ผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพจากเหตุเครื่องบินตกเผย เรื่องของที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดเป็นเพียงความเชื่อผิด ๆ แต่มีที่นั่งที่ทำให้หลบหนีออกมาได้เร็วที่สุด
ทุกครั้งที่มีข่าวโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับเครื่องบิน สิ่งที่มักถูกพูดถึงคือ “ที่นั่งตรงไหนของเครื่องบินปลอดภัยที่สุด”
ในปี 2015 นักข่าวของนิตยสาร TIME เขียนว่า พวกเขาได้ศึกษาบันทึกเหตุการณ์เครื่องบินตกในสหรัฐฯ ทั้งหมดที่มีผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตตั้งแต่ปี 1985 ถึง 2000
จากการวิเคราะห์พบว่า ที่นั่งในห้องโดยสารตอนหลังหรือท้ายเครื่องบินบริเวณหาง มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวม 32% เมื่อเทียบกับที่นั่งในห้องโดยสารตอนหน้ามีอัตราการเสียชีวิต 38% และที่นั่งในห้องโดยสารตอนกลางมีอัตราการเสียชีวิต 39%
ผู้เชี่ยวชาญเผย ไม่มีที่นั่งที่ปลอดภัยสุดเวลาเครื่องบินตก
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในการบินกล่าวว่า นั่นเป็นเพียง “ความเชื่อผิด ๆ เท่านั้น”
เอ็ด กาเลีย ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมความปลอดภัยจากอัคคีภัย มหาวิทยาลัยกรีนิช ลอนดอน ซึ่งทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการอพยพผู้ประสบเหตุเครื่องบินตก เตือนว่า “ไม่มีที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดอย่างแน่นอน”
เขาบอกว่า “ขึ้นอยู่กับลักษณะของอุบัติเหตุที่คุณประสบ บางครั้งที่นั่งด้านหน้าอาจจะดีกว่า บางครั้งที่นั่งด้านหลังอาจจะดีกว่า”
อย่างไรก็ตาม กาเลียกล่าวว่า ระหว่างที่นั่งที่มีโอกาสรอดจากการกระแทกครั้งแรกได้ดีที่สุด กับที่นั่งที่ช่วยให้คุณออกจากเครื่องบินได้อย่างรวดเร็ว “ควรเลือกที่นั่งแบบหลัง”
กาเลียบอกว่า ข่าวดีประการแรกก็คือ “อุบัติเหตุทางเครื่องบินส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ ‘สามารถรอดชีวิตได้’ และคนส่วนใหญ่ที่ประสบอุบัติเหตุก็รอดชีวิต” โดยตั้งแต่ปี 1988 เครื่องบินและที่นั่งภายในเครื่องบินจะต้องสร้างขึ้นให้ทนต่อแรงกระแทกได้ถึง 16G หรือหรือ 16 เท่าของแรงโน้มถ่วงโลก G
นั่นหมายความว่า ในเหตุการณ์ส่วนใหญ่ “คนบนเครื่องบินจะสามารถรอดชีวิตจากแรงกระแทกได้”
ตัวอย่างเช่น กาเลียบอกว่า เหตุการณ์ช่วงแรกของสายการบินเจจูแอร์ (Jeju Air) เป็นเหตุการณ์ที่รอดชีวิตได้ โดยเครื่องบินพยายามลงจอดบนพื้นรันเวย์โดยที่ล้อไม่กาง “หากเครื่องบินไม่พุ่งชนสิ่งกีดขวางคอนกรีตเสริมเหล็กที่ปลายรันเวย์ ก็เป็นไปได้มากทีเดียวที่คนส่วนใหญ่หรือทุกคนจะรอดชีวิต”
ในทางกลับกัน เขาจัดให้เหตุการณ์เครื่องบินตกของสายการบินอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan Airlines) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2024 เป็นอุบัติเหตุที่รอดชีวิตได้ยาก และสมควรเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ปาฏิหาริย์” ที่มีผู้รอดชีวิต
และด้วยเครื่องบินสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นให้ทนทานต่อแรงกระแทกและชะลอการลุกลามของไฟ กาเลียจึงคาดการณ์ว่า โอกาสที่จะรอดชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีโอกาสรอดนั้นมีสุงถึง 90% เลยทีเดียว
เขากล่าวว่าสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างชีวิตและความตายในอุบัติเหตุสมัยใหม่ส่วนใหญ่คือ “ความเร็วในการอพยพผู้โดยสาร”
ปัจจุบันเครื่องบินต้องสามารถอพยพคนบนเครื่องได้ภายใน 90 วินาทีจึงจะได้รับการรับรองให้ผ่านมาตรฐาน แต่การอพยพตามทฤษฎีซึ่งปฏิบัติกับอาสาสมัครที่ศูนย์ทดสอบนั้นแตกต่างอย่างมากจากความเป็นจริงที่ผู้โดยสารมักตื่นตระหนกบนเครื่องบินที่เพิ่งลงจอดฉุกเฉิน
กาเลียซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพ ได้ทำการวิจัยให้กับสำนักงานการบินพลเรือนของสหราชอาณาจักร (CAA) โดยศึกษาว่า ผู้โดยสารและลูกเรือมีพฤติกรรมอย่างไรในระหว่างการอพยพหลังเกิดเหตุเครื่องบินตก แทนที่จะพิจารณาที่เหตุการณ์เครื่องบินตกเอง
โดยจากการรวบรวมข้อมูลจากผู้โดยสาร 1,917 คนและลูกเรือ 155 คนที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ 105 ครั้งตั้งแต่ปี 1977 ถึงปี 1999 ทีมวิจัยของเขาได้สร้างฐานข้อมูลพฤติกรรมของมนุษย์เกี่ยวกับเหตุการณ์เครื่องบินตก
การวิเคราะห์ของเขาพบว่า “ก่อนการศึกษาของเรา เชื่อกันว่า ผู้โดยสารมีแนวโน้มที่จะใช้ทางออกขึ้นเครื่องในการหนีมากที่สุด เพราะเป็นทางออกที่คุ้นเคยที่สุด และผู้โดยสารมีแนวโน้มที่จะเดินไปข้างหน้า แต่การวิเคราะห์ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่า ไม่มีหลักฐานใดมาสนับสนุนความเชื่อนี้เลย”
ในทางกลับกัน การวิจัยของกาเลียแสดงให้เห็นว่า ผู้โดยสารที่นั่งภายใน 5 แถวจากทางออกฉุกเฉินไม่ว่าในส่วนใดของเครื่องบินมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้โดยสารที่นั่งริมทางเดินมีโอกาสอพยพได้อย่างปลอดภัยมากกว่าผู้โดยสารที่นั่งตรงกลางและติดหน้าต่าง เนื่องจากมีคนขวางน้อยกว่าในการไปทางออก
“สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ ในอุบัติเหตุทางการบิน ทุกวินาทีมีค่า ทุกวินาทีสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างชีวิตและความตายได้” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า ระยะห่างจากทางออกฉุกเฉินมีความสำคัญมากกว่าพื้นที่ของเครื่องบิน
แน่นอนว่าทางออกทุกทางไม่น่าจะใช้งานได้ในทุกเหตุการณ์ เช่น เมื่อเที่ยวบิน 516 ของสายการบิน Japan Airlines ชนเครื่องบินของหน่วยยามชายฝั่งที่สนามบินฮาเนดะเมื่อเดือน ม.ค. 2024 ปรากฏว่าสไลด์อพยพใช้งานได้เพียง 3 ตัวจาก 8 ตัวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมที่ดีเยี่ยมของลูกเรือและผู้โดยสารที่อพยพได้ทันท่วงที ทำให้ผู้โดยสารทั้ง 379 คนบนเครื่องบินแอร์บัส A350 รอดชีวิตได้ทั้งหมด
กาเลียยังบอกอีกว่า นอกจากการเลือกที่นั่งแล้ว ยังมีหลายอย่างที่เราทำได้บนเครื่องบินเพื่อให้เรามีโอกาสรอดชีวิตสูงสุดจากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
“โอกาสมักเอื้อต่อจิตใจที่เตรียมพร้อม หากคุณรู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อเพิ่มโอกาสรอกชีวิต คุณจะมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น” กาเลียกล่าว
เขาบอกว่า แม้ว่าคุณจะเป็นผู้โดยสารประจำก็ตาม การฟังคำแนะนำก่อนขึ้นเครื่องบินจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และทำความเข้าใจจริง ๆ ว่าเข็มขัดนิรภัยทำงานอย่างไรถือเป็นสิ่งสำคัญ
“เชื่อหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ผู้คนมีปัญหามากที่สุดในเหตุการณ์เครื่องบินตก ก็คือการปลดเข็มขัดนิรภัย คุณกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่อาจถึงชีวิตและความตายได้ และสมองของคุณก็จะเข้าสู่โหมดอัตโนมัติ ประสบการณ์การคาดเข็มขัดนิรภัยของคนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรถยนต์ ซึ่งคุณจะกดปุ่มแทนที่จะดึงสลัก ผู้คนจำนวนมากที่เราสัมภาษณ์ ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตก มีปัญหาในการปลดเข็มขัดนิรภัยในช่วงแรก ดังนั้นการใส่ใจกับการบรรยายสรุปก่อนบินจึงมีความสำคัญ คำแนะนำทั้งหมดนั้นมีค่ามาก” กาเลียบอก
นอกจากนี้ เขายังแนะนำให้ศึกษาโบรชัวร์คำแนะนำการอพยพในกระเป๋าที่นั่งของคุณอย่างละเอียด และหากคุณนั่งอยู่ที่ทางออกฉุกเฉิน ให้สังเกตอย่างตั้งใจว่า คุณจะเปิดมันอย่างไร
“ทางออกเหนือปีกเครื่องบินนั้นค่อนข้างหนักและอาจจะตกลงมาทับคุณได้ ผมได้สัมภาษณ์คนคนหนึ่งบนเครื่องบินที่ลงจอดบนแม่น้ำฮัดสัน เที่ยวบิน 1549 ของสายการบินยูเอสแอร์เวย์ส เมื่อปี 2009 เขานั่งอยู่ที่ทางออกเหนือปีกเครื่องบินและไม่ได้สนใจ ขณะที่เครื่องบินกำลังตก เขาก็หยิบป้ายออกมาและศึกษามัน เขาเป็นวิศวกร จึงสามารถหาคำตอบได้ แต่ผมคิดว่าคนทั่วไปหากไม่เคยสนใจที่จะอ่านป้ายมาก่อนก็คงจะไม่รู้” กาเลียกล่าว
เขายังแนะนำว่า ควรสวมรองเท้าไว้เมื่อเครื่องบินเริ่มลดระดับลง และหากเดินทางเป็นครอบครัวหรือเดินทางกับคนอื่น ๆ ให้จองให้ได้ที่นั่งด้วยกันให้ได้ แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มก็ตาม เพราะในกรณีฉุกเฉิน การอยู่ห่างกันจะทำให้คุณช้าลง เนื่องจากจะมัวแต่ห่วงหน้าพะวงหลัง
และไม่ว่าคุณจะนั่งที่ใด ให้ลองนับจำนวนแถวระหว่างคุณกับทางออกฉุกเฉิน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้วยวิธีนี้ หากห้องโดยสารเต็มไปด้วยควัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตหลักของอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปัจจุบัน คุณก็ยังสามารถคลำทางไปยังทางออกที่ใกล้ที่สุดได้ และยังมีทางออกสำรองหากทางออกที่ใกล้คุณที่สุดถูกปิดกั้น
กาเลียกล่าวชื่นชมผู้โดยสารที่ตั้งใจฟังคำแนะนำของลูกเรือก่อนขึ้นบิน และศึกษาบัตรอพยพและประตูทางออกก่อนเครื่องขึ้นบินว่า “ผู้คนคิดว่าคุณเป็นคนบ้า แต่โอกาสมักเป็นของคนที่เตรียมพร้อม หากคุณไม่เตรียมตัว มีแนวโน้มสูงมากที่ทุกอย่างจะเลวร้าย”
เขาเสริมว่า “ผู้คนมักมองโลกในแง่ร้าย พวกเขาคิดว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินขึ้นมาทุกอย่างก็จบแค่นั้น ดังนั้นพวกเขาจึงคิดว่าไม่ต้องสนใจหรอก เพราะทุกคนจะต้องตาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง จงจำไว้ว่าทุกวินาทีมีค่า”
เรียบเรียงจาก CNN
————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 5 ม.ค.68
Link : https://shorturl.at/YUsFd