‘วีซ่า H-1B’ จุดไฟขัดแย้ง ‘อีลอน มัสก์’ กับ ‘ผู้สนับสนุนทรัมป์กลุ่มขวาจัด’ มัสก์มองวีซ่านี้ช่วยดูดคนเก่งทั่วโลกเข้ามา แต่กลุ่มคัดค้านชี้ ทำให้บริษัทเทคฯเลิกจ้างคนอเมริกันจำนวนมาก และหันไปจ้างต่างชาติแทน
ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐ ก็เกิดเรื่องร้าวฉานขึ้นระหว่าง “ฝ่ายสนับสนุนทรัมป์กลุ่มขวาจัด” กับ “อีลอน มัสก์” เกี่ยวกับประเด็น “วีซ่า H-1B” ซึ่งให้กับชาวต่างชาติมีฝีมือ เพื่อดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานในสหรัฐ
อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Tesla และ SpaceX สนับสนุนและประกาศปกป้องวีซ่านี้ เพราะช่วยให้นวัตกรรมของประเทศก้าวหน้า ขณะที่ผู้สนับสนุนทรัมป์ซึ่งรวมไปถึงผู้แทนจากพรรครีพับลิกันบางส่วนออกโรงให้ยกเลิกวีซ่าประเภทนี้ เพราะมองว่าทำให้ชาวอเมริกันตกงาน โดยการไปจ้างชาวต่างชาติด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่าผ่านวีซ่านี้แทน
-
- H-1B ดึงพลังสมองทั่วโลกขับเคลื่อนสหรัฐ
สำหรับวีซ่า H-1B เกิดขึ้นจากสภาคองเกรสตั้งแต่ปี 1990 จุดประสงค์ก็เพื่อดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกให้เข้ามาพัฒนาประเทศสหรัฐ ซึ่งบุคลากรที่ขาดแคลนอย่างมากก็คือ ผู้ที่มีทักษะ STEM 4 อย่าง ได้แก่ทักษะวิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)
– วีซ่า H-1B –
ผู้ที่ได้วีซ่า H-1B นี้ จะได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐ 3 ปี และสามารถต่ออายุได้สูงสุดถึง 6 ปี อีกทั้งเป็นเส้นทางไปสู่การได้ “กรีนการ์ด” ซึ่งจะทำให้พำนักในสหรัฐได้อย่างไม่มีกำหนด
อีลอน มัสก์มองว่า วีซ่านี้ช่วยทำให้สหรัฐผงาดขึ้นเป็น “เจ้านวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่” ในปัจจุบัน โดยมัสก์เป็นคนแอฟริกาใต้มาก่อน และได้รับสัญชาติเป็น “พลเมืองสหรัฐ” ด้วยจุดเริ่มต้นวีซ่า H-1B นี้ จนทำให้เขาได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมสุดล้ำ ไม่ว่าอินเทอร์เน็ตดาวเทียม การฝังชิปในสมอง รวมถึงหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ให้กับแผ่นดินสหรัฐ
มัสก์ย้ำว่า วีซ่า H-1B ช่วยดึงดูดอัจฉริยะด้านวิศวกรรมหัวกะทิที่มีเพียง 0.1% ให้เข้ามาทำงานในสหรัฐ และจะปกป้องโปรแกรมวีซ่า H-1B นี้ให้ถึงที่สุด
– อีลอน มัสก์ (เครดิต: Reuters) –
ที่ผ่านมา วีซ่านี้ถือเป็น “รากฐานเหล่าบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ” โดย Amazon.com, Google และ Tesla เป็นบริษัทที่ใช้วีซ่านี้มากที่สุด ซึ่งช่วยให้บริษัทนำแรงงานต่างชาติมีฝีมือเข้ามาทำงานในสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอินเดีย และทำงานในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมศาสตร์
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด 8 บริษัท เช่น Moderna Therapeutics, Johnson & Johnson และ Gilead Sciences ฯลฯ ได้จ้างนักวิทยาศาสตร์ นักเคมี และนักชีวฟิสิกส์ที่ถือวีซ่า H-1B มากกว่า 3,300 คนให้ร่วมกันเร่งพัฒนาวัคซีน อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่แนวหน้าระหว่างการแพร่ระบาดยังรวมถึงผู้ถือวีซ่า H-1B ด้วย
“การให้วีซ่า H-1B ที่มากขึ้นได้นำไปสู่การจดสิทธิบัตรในสหรัฐที่เพิ่มขึ้น และรายได้ที่สูงขึ้นสำหรับแรงงานทั้งในสหรัฐและอินเดีย” ดร.กอราฟ ขันนา นักเศรษฐศาสตร์แรงงานจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งซานดิเอโกกล่าว
ข้อมูลสำมะโนครัวสหรัฐเผยให้เห็นว่า ระหว่างปี 1990-2023 สหรัฐมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยจำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า สู่ระดับ 2.85 ล้านคน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ขยายตัวมากกว่า 7 เท่าจนแตะ 3.5 ล้านคน โดยงานส่วนใหญ่เหล่านี้ถูกดำรงตำแหน่งโดยคนที่เกิดในสหรัฐ แต่สัดส่วนของแรงงานต่างชาติในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็น 26%
“เศรษฐกิจของสหรัฐพึ่งพาวีซ่า H-1B ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี วิศวกรรม และการดูแลสุขภาพ ซึ่งแรงงานในประเทศมีไม่เพียงพอ” จิเดช กุมาร หุ้นส่วนผู้จัดการของ King Stubb & Kasiva บริษัทด้านกฎหมายในอินเดียกล่าว
“ทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพต่างพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญที่ถือวีซ่า H-1B ในการทำวิจัยล้ำสมัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกจากนี้ หลายคนยังได้กลายเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ที่สร้างงานและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ” จิเดชกล่าวเสริม
-
- ข้อวิจารณ์ H-1B จ้างต่างชาติแทนคนอเมริกัน
ในอีกด้านหนึ่งของวีซ่า H-1B ก็มีผู้คัดค้านเช่นกัน ซึ่งนำโดยกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์และสมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วน โดยมองว่านายจ้างบางรายใช้โครงการวีซ่า H-1B เพื่อจ้างแรงงานต่างชาติในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่า ซึ่งเท่ากับการ “แทนที่” เหล่าแรงงานชาวอเมริกัน
บางส่วนยังมองว่า การพึ่งพาแรงงาน H-1B ทำให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมลดลง เนื่องจากทำให้บริษัทต่างๆ ไม่กระตือรือร้นที่จะลงทุนฝึกอบรมพนักงานอเมริกัน หรือแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ไม่เพียงแต่ฝ่ายรีพับลิกันบางส่วนเท่านั้น แม้แต่ “เบอร์นี แซนเดอร์ส” วุฒิสมาชิกแห่งรัฐเวอร์มอนต์ และเคยสู้ศึกเลือกตั้งรอบไพรมารีกับฮิลลารี คลินตัน และโจ ไบเดน ก็คัดค้านวีซ่า H-1B ด้วย
– เบอร์นี แซนเดอร์ส (เครดิต: เพจ U.S. Senator Bernie Sanders) –
ในขณะที่ผู้สนับสนุนโต้แย้งว่า วีซ่านี้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง แซนเดอร์สกลับมองว่า วีซ่านี้เป็นเครื่องมือ “แทนที่งานในประเทศ” ที่มีรายได้ดี ด้วยแรงงานต่างชาติที่ได้รับค่าจ้างต่ำ
“หน้าที่หลักของโครงการวีซ่า H-1B ไม่ใช่การจ้างงาน ‘คนที่เก่งที่สุดและฉลาดที่สุด’ แต่เป็นการแทนที่งานชาวอเมริกันที่มีรายได้ดีด้วยแรงงานจากต่างประเทศที่มีค่าแรงต่ำ และอยู่ในสภาพคล้ายลูกจ้างที่ต้องพึ่งพานายจ้าง” แซนเดอร์สกล่าว
แซนเดอร์สชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้โครงการวีซ่า H-1B ได้ “เลิกจ้างแรงงานชาวอเมริกัน” อย่างน้อย 85,000 คนในปี 2022 และ 2023 ขณะเดียวกันก็จ้างแรงงาน H-1B กว่า 34,000 คนแทน เขายังเสริมต่อว่า Tesla ได้เลิกจ้างพนักงาน 7,500 คน ซึ่งรวมถึงวิศวกรและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่กลับอนุมัติให้จ้างแรงงาน H-1B หลายพันคน
“หากมีการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะจริง ๆ ทำไมเราถึงได้เห็นการเลิกจ้างเหล่านี้?” แซนเดอร์สตั้งคำถาม
แซนเดอร์สกล่าวต่อว่า โครงการนี้ถูกนำมาใช้เพื่อจ้างงานในตำแหน่งอย่าง ครูฝึกสุนัข นักบำบัด และครูสอนภาษาอังกฤษ โดยตั้งคำถามว่า งานเหล่านี้จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติจริงหรือไม่
“เราหาครูสอนภาษาอังกฤษในอเมริกาไม่ได้จริง ๆ หรือ?” เขาตั้งคำถาม
-
- ทรัมป์ชู H-1B เสริมพลังเศรษฐกิจสหรัฐ
ในท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ว่าควรยกเลิกหรือไม่ยกเลิกวีซ่า H-1B “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ก็ประกาศจุดยืนสนับสนุนโครงการวีซ่านี้ โดยกล่าวในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ New York Post ว่า
“ผมชอบโครงการวีซ่า H-1B มาโดยตลอด ผมสนับสนุนโครงการวีซ่านี้มาโดยตลอด นั่นเป็นเหตุผลที่เรามีอยู่” ซึ่งการประกาศจุดยืนที่ชี้ขาดนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมนวัตกรรม และดึงดูดคนมีความสามารถจากทั่วโลกให้เข้าสู่สหรัฐ
-
- คนไทยได้ H1B 387 วีซ่าในปี 2024
สำหรับประเทศไทย มีคนไทยที่ขอวีซ่าประเภทนี้ในการเข้าไปทำงานในสหรัฐเช่นกัน โดยในปีงบประมาณ 2024 มีคนไทยได้วีซ่า H1B จำนวน 387 วีซ่า ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
“ยอดการอนุมัติ/ออกวีซ่า H1B ตามปีงบประมาณสำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทย”
ปีงบประมาณ* จำนวนวีซ่าที่อนุมัติ/ออกให้
ปีงบประมาณ 2018 189
ปีงบประมาณ 2019 187
ปีงบประมาณ 2020 136
ปีงบประมาณ 2021 70
ปีงบประมาณ 2022 284
ปีงบประมาณ 2023 366
ปีงบประมาณ 2024 387
*หมายเหตุ: ปีงบประมาณของสหรัฐ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีก่อนหน้าไปจนถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป (เช่น ปีงบประมาณ 2018 เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2017 ถึง 30 กันยายน 2018)