ประเด็นเรื่องกู้ภัยเพชรเกษมเข้าไปรับตัวผู้ป่วยทั้งที่ไม่ใช่หน่วยที่ได้รับประสานจาก สพฉ. ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่สะท้อนได้ว่าระบบนี้อาจเป็นช่องโหว่ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาหรือไม่ ขณะที่ สพฉ.เรียกตัวแทนกู้ภัยให้ข้อมูล 6 ม.ค.นี้
กรณีเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิเพชรเกษม สาขากรุงเทพฯ นำอุปกรณ์เข้าไปลำเลียงผู้ป่วยจากคอนโดฯ ย่านพระราม 9 เคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2567 แต่ไม่ได้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดซึ่งห่างจากคอนโดฯ เพียง 1.8 กิโลเมตรและต้องการใช้สิทธิ UCEP ตามที่ญาติแจ้งไว้ แต่พาไปส่งที่โรงพยาบาลย่านทองหล่อ ซึ่งอยู่ห่างจากคอนโดฯ ถึง 5.4 กิโลเมตร และสุดท้ายต้องพาไปส่งโรงพยาบาลตามสิทธิที่ รพ.ราชวิถี ทั้งที่อยู่ห่างจากคอนโดฯ 3.7 กิโลเมตร
นายนิรุต ยุวพรพงศ์กุล อาสามูลนิธิเพชรเกษม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 ม.ค. เน้นย้ำว่า มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และเน้นย้ำว่าไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังโชว์แชทไลน์นี้ให้ทีมข่าวดูและบอกว่า ได้รับแจ้งเหตุทางไลน์กรุ๊ปของกู้ภัยที่มีอยู่แล้ว แม้จะไม่ใช่หน่วยงานที่ลงทะเบียนไว้กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แต่ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ โดยเห็นว่าการช่วยเหลือที่ทันเวลาเป็นสิ่งสำคัญ
แม้ทางกู้ภัยจะยืนยันในเบื้องต้น แต่เรื่องความพร้อมในการให้การช่วยเหลือเนเรื่องสำคัญสำคัญ เพราะรถกู้ภัยตามมาตรฐานจะช่วยเหลือได้ในเคสที่ไม่หนัก เพราะไม่มีเครื่องช่วยชีวิตที่เหมาะสม ส่วนเคสที่ประเมินแล้วว่าอันตราย อาจจำเป็นต้องใช้รถที่สามารถช่วยชีวิตได้ระหว่างที่นำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด้วย ซึ่งรถประเภทนี้เรียกว่า “รถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูง”
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการส่งตัวผู้ป่วยที่อาจมีช่องโหว่ให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะการถึงผู้ป่วยเร็ว ส่งไปโรงพยาบาลได้เร็วที่สุด ก็อาจไม่ได้หมายถึงการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เสมอไป
กระบวนการรับแจ้งเหตุของ สพฉ. หรือการรับเคสผ่านสายด่วน 1669 หลังจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้ง จะสอบถามข้อมูลสำคัญ โดยมีผู้เชี่ยวชาญซักถามข้อมูลอย่างละเอียด ประเมินความหนักเบา ก่อนส่งข้อมูลต่อให้กับหน่วยช่วยเหลือในพื้นที่ อย่างกรณีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีศูนย์เอราวัณดูแล นอกจากการแจ้งผ่านวิทยุสื่อสาร จะมีระบบสารสนเทศแจ้งรายละเอียดไปยังผู้ที่มี Username และ Password โดยเฉพาะ รวมถึงโทรแจ้งควบคู่กันไป
ข้อดีของการแจ้งแบบผ่านระบบสารสนเทศคือรวดเร็วและมีข้อมูลต่างๆ ที่ต้องบันทึกเมื่อจบเคส เช่น เกิดเหตุเวลากี่โมง ออกจากฐานกี่โมง การบันทึกการให้ยา การบันทึกการช่วยเหลือ ซึ่งในอดีตจะใช้วิธีการเขียนด้วยกระดาษเพียงอย่างเดียว ซึ่งระบบนี้จะช่วยลดเวลา คัดกรองเรื่องการเบิกจ่ายเงินของ สพฉ.ได้
แต่ขณะเดียวกันก็มีช่องโหว่ว่าหากใครที่มี Username และ Password จะสามารถเข้าดูได้ หรืออาจส่งต่อข้อมูลไปยังกลุ่มอื่นๆ หรือระบบอื่นๆ ได้ อย่างการส่งข้อมูลไปยังไลน์กลุ่มของกู้ภัย เป็นต้น แม้จะมีข้อดีเรื่องความรวดเร็ว แต่ก็มีผลทำให้ผู้ที่รับทราบข้อมูลสามารถไปถึงตัวผู้ป่วยโดยไม่ได้รับรายละเอียดที่ครบถ้วน เหมือนกับผู้ที่ได้รับการประสานโดยตรง
การได้รับข้อมูลพร้อมๆ กัน เดิมทีกู้ภัยมีข้อตกลงร่วมกันว่า ใครถึงเคสก่อน ก็ดำเนินการช่วยเหลือได้ก่อน แต่ก็มีหลายครั้งที่กู้ภัยเกิดทะเลาะวิวาทกันจนเป็นปัญหากระทบไปถึงการช่วยเหลือผู้ป่วย
สำหรับกรณีญาติผู้ป่วยที่ร้องเรียนไปยัง สพฉ. เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า วันพรุ่งนี้ (6 ม.ค.) จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับฟังข้อมูลจากญาติผู้ป่วยและจะเชิญอาสากู้ภัยเพชรเกษมมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
เบื้องต้น มูลนิธิดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ. ทำให้การช่วยเหลืออาจไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายและไม่มีมาตฐานการดำเนินการช่วยเหลือ แต่จะต้องสอบสวนอีกครั้งว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของหน่วยงานใดบ้าง และประเด็นหนึ่งที่ต้องตรวจสอบคือเรื่องการเข้าถึงข้อมูลการแจ้งของผู้ป่วย
—————————————————————————————————————–
ที่มา : thaipbs / วันที่เผยแพร่ 5 ม.ค.68
Link : https://www.thaipbs.or.th/news/content/347884