กสทช. ประสานสองแบรนด์มือถือจีน “ออปโป้-เรียลมี” เร่งแก้ไขลบแอปให้ลูกค้า ชี้เรื่องนี้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย พร้อมประสานหน่วยงานหารือ ขอบเขต ก.ม.เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตอีก เผย กสทช.ตรวจสอบเฉพาะด้านเทคนิคมีอันตรายต่อสุขภาพและคลื่นรบกวนอุปกรณ์อื่น แต่ไม่รวมลงซอฟต์แวร์และแอป
จากกรณีที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค และเฟจ “คุณลุงไอที” ได้โพสต์แจ้งเตือนผ่านเฟซบุ๊กว่า พบรายงานจากผู้ใช้หลายรายว่า พบแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน อาทิ แอปชื่อ “สินเชื่อความสุข” หรือ “Fineasy” ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ System App บนสมาร์ตโฟน ออปโป้ (OPPO) และ เรียลมี (Realme) 2 แบรนด์ชื่อดังจากจีน และแอปดังกล่าวไม่สามารถลบออกจากเครื่องได้ และยังสามารถส่งการแจ้งเตือนเชิญชวนให้กู้เงิน รวมถึงเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เช่น รายชื่อผู้ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ นั้น
โดยทาง ออปโป้ และ เรียลมี ได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาขออภัยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันให้ความสำคัญถึงความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งาน และแอป Fineasy ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคงไว้เฉพาะฟังก์ชันบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเท่านั้น และกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถถอนการติดตั้งแอป Fineasy ได้โดยเร็วที่สุด หากผู้ใช้งานต้องการถอนการติดตั้งแอปในทันที สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้า ออปโป้ และ เรียลมี อย่างเป็นทางการได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ จะหยุดการติดตั้งแอปพลิเคชันประเภทสินเชื่อทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ล่วงหน้า รวมถึงการหยุดแนะนำแอปพลิเคชันประเภทนี้ใน APP Market ด้วย
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ม.ค. พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ เปิดเผยว่า ตามปกติเมื่อผู้ผลิตมือถือจะนำมือถือทุกรุ่นเข้ามาจำหน่าย ต้องขออนุญาตสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิค คือ มีอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้หรือไม่ และคลื่นความถี่มีการรบกวนคลื่นหรืออุปกรณ์อื่นๆ หรือไม่ ก่อนจะวางขายได้ แต่ไม่ได้มีการตรวจดูเรื่องซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันที่ลงเครื่อง อย่างไรก็ตามได้ประสานไปยังทาง ออปโป้ และเรียลมี แล้วให้หาวิธีทางแก้ไขให้ลูกค้าโดยเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองแบรนด์ก็ได้ออกมาบอกว่าจะเร่งลบและหาวิธีให้ลูกค้าลบแอปออกจากเครื่องเองได้ หรือหากต้องการลบทันทีให้ไปที่ศูนย์บริการของทั้ง 2 แบรนด์
ทั้งนี้เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทางสำนักงาน กสทช. ได้ประสานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าขอบเขตการกำกับดูแลในเรื่องนี้จะมีกฎหมายของหน่วยงานใดจะเข้าไปดูแลตรงนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการติดตั้งลงแอปในมือถือ และไม่เคยเกิดมาก่อน ยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต โดยจะได้นัดประชุมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงแบรนด์มือถือทั้งสอง ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป
“กสทช.จะนัดประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ว่าขอบเขตกฎหมายที่มีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปกำกับดูแลได้หรือไม่ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุแบบนี้ และไม่มีหน่วยงานใดที่ดูแลโดยตรง โดยจะดูว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ สคส. หรือ กฎหมายเกี่ยวกับการเงินของ ธปท. กฎหมายไซเบอร์ของ สกมช. กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ. รวมถึงกฎหมายของ กสทช.จะสามารถใช้มาดูแลตรงส่วนนี้ได้หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก” พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าว
——————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 12 ม.ค.68
Link : https://www.dailynews.co.th/news/4282128/