เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยในการตัดสินใจ คาดการณ์ และพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน จนนำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งผลให้ความต้องการกำลังคนที่มีทักษะด้าน Big Data และ AI เพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดดในทุกอุตสาหกรรม
การเตรียมความพร้อมของกำลังคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างทันท่วงที เพราะขณะนี้หลายองค์กรต่างต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหาบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะทางด้าน Big Data และ AI
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Institute : BDI) กล่าวว่า กำลังคนดิจิทัลที่ไม่เพียงพอกลายเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลก็ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรทักษะเฉพาะทาง ยกตัวอย่างประเทศจีน จากข้อมูลของ IDC (International Data Corporation) พบว่าแม้จะมีการคาดการณ์เงินลงทุนในเทคโนโลยี AI กว่า 38,100 ล้านดอลลาร์ แต่จีนยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การแพทย์ ชีวเคมี การบินและอวกาศ เป็นต้น
ส่วนอินเดียจากข้อมูลของ Bloomberg พบว่ามีความต้องการวิศวกรด้าน AI และเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มอีกกว่า 1,000,000 ตำแหน่ง เนื่องจากพบว่าวิศวกรจบใหม่ในอินเดียสามารถเข้ามาเติมตำแหน่งด้านเทคโนโลยีที่ว่างอยู่ได้เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ส่วนที่แคนาดาซึ่งขาดแคลนแรงงานดิจิทัลต่อเนื่อง รัฐบาลได้ประกาศโครงการ Digital Nomad Strategy เพื่อดึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกเข้ามาเสริมทัพ
ย้อนกลับมาที่สถานการณ์แรงงานดิจิทัลในไทยที่ยังคงขาดแคลนเช่นกัน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเมื่อปี 2567 เผยว่า ไทยต้องการกำลังแรงงานด้านดิจิทัลมากกว่า 140,000 คน โดยมีผู้ประกอบการในสาขาดิจิทัลมากกว่า 13,000 ราย ที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านวิศวกรซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล, นักพัฒนา AI, ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์, ผู้พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น
นอกจากการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลของไทยแล้ว ยังพบว่าบุคลากรในหลายหน่วยงานยังขาดความเข้าใจในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ให้เป็นประโยชน์ ทั้งการนำข้อมูลที่มีอยู่มาบริหารจัดการ วิเคราะห์
ดังนั้น 1 ในแผนโรดแม็ปของการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) พ.ศ.2568-2570 ของ BDI ในฐานะองค์กรหลักในการส่งเสริมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน Big Data และ AI คือการพัฒนากำลังคน เสริมสร้างขีดความสามารถด้านข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ (Manpower in Big Data and AI) โดยเฉพาะทักษะด้าน Data Science, Data Engineering และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ต้องการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ได้มากกว่า 30,000 คน ภายในปี 2570
————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 ม.ค. 68
Link : https://www.thairath.co.th/news/tech/2838148#google_vignette