สหรัฐฯ และรัฐบาลใหม่ของทรัมป์ ไม่เห็น ASEAN อยู่ในสายตาจริงหรือ
น่าเห็นใจ พีต เฮกเซท ผู้ได้รับการเสนอชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ซึ่งถูกไล่ให้ไปทำการบ้านเรื่อง ‘ASEAN 101’ เพราะไม่สามารถตอบคำถามของ แทมมี ดักเวิร์ท สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐอิลลินอยส์ ที่ให้ยกตัวอย่างชื่อประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงความตกลงกับอาเซียน ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติรัฐมนตรีโดยคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา
อาจต้องให้ความเป็นธรรมกับเฮกเซทสักนิด เพราะดราม่านี้เองทำให้เราต้องหันกลับมามองว่า การที่เขาตอบคำถามไม่ได้ และไพล่ไปพูดถึงประเทศพันธมิตรภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นความรู้ความเข้าใจส่วนตัวอันจำกัด หรือจริงๆ แล้ว สหรัฐฯ ในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สนใจกลุ่มประเทศอาเซียนกันแน่
พีต เฮกเซท
อาเซียนสำคัญอย่างไร
อาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations: ASEAN) ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิก ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยประเทศที่ 11 คือ ติมอร์ตะวันออก จะเข้าร่วมเร็วๆ นี้
อาเซียนก่อตั้งใน 2510 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค มีประชากรรวมกันกว่า 670 ล้านคน นับเป็นภูมิภาคที่มีประชากรสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์
หากมองอาเซียนรวมเป็นรัฐเดียว จะถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก สูสีกับอินเดีย (อันดับ 1-5 วัดจาก GDP คือ สหรัฐฯ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น และอินเดีย)
รายงานการลงทุนพิเศษของอาเซียนปี 2023 ระบุว่า มี 6 ประเทศสมาชิกได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้น โดย 3 ประเทศที่ทำสถิติสูงสุดคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ส่วนกัมพูชาและพม่า ได้รับเงินลงทุนรายใหญ่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ขณะเดียวกัน การลงทุนในอินโดนีเซียก็เพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์
5 อันดับประเทศที่ลงทุนในอาเซียน (ข้อมูลปี 2022)
1. สหรัฐฯ 37,000 ล้านดอลลาร์
2. ประเทศในอาเซียนด้วยกัน 28,000 ล้านดอลลาร์
3. ญี่ปุ่น 27,000 ล้านดอลลาร์
4. จีน 15,000 ล้านดอลลาร์
5. ฮ่องกง 13,000 ล้านดอลลาร์
ที่มา: รายงานการลงทุนพิเศษอาเซียน ปี 2023
เมื่อเทียบกับจีน อาจไม่แปลกที่สหรัฐฯ อาจไม่เห็นอาเซียนอยู่ในสายตา เพราะตัวเลขการลงทุน FDI ของสหรัฐฯ ในจีน ปี 2023 อยู่ที่ 126,900 ล้านดอลลาร์
ทำไมสหรัฐฯ ต้องสนใจ ASEAN
คำถามของดักเวิร์ทเกิดขึ้นหลังจากที่เฮกเซทกล่าวถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และทางการจีนเริ่มแสดงจุดยืนชัดเจนยิ่งขึ้นในการเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดน
เฮกเซทไม่สามารถบอกจำนวนประเทศสมาชิกอาเซียนที่แน่นอนได้ แต่ “ผมรู้ว่าเรามีพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ในข้อตกลง AUKUS (ข้อตกลงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) กับออสเตรเลีย”
เวลาสหรัฐฯ มองอาเซียน มักจะมองรวมอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จึงไม่น่าแปลกใจที่เฮกเซทแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนในหัวเลย
ปัญหาใหญ่ระดับภูมิภาคที่ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องสนใจความเป็นไปในอาเซียนมีด้วยกัน 2 เรื่อง นั่นคือ วิกฤติการณ์ในพม่า และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
สมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ต่างมีข้อพิพาททางทะเลกับจีนในประเด็นการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดของโลก นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่มองว่าเป็นการรุกล้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนด้วย
สองปัญหาใหญ่ดังกล่าวซ้อนทับกับข้อจำกัดของอาเซียนอย่างพอดิบพอดี โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ผลกระทบของอาเซียนถูกจำกัดด้วยการขาดวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ การลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงภาวะผู้นำที่อ่อนแอ
ความท้าทายที่สุดของอาเซียนคือ การพัฒนาแนวทางที่เป็นหนึ่งเดียวต่อจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ และการตอบสนองต่อกรณีสงครามกลางเมืองในพม่า
‘ฉันทมติ 5 ข้อ’ ของอาเซียนเพื่อแก้วิกฤติพม่าที่ออกมาหลังการประชุมสุดยอดกลุ่มอาเซียนนัดพิเศษในเดือนเมษายน 2021 ประสบความล้มเหลว เนื่องจากไม่กำหนดบทลงโทษหากรัฐบาลทหารไม่ให้ความร่วมมือ บังคับใช้หลักการไม่เชิญผู้แทนทางการเมืองพม่าเข้าประชุมอย่างไม่คงเส้นคงวา เพราะยังมีรัฐมนตรีรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมบางรายการ รวมถึงข้อเสนอ เช่น แขวนสมาชิกภาพของพม่าจนกว่าจะให้ความร่วมมือ ก็ไม่ได้รับพิจารณาจากกลุ่มอาเซียน
ปีถัดมา รัฐบาลทหารพม่าตบหน้าอาเซียนด้วยการตัดสินประหารชีวิตนักกิจกรรม 4 คนในเดือนกรกฎาคม ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน Fortify Rights องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เปิดรายงานสืบสวนกรณีกองทัพพม่ากระทำต่อพลเรือน ได้เรียกร้องให้ยกเลิกฉันทมติ 5 ข้อ และให้จัดทำมาตรการฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองพลเรือนในประเทศ
หรือสหรัฐฯ สนใจอาเซียนมากกว่าที่คิด?
จนถึงตอนนี้ กองทัพสหรัฐฯ ยังคงมอบความปรารถนาดีแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจนน่าประหลาดใจ แม้ว่าจะเคยมีประวัติศาสตร์บาดแผลตั้งแต่ครั้งสงครามเวียดนาม
รายงานโดยสถาบันเอเชียโซไซตี เมื่อปี 2023 ระบุว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีส่วนร่วมกับอาเซียน ในฐานะ ‘สินทรัพย์ที่แข็งแกร่งและดีที่สุดของอเมริกา’
เดวิด ชัมบอ (David Shambaugh) ผู้อำนวยการโครงการนโยบายจีน แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ผู้เขียนรายงานร่วม ชี้ให้เห็นว่าประเทศอาเซียน 8 ใน 10 ประเทศมีความสัมพันธ์ทางทหารอย่างกว้างขวางกับทางการสหรัฐฯ ขาดเพียงลาวและพม่า
ความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรักษาดุลอำนาจในภูมิภาค เขาเสริมด้วยว่า รัฐบาลในอาเซียน ‘ไม่อยากป่าวประกาศ’ ความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศ รวมถึงการซ้อมรบร่วม การขายอาวุธ และสร้างเครือข่ายในงานต่างๆ ที่มีต่อสหรัฐฯ เช่น การประชุมสุดยอดความมั่นคงเอเชีย ที่รู้จักกันดีในชื่อ Shangri-La Dialogue
การสำรวจโดยสถาบันโลวี (Lowy Institute) พบว่า “เครือข่ายการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ ในอาเซียนยังคงเหนือกว่าจีนมาก” โดยสหรัฐฯ มีอิทธิพลมากกว่าจีนใน 2 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์
ขณะที่อิทธิพลของจีนแข็งแกร่งที่สุดในลาว กัมพูชา และพม่า อีกทั้งจีนยังมีคะแนนนำสหรัฐฯ มากขึ้นในแง่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ด้านการขายอาวุธ ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างไม่อาจทาบรัสเซียได้ โดยก่อนหน้านี้รัสเซียเป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำด้านอาวุธราคาถูกให้กับอาเซียน อย่างไรก็ตาม การบุกรุกยูเครนคือตัวพลิกเกม ทำให้รัสเซียไม่ใช่แหล่งยุทธภัณฑ์ทางการทหารหลักของอาเซียนอีกต่อไป
ในเดือนกันยายน 2023 สหรัฐฯ กับเวียดนาม ประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นสู่ระดับสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ เป็น ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม’ (Comprehensive Strategic Partnership) ความสัมพันธ์ทวิภาคีที่น่าจับตานี้รวมถึงมิติด้านความมั่นคง ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อตกลงด้านอาวุธในอนาคต และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ประกาศความสัมพันธ์ระดับเดียวกันกับอินโดนีเซีย
แทมมี ดักเวิร์ท
นโยบายอาเซียนในยุคทรัมป์
ระหว่างที่ พีต เฮกเซท ทำการบ้านเรื่องอาเซียนเพิ่มเติม เป็นไปได้มากว่ารัฐบาลใหม่ของทรัมป์จะไม่ให้ความสนใจปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเท่ากับรัฐบาลพรรคเดโมแครต
“แต่อาจยังจำเป็นต้องให้ความสนใจปัญหาพม่าอยู่ เพราะเหตุที่พม่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีนทั้งในแง่ความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ” สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการด้านอาเซียน ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศยุคทรัมป์ และเสริมว่า แนวนโยบายเดิมและเครือข่ายหรือพันธมิตรเดิมอาจเป็นประโยชน์ที่จะใช้ต่อรองหรือถ่วงดุลกับจีน
“พูดง่ายๆ คือ ทรัมป์และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเล่นเกมเดียวกัน แต่ด้วยท่าทีและแนวทางที่แตกต่างกันเท่านั้น” สุภลักษณ์ กล่าว
ส่วนด้านการค้า หลักสำคัญในนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์คือ เพิ่มภาษีศุลกากรเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ในสมัยที่สอง ทรัมป์จะพยายามกำหนดภาษีศุลกากรที่ครอบคลุมตั้งแต่ 10-20 เปอร์เซ็นต์สำหรับการนำเข้าทั้งหมด และสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อสินค้าจีนเป็นพิเศษ โดยเสนอให้กำหนดภาษีสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์
การเพิ่มภาษีนำเข้าย่อมกระทบอาเซียนแน่นอน เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างมาก โดยประเทศอย่างเวียดนาม มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ เป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และวัตถุดิบ
ยกตัวอย่างเวียดนาม ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังสหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ในปี 2019 ภายใต้รัฐบาลทรัมป์สมัยแรก เวียดนามถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศที่ละเมิดการค้าของสหรัฐฯ มากที่สุดในโลก ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้าตึงเครียด และเกิดการคว่ำบาตรกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนค่าเงิน ซึ่งต่อมารัฐบาลไบเดนยกเลิกการดำเนินการดังกล่าว
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศผ่านโซเชียลมีเดีย Truth Social ว่า จะจัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บรายได้จากต่างประเทศ (External Revenue Service) ในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
“เราจะเริ่มเรียกเก็บเงินผู้ที่ทำเงินจากเราด้วยการค้า และพวกเขาจะเริ่มจ่ายด้วยส่วนแบ่งที่ยุติธรรมเสียที” ทรัมป์โพสต์ แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับหน่วยงานใหม่ที่เสนอ
ปัจจุบันหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีศุลกากรคือ สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ
ธนาคารโลกออกมาเตือนเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอยู่แล้วที่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2025 ลดลงอีก 0.3 เปอร์เซ็นต์ หากพันธมิตรทางการค้าของสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับการเติบโตในระยะยาวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000
ทรัมป์ยังระบุว่า เตรียมลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) หรือหนังสือคำสั่งที่ออกโดยประธานาธิบดีถึงหน่วยงานรัฐบาลกลางโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภา จำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์หลังพิธีสาบานตน
คำสั่งพิเศษเหล่านี้มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับนโยบายการย้ายถิ่นและชายแดน การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ พลังงาน สกุลเงินดิจิทัล ชะลอการแบน TikTok ไปจนถึงมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า หากเทียบกับหลังพิธีสาบานตนครั้งก่อน เขาลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเพียงคำสั่งเดียวที่มุ่งเป้าไปยังนโยบายโอบามาแคร์
อ้างอิง: AP News, Council on Foreign Relations, The Diplomat, Reuters, NBC News
—————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Thairath Plus / วันที่เผยแพร่ 21 ม.ค. 68
Link : https://shorturl.at/DrXnx