สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ สู่โมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอนต้นแบบ
สืบเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมขับเคลื่อนกับประชาคมโลก และแสดงเจตจำนงในการประชุม COP26 ในการยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ในปี พ.ศ.2573 ด้วยการสนับสนุนด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน และการเสริมศักยภาพผ่านการมีส่วนร่วมจากต่างประเทศอย่างกว้างขวางพร้อมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2573 และปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ.2608
ด้วยจังหวัดสระบุรี เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง แต่ด้วยโลกปัจจุบันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง หลายภาคส่วนในจังหวัดสระบุรี ไม่น้อยกว่า 23 หน่วยงานจึงร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ “PPP-Saraburi Sandbox : A Low Carbon City” ผ่านโครงการต้นแบบต่าง ๆ สำหรับด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้นจะเน้นให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และการสร้างความสมบูรณ์ให้กับป่าชุมชน ด้วยตระหนักอย่างยิ่งว่าป่าชุมชนจะเป็นส่วนสำคัญในการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) หรือจะเรียกว่าป่าคาร์บอนก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดสระบุรีมีป่าชุมชนรวม 38 แห่ง พื้นที่ประมาณ 9,684 ไร่ กระจายอยู่ใน 6 อำเภอ และอยู่ระหว่างจัดตั้งเพิ่มอีก 7 แห่ง โดยมีชุมชนร่วมกันดูแลในรูปของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร (Food Bank) เช่น หน่อไม้ เห็ดโคน ฯลฯ และแหล่งสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร ชาฤาษี อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนฐานรากได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนสระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดให้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันทั้ง 38 แห่ง มีสาระครอบคลุมดังนี้
1.ด้านการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า (Forest Plantation & Fire Protection)
2.การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และสมุนไพร (Plant Genetic Conservation & Medicinal Plant)
3.การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Ecotourism)
4.การสร้างแหล่งอาหารเพื่อชุมชน (Food Bank)
5.การลดก๊าซเรือนกระจกและการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)
นับจากวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันเริ่มต้นที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในสระบุรีทั้ง 38 ป่า ได้มารวมตัวกันประกาศเจตนารมณ์ ณ ป่าชุมชนบ้านถ้ำน้ำพุ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เครือข่ายป่าชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นเป็นอย่างมากเกิดความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและภาคเอกชนอย่างจริงจัง โดยมีภาคราชการคอยประสานอำนวยความสะดวก ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ไฟป่าลดลง ชุมชนค้นพบอัตลักษณ์และศักยภาพของป่าชุมชนแต่ละแห่ง นำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนในอนาคต เช่น การท่องเที่ยวถ้ำทะลุถ้ำ ทะลุถึงกันระหว่างอำเภอแก่งคอย และอำเภอมวกเหล็ก ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาน่าจะสอดคล้องกับแนวทางพลเมืองเคลื่อนรัฐ ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ได้ให้ความสำคัญอีกด้วย
ผลจากการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา ป่าชุมชนทั้ง 38 ป่าเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยมี เอสซีจี ร่วมกับเครือข่ายป่าชุมชนสระบุรีที่มีอาจารย์สฤษฎิ์ จิตนอก ประธานเครือข่าย และนายบุญมี สรรคุณ ที่ปรึกษาเครือข่าย สมาคมการท่องเที่ยวสระบุรี ประสานภาคราชการในจังหวัดสระบุรี กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด อำเภอ เทศบาล อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาชน ให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละป่าชุมชนจนเกิดความเข้มแข็ง สามารถป้องกันไฟป่าในป่าชุมชนอย่างได้ผลชัดเจน มีการสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า เช่น เครื่องเป่าลม สำหรับเป่าใบไม้ ถังฉีดน้ำพร้อมหัวฉีด ไม้ตบไฟ ครอบไฟ และงบประมาณในการจัดฝึกอบรมอย่างทั่วถึง
ปรพล อดิเรกสาร
มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจหลายรายโดยจับคู่กับป่าชุมชนที่มีการสำรวจการกักเก็บคาร์บอนจากหน่วยงานของกรมป่าไม้แล้ว เช่น บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) จับคู่กับป่าชุมชนบ้านถ้ำน้ำพุ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย สำหรับป่าชุมชนบ้านเขาน้อยจอมสวรรค์ ตำบลเจริญธรรม อำเภอวิหารแดง ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาและสร้างโปรแกรมในการเก็บข้อมูลต้นไม้ที่โดดเด่น ให้บุคคลทั่วไปศึกษาข้อมูล ได้ทั้งความโต ความสูง ชนิดพันธุ์ และปริมาณการกักเก็บคาร์บอน เอสซีจีได้พยายามศึกษาร่วมกับกรมป่าไม้ และสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาการตรวจวัดปริมาณการกักเก็บ โดยใช้ดาวเทียม
สำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะสามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี สมาคมการท่องเที่ยวสระบุรี ร่วมกับชุมชน ประสานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา และการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ เช่น เดินทะลุถ้ำ เดินป่าผจญภัย พายเรือคยัค เรือแคนู การอาบป่า ในป่าชุมชนเขาพระพุทธบาทน้อย ป่าชุมชนบ้านถ้ำน้ำพุ อำเภอแก่งคอย ป่าชุมชนบ้านมวกเหล็กใน ป่าชุมชนบ้านคลองระบัง อำเภอมวกเหล็ก ตลอดจน การปั่นจักรยาน ที่ป่าชุมชนบ้านเขาน้อยจอมสวรรค์ อำเภอวิหารแดง และกำลังสำรวจเพื่อจัดกิจกรรมวิ่งเทรล ที่ป่าชุมชนบ้านปฏิรูป อำเภอมวกเหล็ก สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ สู่โมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอน คงเป็นความจริงไม่ยากด้วยความร่วมมือจากทุกภาคทุกส่วน
และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ตัวแทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนทั้ง 38 ป่า ได้มีการสัมมนาร่วมกัน ประเด็น “การสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายป่าชุมชน” จังหวัดสระบุรี ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุม 1 อาคารพัฒนาและฝึกอบรม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด จังหวัดสระบุรี เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ซึ่งสรุปได้เป็น 5 ด้าน ดังนี้
1.ด้านการอนุรักษ์ ได้แก่ การทำแนวป้องกันไฟป่ารอบบริเวณป่าชุมชนแต่ละแห่ง การทำฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน การจัดค่ายอาสา “ลาดตระเวนและมีการลาดตระเวนจริง การฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น การบวชป่า”
2.ด้านการฟื้นฟู ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรม พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ถูกบุกรุก การปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ โกโก้ ขี้เหล็ก สะเดา ไผ่ ผักหวานป่า การปลูกพืชสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง ขมิ้น ไพล การเพาะพันธุ์กล้าไม้พื้นถิ่นเพื่อขยายพันธุ์ เช่น จันทร์ผา จันทร์แดง เทียนขโมย การตัดสางหนามสนิมที่ปกคลุมไม้พื้นล่างออกตามความเหมาะสม เพื่อเปิดแสงให้พันธุ์ไม้อื่นเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น
3.ด้านการพัฒนา ได้แก่ การพัฒนาสถานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การอาบป่า ลานกางเต็นท์ พัฒนาจุดชมวิว จุดถ่ายรูป จัดทำห้องสุขา ป้ายบอกทาง การติดตั้งโซลาร์เซลล์ การจัดทำฐานข้อมูลป่าไม้และสัตว์ป่า การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบน้ำบาดาล จัดหาวัสดุกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อบรมเสริมสร้างทัศนคติที่ดีแก่ประชาชนและเยาวชนในการดูแลรักษาป่า อบรมสร้างอาชีพการแปรรูปวัตถุดิบจากป่าชุมชน
4.ด้านการควบคุม ได้แก่ การกำหนดระเบียบข้อบังคับ ข้อตกลงร่วมกันของชุมชนในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ประชาสัมพันธ์ห้ามลักลอบตัดต้นไม้และบุกรุกป่า จัดประชุมคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน และสมาชิกป่าชุมชนเดือนละ 1 ครั้ง จัดทำแผนปฏิบัติงานรายปี การทบทวนคัดเลือกปรับปรุงคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนแต่ละป่า การทำบัตรเก็บหาของป่าให้กับสมาชิกป่าชุมชน
5.ด้านการใช้ประโยชน์ ได้แก่ การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามศักยภาพของแต่ละป่า การแปรรูปพืชสมุนไพรจากวัตถุดิบที่เก็บหาได้จากป่าชุมชน การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชน เช่น เครื่องครัวของที่ระลึกต่างๆ สนับสนุนให้มีศูนย์จำหน่ายกล้าไม้เศรษฐกิจของป่าชุมชนการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดเวทีชาวบ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์งานพัฒนา 5 ด้านด้วยกันคือ
1.เป็นเครื่องมือสื่อสารงานพัฒนาเชิงพื้นที่ได้ทุกประเด็น
2.เป็นการค้นหาความร่วมมือในการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
3.เป็นการกระชับเครือข่ายป่าชุมชนในจังหวัดสระบุรีให้มีความเป็นปึกแผ่นภายใต้การทำงานร่วมกันของหมู่บ้าน
4.เป็นการยกระดับการเตรียมความพร้อมชุมชนให้มีความเป็นเอกภาพ มีทิศทางในการวางอนาคตของชุมชนร่วมกัน
5.สามารถสร้างคุณค่าของชุมชนอย่างศักดิ์ศรียอมรับและปรับตัวในการขับเคลื่อนชุมชนบนพื้นฐานเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีดุลยภาพ เป็นการสร้างแนวร่วมการทำงานในจังหวัดที่สามารถยกระดับสู่จังหวัดจัดการตัวเองได้ตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่พื้นที่
ถึงวันนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดสระบุรี พอจะได้บทสรุปและเร่งเดินหน้าต่อ คือ การรักษาและพัฒนาป่าชุมชนเดิมทั้ง 38 ป่าและที่อยู่ระหว่างจัดตั้งอีก 7 ป่าให้เข้มแข็งมีความอุดมสมบูรณ์ ปลอดภัยจากไฟป่า เลียงผาซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนจำนวนหลาย 10 ตัว บนเขาพระพุทธบาทน้อยในพื้นที่ตำบลสองคอน และตำบลท่าตูม อำเภอแก่งคอย ที่เครือข่ายป่าชุมชนเขาพระพุทธบาทน้อยร่วมจิตร่วมใจกันปกป้องคุ้มครองไว้เป็นอย่างดีและพบการกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ที่มีภูเขาหินปูนรวมแล้วไม่น้อยกว่า 200 ตัว สำหรับป่าชุมชนบ้านคลองระบังและป่าชุมชนบ้านมวกเหล็กในพื้นที่ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก ซึ่งเป็นแนวกันชน (Buffer Zone) ให้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลกเกือบแสนไร่ ชุมชนก็ร่วมกันปกป้องพื้นที่มิให้มีการบุกรุกอีกทั้งคอยคุ้มครองสัตว์ป่า เช่น กระทิง หมี เสือลายเมฆ เลียงผาและสัตว์ป่าอื่นๆ อีกจำนวนมากให้ปลอดภัยด้วยความเข้มแข็งของชุมชนคนสระบุรี
ปรพล อดิเรกสาร
ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน)
—————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 27 ม.ค. 68
Link : https://www.matichon.co.th/article/news_5015341