เชื่อว่าหลายท่านคงสวมใส่และใช้งานสมาร์ทวอชในชีวิตประจำวัน จากการตรวจข้อมูลสุขภาพและคุณภาพการนอนหลับแบบเรียลไทม์ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าสมาร์ทวอชสามารถตรวจสอบอาการโรคจิตเวช
ปัจจุบันสมาร์ทวอชเป็นอุปกรณ์อีกชนิดที่ได้รับความนิยมในการใช้งานกันทั่วไป จากคุณสมบัติเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน รับสาย ดูข้อมูล ควบคุมอุปกรณ์อัจฉริยะ แต่ส่วนที่โดดเด่นและได้รับความนิยมสูงสุด คงเป็นการติดตามข้อมูลการออกกำลังกายและข้อมูลสุขภาพต่างๆ
แต่เรากำลังจะล้ำไปอีกขั้นเมื่อสมาร์ทวอชช่วยตรวจจับอาการของโรคจิตเวชแก่ผู้ใช้งาน
เมื่อสมาร์ทวอชคาดการณ์อาการไบโพลาร์
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Brigham and Women’s Hospital (BWH) กับแนวคิดในการนำข้อมูลสุขภาพที่ได้รับการตรวจสอบผ่านสมาร์ทวอช มาใช้คาดการณ์การกำเริบของโรคจิตเวชอย่างไบโพลาร์ เพื่อช่วยแจ้งเตือนแก่ผู้ป่วยให้เตรียมพร้อมและเข้ารับการรักษาทันท่วงที
โดยพื้นฐาน โรคไบโพลาร์ เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วยอย่างฉับพลัน โดยจะมีช่วงเวลาที่ร่าเริงอารมณ์ดีสลับกับความรู้สึกซึมเศร้าต่อเนื่อง เป็นความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยภายในนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ จนอาจส่งผลต่อหน้าที่การงานและใช้ชีวิตประจำวัน
ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาอัลกอริทึมชุดใหม่สำหรับตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ โดยการป้อนข้อมูลสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วยไบโพลาร์จำนวน 54 คนเป็นกลุ่มตัวอย่าง ตั้งแต่จำนวนก้าวเดิน ระยะเวลาที่เคลื่อนไหว ระยะเวลาที่สงบ อัตราการเต้นหัวใจ ระยะเวลาและคุณภาพการนอน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่อาการกำเริบ
อัลกอริทึมที่ได้รับการพัฒนานี้ช่วยให้ระบบสามารถคาดการณ์การกำเริบของไบโพลาร์ และความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ โดยสามารถตรวจจับอารมณ์ร่าเริงได้ถึง 89.1% และมีอัตราการตรวจจับซึมเศร้าอยู่ที่ 80.1% เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแจ้งเตือนและวินิจฉัยโรค
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยแจ้งเตือนผู้ป่วยให้รับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อทำการวินิจฉัยโรคและรักษาเป็นลำดับต่อไป
อนาคตที่โรคจิตเวชจะถูกประเมินผ่านสมาร์ทวอช
สำหรับท่านที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอาจทราบว่า อุปกรณ์คาดการณ์การกำเริบของโรคจิตเวชไม่ใช่ของใหม่แต่ได้รับการพูดถึงเป็นเวลานาน เช่น ระบบตรวจจับน้ำเสียงผ่านโทรศัพท์เพื่อประเมินสภาพอารมณ์ หรืออุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะในรูปแบบเสื้อผ้าที่ใช้ในการตรวจวัดค่าบ่งชี้ทางสุขภาพอื่นๆ
ข้อจำกัดของอุปกรณ์เหล่านั้นคือ การเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาลที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว การตรวจจับน้ำเสียงต้องอาศัยสายสนทนาที่ถูกเก็บรวบรวมจนอาจทำให้ข้อมูลการสนทนารั่วไหล เช่นเดียวกับอุปกรณ์อัจฉริยะชนิดอื่นที่ต้องไปหาซื้อมาสวมใส่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเรียนรู้วิธีใช้งานเพิ่มเติมจนอาจเกิดความรู้สึกยุ่งยาก
แตกต่างจากอัลกอริทึมของทีมวิจัยที่อาศัยอุปกรณ์ที่มีใช้งานทั่วไปอย่างสมาร์ทวอช ข้อมูลสุขภาพที่ใช้ในการประเมินมีเพียงอัตราการเต้นหัวใจ จำนวนนาทีที่เคลื่อนไหว ประสิทธิภาพการนอนหลับ ระยะเวลาในการหลับลึก ไปจนระยะเวลานอนโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมผ่านสมาร์ทวอชในปัจจุบัน
เดิมไบโพลาร์สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็ว แบ่งเป็นอารมณ์ร่าเริงและซึมเศร้าที่มากกว่าปกติ แต่ละครั้งเมื่อเกิดการกำเริบจะกินเวลาราว 7 – 14 วัน ผู้ป่วยมีอัตราการกำเริบและคงสถานะอารมณ์นั้นๆ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 4 ครั้ง/ปี หลายครั้งผู้ป่วยจึงประสบปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างรุนแรง
ด้วยระบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยไบโพลาร์รับรู้ความผิดปกติทางอารมณ์จากการเจ็บป่วยได้รวดเร็ว ทำให้สามารถเข้ารับการดูแลรักษาหรือรับประทานยาได้ตรงจุด ลดความแปรปรวนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและความสัมพันธ์ส่วนตัว ลดโอกาสใช้จ่ายเงินเกินตัวในช่วงเวลาร่าเริง และป้องกันพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นที่อาจทำร้ายตัวเองต่อไป
แน่นอนเป้าหมายของทีมวิจัยไม่ได้จบลงเพียงใช้อัลกอริทึมนี้ในการวินิจฉัยอาการไบโพลาร์เท่านั้น พวกเขาตั้งเป้าจะพัฒนาให้ระบบสามารถตรวจจับอาการจิตเวชที่ส่งผลต่ออารมณ์อื่นๆ เช่น ซึมเศร้าขั้นรุนแรง พร้อมส่งแจ้งเตือนไปยังแพทย์เจ้าของไข้เมื่อเกิดอาการกำเริบ เพื่อการเข้าบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที
ในอนาคตนี่จึงอาจเป็นแนวทางสำหรับผู้ป่วยที่จะช่วยลดผลกระทบเชิงลบจากโรคจิตเวชได้ในระยะยาว
ที่มา
https://www.eurekalert.org/news-releases/1066040
https://newatlas.com/mental-health/fitbit-machine-learning-bipolar-mood-episodes/
—————————————————————————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 1 ม.ค.68
Link : https://www.posttoday.com/smart-life/717304