ลูกต่างด้าวเกิดในไทย แห่ขอสัญชาติ 1.1 แสนคน “เต้ อาชีวะ” เผยปัญหาตามมาเพียบ ได้สัญชาติแล้วยังข้ามไปช่วยกลุ่มชาติพันธุ์สู้รบในพม่า บ้างใช้สัญชาติไทยหาประโยชน์ โดยรับจ้างรับรองบุตรให้ต่างด้าว พบผู้ชายคนเดียวจดเป็นพ่อเด็กพม่านับร้อยราย บ้างเหิม เดินสายร้องเรียนข่มขู่เจ้าหน้าที่ กดดันขอสัญชาติ ยื่นเอกสารเท็จไม่เกรงกลัวกฎหมาย ด้าน “พล.ท.นันทเดช” แนะเพิ่มเกณฑ์พิจารณาให้เข้มงวดยิ่งขึ้น กรณีพ่อแม่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ลูกไม่มีสิทธิขอสัญชาติ
เป็นที่น่าวิตกอย่างมากสำหรับกรณีการให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย โดยอาศัยมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ซึ่งหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ใหม่ ลดขั้นตอนการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทยและบุตรของต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย รวม 483,000 คน โดยในจำนวนนี้มีลูกของต่างด้าวที่เกิดในไทยถึง 113,000 คน ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าลูกของต่างด้าวเหล่านี้เมื่อได้สัญชาติไปแล้วจะมีความรักชาติ หวงแหนแผ่นดินไทย และมีใจที่อยากจะพัฒนาประเทศชาติเหมือนกับเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นคนไทยหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีหลายกรณีที่เมื่อได้สัญชาติไปแล้วไม่เพียงแต่สามารถรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับคนไทย แต่กลับนำสิทธิในสัญชาติไทยที่ได้ไปสร้างปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้คนไทย และบางกรณีถึงขั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง
ส่วนว่าหลักเกณฑ์ในการขอสัญชาติไทยของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร การให้สัญชาติมีผลกระทบอะไรต่อสังคมไทยยังไงบ้าง และจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่ คงต้องไปไล่เรียงกัน
หลักเกณฑ์การได้สัญชาติ
ทั้งนี้ บุตรของต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยไทยซึ่งมีสิทธิได้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2559 นั้นมี 2 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.บุตรหลานของคนต่างด้าวที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้และได้อยู่อาศัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี และ 2.บุตรหลานของคนต่างด้าวอื่นๆ ที่เรียนจบชั้นปริญญาตรี
โดยหลักเกณฑ์คร่าวๆ ของผู้ที่มีสิทธิขอสัญชาติไทยคือ
(1) มีหลักฐานแสดงว่าเกิดในราชอาณาจักรไทย ได้แก่ สูติบัตร ทะเบียนการเกิด หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิด และต้องมีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแล้วแต่กรณี
(2) ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
(3) พูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้
(4) มีความจงรักภักดีและเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
(5) มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และถ้าเคยรับโทษอาญา ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ
โดยสำหรับ “กลุ่มที่เป็นบุตรหลานของคนต่างด้าวที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้และได้อยู่อาศัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี” นั้นต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติม คือ บิดาหรือมารดาที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรและอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ต้องมีหรือเคยมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนประวัติ หรือเอกสารการทะเบียนราษฎร มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และต้องเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าปี นับถึงวันที่บุตรยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียนเพื่อขอมีสัญชาติไทย
ส่วน “กลุ่มบุตรหลานของคนต่างด้าวอื่นๆ ที่เรียนจบชั้นปริญญาตรี” นั้น ต้องมีหลักฐานแสดงว่าจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า จากสถาบันการศึกษาในราชอาณาจักรซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เรียนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือเทียบเท่าจากสถาบันในต่างประเทศจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐ
“เต้ อาชีวะ” หรือนายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ ประธานกลุ่มอาชีวะราชภักดี ในฐานะทีม “ไทยไม่ทน”
สารพัดปัญหา
ส่วนปัญหาที่เป็นผลพวงจากการให้สัญชาติแก่บุตรของคนต่างด้าวนั้นถือว่ามีไม่น้อยทีเดียว
“เต้ อาชีวะ” หรือนายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ ประธานกลุ่มอาชีวะราชภักดี ในฐานะทีม “ไทยไม่ทน” ซึ่งติดตามปัญหาแรงงานต่างด้าวและการให้สัญชาติแก่บุตรของคนต่างด้าวมายาวนาน เปิดเผยว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดคือปัญหาด้านความมั่นคง เนื่องจากลูกของคนต่างด้าวนั้นแม้จะเกิดในไทยแต่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ซึ่งไม่ใช่คนไทย และไม่ได้ปลูกฝังให้ลูกรักประเทศไทย เด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นแม้จะได้รับสัญชาติไทย แต่เขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเขาเป็นคนไทย ไม่ได้มีความรู้สึกรักและหวงแหนแผ่นดินไทย เขาจะคิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเองและเชื้อชาติดั้งเดิมของเขา โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย
เช่น กรณีของครอบครัวหนึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ อพยพเข้ามาอยู่ในไทย รุ่นลูกยื่นขอสัญชาติไทยและได้สัญชาติไทยแล้ว แต่ครอบครัวยังเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่พม่าเป็นระยะ จึงมีความผูกพันและรู้สึกว่าตัวเองเป็นไทยใหญ่ซึ่งก็คือพม่า เมื่อเกิดเหตุสู้รบระหว่างไทยใหญ่กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพม่าหรือสู้รบกับรัฐบาลทหารพม่า รุ่นลูกที่ได้สัญชาติไทยข้ามไปช่วยไทยใหญ่รบ ซึ่งการกระทำลักษณะนี้เท่ากับไทยมีส่วนเข้าไปสู้รบในพม่า และแน่นอนว่ามันกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออีกกรณีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยชายคนหนึ่งชื่อ “ปานจิ้ง ลุงมะ” พ่อกับแม่เป็นคนไทยใหญ่และถือสัญชาติพม่า เข้ามาอาศัยอยู่ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ส่วนตัวเขามีชื่อในทะเบียนบ้านหลังหนึ่งในประเทศไทยในฐานะผู้อาศัย ไม่รู้ว่าเกิดวันที่เท่าไหร่ ไม่มีเอกสารรับรองการเกิด ต่อมาเขาทำเรื่องขอสัญชาติและได้สัญชาติไทย แต่ปัญหาที่ตามมาคือนายปานจิ้ง ซึ่งปัจจุบันอายุ 55 ปี ได้นำสัญชาติไทยและบัตรประชาชนไทยที่ได้รับไปหาผลประโยชน์ โดยเขาไปทำเรื่องรับรองบุตรให้แก่ลูกของผู้หญิงชาวพม่านับร้อยคน ทั้งที่เขาไม่ได้พ่อของเด็กและไม่ได้รู้จักกับผู้หญิงเหล่านี้มาก่อน จึงเชื่อว่าเขาน่าจะได้รับค่าตอบแทนจากการรับจ้างรับรองบุตรเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้สัญชาติไทย
“จากการตรวจสอบพบว่าผู้หญิงชาวพม่าที่นายปานจิ้งไปให้การรับรองบุตรนั้นต่างมีสามีอยู่แล้ว และนายปานจิ้งไม่ได้รู้กับผู้หญิงเหล่านั้นมาก่อน เท่ากับว่าผู้ชายคนนี้นำสัญชาติไทยที่ได้รับไปหาประโยชน์ เอาบัตรประชาชนไทยไปหากิน และมีเด็กกว่าร้อยคนที่ปานจิ้งไปทำเรื่องรับรองบุตรให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการเข้ามาได้รับบัตรประชาชนไทยแล้วนำไปก่อเหตุ ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง นายปานจิ้งมีความผิดแน่ฐานให้การเท็จและแจ้งเท็จ ติดคุกแน่นอน” เต้ อาชีวะ ระบุ
นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่บุตรของชาวพม่าซึ่งอ้างว่าเกิดในประเทศไทยได้ไปยื่นเรื่องขอสัญชาติที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และขอออกบัตรประชาชนคนไทย โดยใช้เงื่อนไขการยื่นขอสัญชาติของบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรไทยของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (คนต่างด้าว) แต่เมื่อทางอำเภอดำเนินการตรวจสอบเอกสารกลับพบความผิดปกติคือไม่มีใบเกิด มีแค่หนังสือรับรองการเกิดของโรงพยาบาล และข้อพิรุธตรงปีเกิดที่ระบุ เนื่องจากจริงๆ แล้วในปีดังกล่าวประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำระบบทะเบียนต่างด้าวเลข 13 หลัก แต่เอกสารที่ยื่นขอสัญชาติกลับระบุเลข 13 หลักดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปลอมแปลงเอกสารเกิดขึ้น
เจ้าหน้าที่จึงเชิญเจ้าตัวมาชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ปรากฏว่าบุคคลไร้สัญชาติดังกล่าวไม่ยอมมาชี้แจง เมื่อเลยกำหนดเวลาเจ้าตัวกลับโทร.ไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องการขอสัญชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการให้ได้เนื่องจากยังไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ แต่แทนที่ผู้ยื่นขอสัญชาติจะเคลียร์เรื่องเอกสารให้ถูกต้องกลับไปยื่นร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการให้ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับความเสื่อมเสีย พร้อมทั้งข่มขู่ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐโดยอาศัยนักกฎหมายและทนายความจากองค์กรเอ็นจีโอ นำไปสู่การต่อสู้ทางคดี นอกจากนั้น ยังมีข่าวว่าชาวพม่าจะรวมตัวกันประท้วงกดดันให้ทางอำเภอเดินเรื่องให้สัญชาติแก่บุคคลไร้สัญชาติดังกล่าว แต่ที่สุดผู้ยื่นขอสัญชาติใช้วิธีให้ทนายขององค์กรเอ็นจีโอมาเจรจากดดันแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก
“พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์” อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.)
แนะต้องรักษาสิทธิคนไทย
ส่วนว่าจะทำอย่างไรให้การให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนต่างด้าวส่งผลกระทบต่อประเทศไทยน้อยที่สุด โดยเฉพาะผลกระทบด้านความมั่นคงนั้น “พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์” อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ให้ความเห็นว่า เนื่องจากการให้สัญชาติแก่บุตรของต่างด้าวที่เกิดในไทยแบบง่ายๆ นั้นจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายมิติ ดังนั้นรัฐควรต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ในการพิจารณาให้สัญชาติ เช่น ทดสอบความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ ต้องบ่งบอกเอกลักษณ์ของชาติไทยให้ได้ครบ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญวันสำคัญต่างๆ เช่น วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และระหว่างที่กำลังศึกษาในสถานศึกษาต้องเคยร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เช่น เป็นจิตอาสา ออกค่ายอาสา หรือเคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ต้องมีเรื่องนี้ประกอบ ไม่ใช่แค่ความเห็นของผู้ใหญ่บ้าน
เราควรให้สัญชาติแก่คนที่มีความรู้สึกว่าเป็นคนไทยเท่านั้น ถ้าเขายังไม่มีความรู้สึกว่าเป็นคนไทยก็ยังไม่ควรได้สัญชาติ อีกทั้งรัฐบาลควรออกกฎเกณฑ์ในการพิจารณาให้สัญชาติไทยให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น หากพบว่าหลบหนีเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย คลอดลูกในไทย แม้จะเข้ามาเป็นแรงงาน ลูกก็ไม่มีสิทธิได้สัญญาติไทย ส่วนกรณีที่ข้าราชการซึ่งเป็นผู้เซ็นรับรองการขอสัญชาติ ถ้าพบว่าข้อมูลที่ใช้ประกอบในการยื่นขอสัญชาติไม่เป็นความจริง ข้าราชการคนนั้นๆ ก็ต้องรับผิดชอบ
“เราต้องรักษาสิทธิของคนไทยทั้งประเทศเพราะการที่จะเพิ่มจำนวนคนไทยขึ้นมาหนึ่งคนมันหมายถึงสวัสดิการต่างๆ ของประเทศที่ต้องแบ่งไปดูแลเขา เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิที่รัฐแจกเป็นครั้งคราว เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท เขาก็ได้ด้วย เป็นสิทธิที่เขามาแย่งคนไทย จริงๆ แล้วประเทศพม่าก็ไม่ได้มีสถานการณ์สู้รบตลอดเวลาจนชาวพม่ากลับไปไม่ได้ เป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราว และไม่ได้มีการสู้รบทุกพื้นที่ ปัจจุบันชาวพม่ายังอยู่ในประเทศพม่าได้ปกติ ดังนั้นการที่จะมาคลอดบุตรในเมืองไทย เพื่อให้ลูกได้สิทธิการรักษาบัตรทอง อยู่จนลูกโต ลูกได้สิทธิเรียนฟรี 15 ปี เมื่อเรียนจบปริญญาตรีก็หาคนรับรองเพื่อให้ได้สัญชาติไทย อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง” พล.ท.นันทเดช กล่าว
————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 ม.ค.68
Link : https://mgronline.com/specialscoop/detail/9680000000513
*************************************************************