เชื่อว่าทุกท่านคุ้นเคยกับเทคโนโลยี จดจำใบหน้า หรือ สแกนใบหน้า ไม่มากก็น้อย หลายประเทศเริ่มนำระบบนี้มารักษาความปลอดภัย แต่นำมาสู่การตั้งคำถามด้านความปลอดภัยเช่นกัน
ปัจจุบัน การสแกนใบหน้า หรือ จดจำใบหน้า เป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั่วไป ในไทยก็มีการใช้งานอย่างแพร่หลายสำหรับยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชันทางการเงินไปจนภาครัฐ ทั้งยังมีการใช้สำหรับตรวจสอบผู้ใช้งานและปลดล็อกสมาร์ทโฟน การสแกนใบหน้าจึงเป็นระบบยืนยันตัวตนที่ได้รับความน่าเชื่อถืออย่างกว้างขวาง
แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อระบบสแกนใบหน้าถูกนำมาใช้ในการค้นหาและรับมืออาชญากร
การสแกนใบหน้าที่ใช้สำหรับยืนยันและจับตัวผู้ต้องหา
แนวคิดนี้ได้รับการนำไปใช้งานโดย ตำรวจนครบาลในลอนดอน กับการทดลองนำการเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ในการรับมืออาชญากร โดยการนำรถตู้ติดตั้งกล้องความคมชัดสูงไปจอดไว้ในตำแหน่งที่กำหนด จากนั้นจึงทำการสแกนใบหน้าของผู้คนแบบเรียลไทม์ จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้กว่า 500 ราย
ระบบจะเริ่มจากการใช้กล้องความละเอียดสูงเก็บข้อมูลใบหน้าของคนที่สัญจรไปมาบนท้องถนน มาเปรียบเทียบอัตลักษณ์ผ่านอัลกอริทึม AI จดจำใบหน้า แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของรายชื่อที่ได้รับการเฝ้าระวัง และทำการแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบข้อมูลที่ตรงกัน
ทางกรมตำรวจนครบาลลอนดอนกล่าวว่า พวกเขาบุกเบิกในการนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ตรวจสอบอาชญากร ช่วยให้ลอนดอนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบสามารถคัดกรองและตรวจจับผู้กระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลลัพธ์จากการทดสอบการใช้งานระบบสแกนใบหน้าดังกล่าว ช่วยให้ทางตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 540 ครั้ง ในจำนวนนี้กว่า 50 ครั้ง เป็นอาชญากรที่มีความผิดร้ายแรง ทั้งความรุนแรงต่อเด็กและสตรี การทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว และล่วงละเมิดทางเพศ โดยหลังเสร็จสิ้นการตรวจสอบหากไม่ตรงกับฐานข้อมูลใบหน้าจะถูกลบจากระบบทันที
ในทางหนึ่งนี่จึงเป็นเครื่องมือยับยั้งอาชญากรรมที่ช่วยปกป้องชุมชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อกังขาและอันตรายจากการจดจำใบหน้า
ในสายตาของหลายท่านการใช้งานระบบสแกนใบหน้าในการรับมืออาชญากรรมอาจไม่แปลกใหม่ สามารถพบเห็นได้ตามสื่อบันเทิง บางประเทศไม่เพียงใช้สำหรับยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลและความสะดวกของผู้ใช้งาน แต่มีการนำไปใช้รักษาความปลอดภัยสาธารณะอย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นคือประเทศจีน
จีนมีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมาย ป้องกันอาชญากรรม ไปจนการใช้งานในชีวิตประจำวันครอบคลุมหลายภาคส่วนของประเทศ แม้จะมอบความสะดวกสบายแต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามเช่นกัน
อันดับแรกคือ ข้อกังขาในด้านความแม่นยำ แม้อัลกอริทึมประมวลผลข้อมูลใบหน้าจะได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะจนมีความแม่นยำสูง แต่อาจเกิดการผิดพลาดในกรณีแสงน้อยหรือภาพไม่ชัดเจนพอ ในกรณีเกิดข้อผิดพลาดอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและการถูกใส่ความ จนอาจส่งผลกระทบต่อผู้ระบุตัวตนผิด
ข้อกังวลต่อมา คือ การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลใบหน้าจัดเป็นข้อมูลส่วนตัวที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อน ไม่ต่างจากการเก็บข้อมูลลายนิ้วมือ การเก็บข้อมูลใบหน้านำไปสแกนเปรียบเทียบฐานข้อมูลนี้ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล
การที่ภาครัฐนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้งานเป็นวงกว้างยังนำไปสู่ประเด็นมากมาย การเก็บข้อมูลนี้ละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บางประเทศก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับการเก็บข้อมูลในส่วนนี้ สร้างความไม่สบายใจและหวาดระแวงแก่คนในสังคม อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้ยังถูกนำไปใช้ติดตามสอดแนมผู้ขัดแย้งกับรัฐบาลได้
ตบท้ายด้วยความปลอดภัยของข้อมูล การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข่าวที่เราพบเห็นได้ทั่วไป อีกทั้งข้อมูลใบหน้าเป็นสิ่งที่มีติดตัวตั้งแต่เกิดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในเวลาอันสั้น หากถูกขโมยข้อมูลไปใช้งานอาจนำไปสู่อันตรายมากมาย ทั้งการหลอกลวงระบบสแกนใบหน้า หรืออาจนำไปใช้กับคนรอบข้างเพื่อนำไปสู่การหลอกลวงในลำดับต่อไป
ด้วยเหตุนี้แม้จะมีการใช้งานในหลายประเทศ แต่การใช้ระบบจดจำใบหน้าในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะจึงยังถูกตั้งคำถามและคัดค้านอย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทยการสแกนใบหน้าถือเป็นการเก็บข้อมูลที่ใช้ยืนยันตัวตนในหน่วยงานราชการหรือธนาคาพาณิชย์ อย่างไรก็ตามข้อมูลส่วนนี้จัดเป็นข้อมูลชีวภาพที่มีความอ่อนไหว ภาคธุรกิจจะไม่สามารถรวบรวมหรือนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ หากไม่มีการยินยอมอย่างชัดแจ้งจากเจ้าของข้อมูล
ล่าสุดประเทศจีนที่มีการใช้เทคโนโลยีนี้แพร่หลาย ก็มีการยกร่างกฎหมายเพื่อจำกัดการสแกนใบหน้าแล้วเช่นกัน
ที่มา
https://techxplore.com/news/2024-12-london-police-facial-recognition-tech.html
https://scbtechx.io/th/blogs/product/is-face-recognition-really-a-safe-technology/
https://mgronline.com/china/detail/9620000117043
https://www.thaipbs.or.th/now/content/235
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 9 ม.ค.68
Link : https://www.posttoday.com/ai-today/717906