลานี” ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อกลุ่มว่า แนวร่วมอัล-นุสรา (Front al-Nusra) และเคยเป็นสาขาของกลุ่มอัลกออิดะห์ในซีเรีย ก่อนที่ต่อมาในปี 2016 แนวร่วมอัล-นุสราจะประกาศตัดขาดกับกลุ่มอัลกออิดะห์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น HTS อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติยังจัดให้กลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย และอัล-จาวลานีถูกตั้งค่าหัวอยู่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 340 ล้านบาท)
จนกระทั่งในวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่ม HTS และพันธมิตรกลุ่มกบฏอื่น ๆ เช่น SNA ได้เปิดปฏิบัติการโจมตีสายฟ้าแลบในเมืองอเลปโป ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง และทำการยึดเมืองได้สำเร็จในวันที่ 30 พ.ย.โดยพวกเขาเจอการต่อต้านภาคพื้นดินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังรัฐบาลสั่งถอนทหารจากเมืองอย่างรวดเร็ว
จากนั้นในช่วง 1 สัปดาห์ต่อมา พันธมิตรกลุ่มกบฏได้รุกคืบอย่างต่อเนื่อง ยึดเมืองฮะมาฮ์ ที่อยู่ถัดมาทางตอนใต้อีก 90 กม.และขยับไปยึดเมืองฮอมส์ และสุดท้ายก็สามารถยึด “ดามัสกัส” เมืองหลวงของประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ได้สำเร็จในเช้าวันที่ 8 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น โดยพวกเขาประกาศว่า จะทำให้ซีเรียเป็นบ้านของทุกคน ทุกนิกาย และทุกชนชั้น
ขณะที่มีรายงานว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าหนีไปประเทศใด แต่มีกระแสข่าวว่า เขาลี้ภัยไปยังกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย
อัล-จาวลานี ผู้นำกลุ่มกบฏ ได้ให้นายกรัฐมนตรี โมฮัมเหม็ด อัล-จาลาลี ผู้ถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลอัล-อัสซาดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดำรงตำแหน่งต่อไปในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยอัล-จาลาลีระบุว่า เขาพร้อมจะมอบอำนาจให้กับผู้นำที่ถูกเลือกโดยประชาชนชาวซีเรีย
“ประเทศนี้สามารถเป็นประเทศที่ปกติ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านและนานาชาติ แต่เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำที่จะมาจากการเลือกของประชาชนชาวซีเรีย” อัล-จาลาลี กล่าว
ขณะที่กลุ่มสังเกตการณ์ซีเรียเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 910 ราย เป็นพลเรือน 138 ราย นับตั้งแต่มีปฏิบัติการของกลุ่มกบฏ
ทำไมกลุ่มกบฏ ถึงโค่นรัฐบาลซีเรียได้ง่ายขนาดนี้?
ซีเรีย ตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง และรัฐบาลอัล-อัสซาด ก็ไม่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยประชาชนมองว่าการเอาชีวิตรอดใต้การนำของเขาเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นรวมถึงทหารซีเรียส่วนใหญ่ด้วย มีรายงานว่าทหารและตำรวจต่างละทิ้งฐานที่มั่น วางอาวุธ และหนีไปก่อนที่กองกำลังฝ่ายกบฏจะมาถึง
นอกจากนี้ กองทัพรัฐบาลอัล-อัสซาดอยู่ในสภาพอ่อนแอมาหลายปีจากการทำสงคราม การแทรกแซง และคอร์รัปชัน และในการรบก่อนหน้านี้ได้รับการช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างรัสเซีย อิหร่าน และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ แต่ในช่วงที่ผ่านมา รัสเซียมุ่งความสนใจไปที่การทำสงครามกับยูเครน ในขณะที่อิหร่านและฮิซบอลเลาะห์ก็ได้ทำสงครามกับอิสราเอลและเกิดความสูญเสียอย่างมาก จึงทำให้ไม่สามารถมาช่วยเหลือซีเรียได้อย่างเคย
ความรู้สึกและความหวังของชาวซีเรีย
หลังจากที่พันธมิตรกลุ่มกบฏยึดเมืองหลวงซีเรียได้สำเร็จ มีรายงานว่าชาวซีเรียทั้งในประเทศและที่อพยพไปต่างประเทศต่างออกมารวมตัวกัน โบกธงชาติและส่งเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจ
ในซีเรีย ประชาชนบางส่วนบุกโค่นรูปปั้นของประธานาธิบดีอัล-อัสซาดผู้พ่อ และทุบทำลายเผารูปภาพของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดที่ติดอยู่ในเมือง โดยประชาชนให้สัมภาษณ์ว่า ดีใจที่สิ้นสุดการปกครองของตระกูลอัล-อัสซาด และยินดีที่ปฏิบัติการครั้งนี้จบลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการนองเลือดในวงกว้าง
เรนัด โซดาห์ หญิงสาวผู้ลี้ภัยจากซีเรียเมื่อ 9 ปีก่อน ได้มาร่วมชุมนุมกับบรรดาผู้อพยพชาวซีเรียที่เมืองเบลฟาสต์ เมืองหลวงของไอร์แลนด์ และให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ว่ารู้สึกดีใจมาก และหวังว่าจะได้กลับไปยังบ้านเกิดและพบกับญาติ ๆ ของเธอให้เร็วที่สุด เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างสงบลง
“เมืองที่ฉันอยู่ถูกทิ้งระเบิด และมันเป็นอันตรายต่อพวกเรามาก ทางครอบครัวจึงตัดสินใจอพยพ ฉันมั่นใจว่าตอนนี้ทุกคนมีความสุขและออกมาฉลองข่าวดี หลังจากทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา”
ขณะที่ประชาชนบางส่วนก็มีความกังวล เนื่องจากกลุ่มกบฏ HTS เป็นอดีตเครือข่ายอัลกออิดะห์ และตอนนี้ยังถูกนานาชาติมองว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่ และมีความหวาดกลัวด้วยว่า อาจมีการบังคับใช้การปกครองแบบอิสลามที่เข้มงวด จึงยังเร็วเกินกว่าจะตัดสินว่าการเปลี่ยนผ่านของซีเรียจะเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ที่มา : CNN, aljazeera, BBC, shelterbox, BBC
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 9 ธ.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/scoop/world/2830086