นักวิจัยด้านไซเบอร์จาก ExtensionTotal ออกมาเตือนว่าอาชญากรใช้ส่วนเสริม (extension) บน Google Chrome อย่างน้อย 36 ตัวในการขโมยข้อมูล ทำให้ผู้ใช้งาน 2.6 ล้านคน ตกอยู่ในความเสี่ยงข้อมูลรั่วไหล
ส่วนเสริมที่ ExtentionTotal ออกมาเตือนให้ระวัง ได้แก่
– Web Mirror
– ChatGPT App
– Hi AI
– Web3Password Manager
– YesCaptcha assistant
– Bookmark Favicon Changer
– Proxy SwitchyOmega (V3)
– GraphQL Network Inspector
– AI Assistant
– Bard AI chat
– ChatGPT for Google Meet
– Search Copilot AI Assistant for Chrome
– TinaMind
– Wayin AI
– VPNCity
– Internxt VPN
– Vidnoz Flex
– VidHelper
– Castorus
– Uvoice
– Reader Mode
– ParrotTalks
– Primus
– Keyboard History Recorder
– ChatGPT Assistant
– Reader Mode
– Visual Effects for Google Meet
– AI Shop Buddy
– Cyberhaven V3 Security Extension
– Earny
– Rewards Search Automator
– Tackker
– Sort By
– Email Hunter
– ChatGPT Quick Access
ทั้งนี้ มีหลายตัวที่ได้รับการแก้ไขหรือถอดจาก Chrome Store ไปแล้ว
นักวิจัยพบขบวนการนี้ในปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่พบว่าส่วนเสริมของ Cyberhaven สตาร์ตอัปด้านไซเบอร์ที่มีผู้ใช้ราว 400,000 คน ถูกแฮกเกอร์เข้ายึดไปก่ออาชญากรรมออนไลน์ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ดูแลระบบของ Cyberhaven ถูกล้วงข้อมูลด้วยวิธีการฟิชชิงไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ผ่านอีเมลที่หลอกว่าส่วนเสริมของบริษัทละเมิดนโยบายของ Google
เมื่อผู้ดูแลระบบคนดังกล่าวคลิกในลิงก์ที่ส่งมากับอีเมลที่ฝังตัวเจาะ OAuth หรือระบบยืนยันตัวตนของผู้ดูแล ก็เป็นการอนุญาตให้แฮกเกอร์เข้าไปใช้งานระบบหลังบ้านของตัวส่วนเสริม ทำให้แฮกเกอร์สามารถอัปโหลดเวอร์ชันใหม่ของส่วนตัวเสริมขึ้นไปบน Web Store ของ Chrome ได้ทันที ซึ่งในส่วนเสริมก็มีการยัดไส้โค้ดที่ขโมยรหัสผ่าน คุกกี้ และข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน ที่จะนำไปสู่การเข้ายึดบัญชีได้
ด้าน SquareX บริษัทให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ออกมาเตือนว่าการฝังโค้ดในส่วนเสริมเพื่อเจาะเข้าไปในบัญชีของผู้ใช้งานกำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทีมไอทีของบริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถควบคุมได้ว่าผู้ใช้งานติดตั้งอะไรไปบ้าง และถึงแม้ว่าจะมีการควบคุม ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ไปเฝ้าดูว่าตัวอัปเดตของส่วนเสริมมีปัญหาหรือไม่
SquareX ยังเสริมด้วยว่านักพัฒนาจำนวนมากง่ายต่อการตกเป็นเป้า เพราะอีเมลของพวกเขาติดอยู่บน Chrome Store สำหรับให้ผู้ใช้งานแจ้งรายงาน Bug เข้าไป
ที่มา :Info Security Magazine
พิสูจน์อักษร :รัชนี สังข์แก้ว
————————————————————————————————————————-
ที่มา : beartai / วันที่เผยแพร่ 6 ม.ค.68
Link : https://www.beartai.com/tech/it-news/1448915