“มนุษย์ออนไลน์ ปี 2 EP.1 : หลอกให้หลง หลอกให้โอน” พบกับ ‘ณัฐกร วิทิตานนท์’ และ ‘ทศพล ทรรศนพรรณ’ ชวนคุยเรื่องสแกมเมอร์ส หลอกให้หลง หลอกให้โอน การหลอกลวงออนไลน์มีอะไรบ้าง อะไรคือปัญหา ทั้งเราและรัฐจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร
พูดคุยกับ ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ทศพล ทรรศนพรรณ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องปัญหาสแกมเมอร์ส หลอกให้หลง หลอกให้โอน จากที่ทั้งสองได้ร่วมกันทำวิจัยเจาะลึกในพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแหล่งฐานที่ตั้งของกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ ที่เข้ามาหลอกหลวงคนไทย
โดยเป็นการชวนทำความเข้าใจว่า การหลอกลวงออนไลน์มีอะไรบ้าง อะไรคือปัญหา ใครเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด สำรวจลงไปถึงความเป็นมาของผู้กระทำความผิด ที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การทำงานอย่างมีแบบแผน และความทับซ้อนที่หลายกรณีผู้ที่กระทำผิดเองก็มีความเหยื่อซึ่งถูกละเมิดต่าง ๆอีกด้วย รวมถึงขบคิดตั้งคำถามถึงกลไกลกฎหมาย แนวปฏิบัติของรัฐ ว่ามีความพร้อมแค่ในที่จะรักษาความเป็นส่วนตัว และป้องกันการหลอกหลวงออนไลน์
ไฮไลท์สัมภาษณ์ณัฐกร วิทิตานนท์ และทศพล ทรรศพรรณ พูดคุยกันในประเด็นหลอกลวงออนไลน์
กำเนิดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อมังกรหลากสี ประชิดชายแดนไทย
Romance Scam หมดเป็นแสน แขนไม่ได้จับ
ก่อนหน้านี้ที่จะได้มาทำงานวิจัยการหลอกลวงออนไลน์โดยตรง อาจารย์ทศพล เคยได้ทำงานศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง “พิศวาสอาชญากรรม” หรือ Romance Scam มาก่อน เนื่องจากได้เห็นตัวเลขว่าการหลอกลวงลักษณะนี้ไม่ได้มีจำนวนเยอะมาก แต่มีกลับมูลค่าความเสียที่สูง เมื่อศึกษาพบว่ามิจฉาชีพเหล่านั้นเจาะลงไปในจิตใจของเหยื่อ จนทำให้เกิดความเสน่หารักใคร่ จนเหยื่อบางคนสูญเสียเงินหลักล้าน และเมื่อสืบค้นลึกลงไปยังเห็นพบว่ามิจฉาชีพไม่ได้ทำงานกันแค่คนเดียว หรือกลุ่มเล็กๆ แต่บางครั้งมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม ที่มีการทำงานเป็นทีม แบ่งสายงานกันอย่างชัดเจน
เห็นถึงวิธีการทำงานที่ลำดับขั้นตอน มีการหลอกเหยื่อรายเดิมซ้ำอย่างมีกลยุทธ เช่นหลอกเอาทรัพย์สินได้แล้ว ก็จะมีอีกทีมที่จะหลอกว่าจะเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้ง “การทำวิจัยทำให้เราเห็น 3 ส่วนคืออาชญากรเป็นใคร หลอกด้วยวิธีอะไรใครเป็นเหยื่อ และรัฐทำอะไรได้บ้างทำอะไรได้บ้าง ปราบปรามได้ไหม”
ซึ่งแก๊งที่เข้ามาหลอกลวงคนไทยนั้นเป็นอาชญากรจากต่างประเทศ เป้าหมายคือเหยื่อที่มีความเหงาและมีรายได้สูง มักจะเป็นคนที่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี แต่ไม่กล้าที่จะหาคู่ในสังคมไทย เนื่องจากกลัวถูกล้อเลียนต่างๆ จึงเข้าไปหาคู่บนโลกออนไลน์จนมาเจอกับอาชญากรเหล่านี้ ในกรณีที่เป็นคนไทยหลอกกันเองมีเช่นเดียวกัน แต่จำนวนไม่มาก เท่ากับต่างชาติเข้ามาหลอก
ในอดีต Romance Scam จะใช้ช่องทางโทรศัพท์ จนปัจจุบันมีการใช้แอปพลิเคชั่นหาคู่เดต แล้วชักชวนออกไปคุยกันต่อแบบส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะเป็นจุดที่มีหลอกหลวงกันเกิดขึ้น การหลอกลวงมีความเป็น Hybrid crime หรืออาชญากรรมแบบลูกผสมที่เมื่อพูดจาหว่านล้อมเอาทรัพย์สินไม่สำเร็จ จะมีการส่งลิ้งค์ให้เหยื่อ หากกดลิ้งค์ แก๊งเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงและขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนถึงบัญชีธนาคารต่างๆ และสามารถดูดเงินได้อีกต่อหนึ่ง
ความเป็นมาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มังกรหลากสีประชิดชายแดนไทย
เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำหรือคิงส์โรมัน ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย (ที่มา: Wikipedia)
ณัฐกร อธิบายว่าอาชญากรรมไซเบอร์นั้นสามารถแบ่งแยกย่อยออกไปได้หลายประเภท ตามข้อมูลของกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่เผยว่าประเภทที่เป็นการหลอกให้ลงทุน แม้จะเป็นมีจำนวนคดีที่เกิดขึ้นไม่มาก แต่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด ซึ่งรองลงมาเป็นเรื่องของคอลเซ็นเตอร์
จากข้อมูลจากงานวิจัยของ รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง [1] คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เข้ามาในไทยตั้งแต่ราวปี 2007 ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เหล่านี้มีจุดกำเนิดที่ประเทศไต้หวัน ราวทศวรรษที่ 1990 ถูกเรียกว่า ATM game เหยื่อส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกับในปัจจุบัน ที่เป็นคนเกษียณอายุที่มีเงิน โดนหลอกให้ไปกดโอนเงินที่ตู้ ATM เมื่อมีการปราบปรามจึงได้ย้ายฐานปฏิบัติการเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อถูกปราบปรามอีกจึงเริ่มหนีเข้ามาในประเทศไทย
โดยช่วงแรกกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทย จะมีเป้าหมายเพื่อข้ามไปหลอกคนในจีนแผนดินใหญ่เป็นหลัก ต่อมาจากนั้นกลุ่มอาชญากรเหล่านี้จึงเริ่มเบนเข็มมาหลอกคนไทย ซึ่งงานศึกษาของอาจารย์ สุมนทิพย์ เป็นการศึกษาในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีข้อค้นพบที่น่าสนใจมากมาย เช่นมีการใช้ช่องทางต่าง ๆนอกจากโทรศัพท์ผสมผสานกันเพื่อหลอกหลวง เป็น Hybrid crime ทั้งอีเมล SMS โซเชียลมีเดีย
“จุดที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือว่าแก๊งเหล่านี้ มีหลักการว่าถ้าจะหลอกคนประเทศไหนแก๊งจะไม่ได้ตั้งอยู่ประเทศนั้น ถ้าจะหลอกคนไทยเขาก็จะตั้งอยู่ที่อินโดนีเซีย บางครั้งไปจับได้ถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ณัฐกรกล่าวด้วยว่า ซึ่งในช่วงปีที่งานวิจัยของสุมนทิพย์เผยแพร่ กลุ่มแก๊งเหล่านี้ยังไม่ได้มีฐานปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากนัก แต่จุดเปลี่ยนที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ย้ายมาอยู่ตามชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน คือช่วงของที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อเริ่มมีเบาะแสข้อมูลว่าแก๊งเหล่านี้ มีฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จึงเกิดเป็นการวิจัยที่ทำร่วมกับอาจารย์ทศพล เลือกพื้นที่วิจัย 3 พื้นที่ที่เป็นฐานปฏิบัติการ คือปอยเปต ประเทศกัมพูชา ติดกับอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และอีก 2 เมืองในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาหรือพม่าคือ เมียวดี ติดกับอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำหรือคิงส์โรมัน ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน
ทศพล เล่าถึงการเก็บข้อมูลในเมียวดี ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีคนที่เป็นหัวหน้าทำหน้าที่เป็นตัวกลางหาตึก หาสถานที่ปฏิบัติการ และมีการทำสัญญากับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง จากนั้นจะปล่อยให้กลุ่มแก๊งต่างๆ เข้ามาเช่า ซึ่งมีขบวนการผิดกฎหมายต่างๆ ทั้งการพนัน ฉ้อโกง ไปจนถึงการหลอกลวง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีการหลอกลวงคนพม่าด้วยกันเอง สาเหตุเนื่องจาก หนึ่ง ความกลัวได้รับผลกระทบต่างๆ สอง เศรษฐกิจในประเทศพม่าไม่ดีจึงไม่คุ้มค่า และสาม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจคือ สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการโทรศัพท์ไทย เข้าไปถึงพื้นที่เหล่านั้นได้ จึงสามารถใช้หมายเลขของไทย โทรเข้ามาให้เหยื่อตายใจ เพื่อทำให้หลอกหลวงได้ง่ายขึ้น
สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ เมื่อหลอกหลวงสำเร็จ ใช้วิธีไหนในการส่งเงินข้ามมายังกลุ่มสแกมเมอร์ เงินเหล่านั้นจะถูกถอนออกมาจากบัญชีฝั่งประเทศไทย แล้วส่งข้ามแดนไป หรือโอนข้ามประเทศโดยตรง? และทำไมผู้ให้บริการโทรคมนาคม จึงงปล่อยให้สัญญาณสื่อสารที่ควรใช้ได้เพียงแค่ในประเทศไทย เข้าไปในเขตเพื่อนบ้านมากเกินไป “เราขับรถเข้าไปน่าจะถึง 10 กิโลเมตร สัญญาณยังเต็มเลย ซึ่งผมเข้าใจว่า กสทช. มีความพยายามจัดการอยู่ระดับหนึ่ง แต่เป็นการที่บอกว่ามีความพยายามที่จะขยายคลื่นจากฝั่งไทยไปให้ใช้ฝั่งตรงข้าม แต่ไม่มีการยอมรับว่ามีกลุ่มที่ตั้งใจทำให้คลื่นโทรคมนาคมไปถึงฝั่งนู้นหรือไม่ ยังเป็นข้อสงสัยอยู่”
ณัฐกรเสริมว่ามีเหยื่อบางคนให้ข้อมูลว่า ที่ถูกหลอกเพราะมีความความเชื่อใจ เนื่องจากอีกฝั่งมีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บางเคสแก๊งคอลเซ็นเตอร์รู้ว่ามีที่ดินอยู่สองไร่ ต้องมีการเสียภาษีแล้วจึงส่งลิ้งค์แบบฟอร์มภาษีปลอมไปดักข้อมูลเป็นต้น ซึ่งเหยื่อไม่รู้ว่าข้อมูลการถือครองที่ดินแบบนี้หลุดไปได้อย่างไร แต่ตั้งข้อสงสัยเองว่าน่าจะมาจากการทำธุรกรรมออนไลน์
ทศพลมองว่าการที่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก ข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกเข้ารหัสความปลอดภัยได้ดีพอ จะถือว่าเป็นความเสี่ยงโดยทันที เมื่อกลุ่มอาชญากรได้ข้อมูลไป ก็จะสามารถนำข้อมูลไปปะติดปะต่อสร้างเรื่องมาหลอกได้อย่างสมจริง ซึ่งยังไม่รู้ว่าได้ข้อมูลเหล่านั้นไป โดยวิธีซื้อมาจากแฮกเกอร์ที่ขโมยข้อมูล หรือมีคนในองค์กรที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบนำข้อมูลออกมาขาย
องค์กรที่เก็บข้อมูลจึงควรจะมี ระบบป้องกันการเจาะระบบที่ดีพอ มีระบบชั้นความลับกำหนดว่าให้เพียงไม่กี่คนในองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความอ่อนไหวได้ รวมไปถึงเมื่อมีการนำข้อมูลออกมาแล้ว ควรจะมีกุญแจเพื่อเข้ารหัสสำหรับอ่านข้อมูลโดยเฉพาะ
ณัฐกร ซึ่งลงพื้นที่ทำวิจัยในแหล่งกาสิโนอย่างปอยเปตและคิงส์โรมัน ที่มองว่าสิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 3 พื้นที่ในการทำวิจัย คือจะเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย มักจะเป็นพื้นที่ซึ่งยกสัมปทานให้กับเอกชนข้ามชาติเข้ามาใช้พื้นที่ รัฐไม่ค่อยกล้าที่เข้าไปบังคับใช้กฎหมาย กลายเป็นพื้นที่สีเทา ที่เป็นแหล่งรวมธรุกิจผิดกฎหมายต่างๆ
คิงส์โรมันเกิดขึ้นจากที่ตัวเจ้าของโครงการ ได้เช่าพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่มาก เปิดให้นักลงทุนจากชาติต่างๆ เข้ามาเช่าช่วงต่อไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างตึกขนาดใหญ่ที่มีรั้วรอบมิดชิดที่เรียกว่า compound ซึ่งตึกเหล่านี้เป็นแหล่งขององค์กรอาชญากรรสารพัดแก๊ง ที่เชี่ยวชาญอาชญากรรมด้านต่างๆ กันไป
ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มเหยื่อที่หนีหลุดลอดมาได้ ที่น่าสนใจคือในบริษัทที่ใหญ่ๆ จะมีการจัดองค์แบ่งตามพื้นที่เป้าหมาย อย่างส่วนงานที่มีเป้าหมายเป็นคนยุโรป ก็ต้องหาคนที่พูดอังกฤษหรือฝรั่งเศส ก็มักจะเป็นเอาคนมาเลเซีย หรืออินเดียเข้ามา ซึ่งไทยก็เป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่ง จึงมีความพยายามเอาคนไทยเข้าไปทำงาน
“มีความเป็นมังกรหลากสี หมายความว่าคนจีนที่มาเกี่ยวข้องไม่ได้มีแค่จีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ในระดับบนจะมีคนไต้หวันที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษา ส่วนนักลงทุนก็มักจะเป็นคนจีนที่มาจากทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ ไปถึงมาเก๊า ฮ่องกง” ณัฐกร เล่าสิ่งได้ค้นพบจากการลงพื้นที่ทำงานวิจัย
เมื่อผู้กระทำผิดและเหยื่อเป็นคนเดียวกัน รัฐควรปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร
กาสิโนบริเวณชายแดนไทย-พม่า ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก (ที่มา: แฟ้มภาพ)
“แก๊งพวกนี้ไม่ได้แค่หลอกคนที่อยู่ต่างประเทศ แต่มันมีการหลอกที่โหดร้ายทารุณกว่านั้น คือหลอกคนมาทำงาน เป็นการค้ามนุษย์ เป็นสิ่งเราเห็นว่ามันเป็นเทรนด์ที่พัวพันไปกับแก๊งคอลเซนเตอร์” ณัฐกร กล่าวถึงสิ่งที่ค้นพบต่อมาว่ามีคนจำนวนมากที่ถูกหลอกเข้าไปทำงานในองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ ที่มีลักษณะเป็นการค้ามนุษย์ และถูกละเมิดด้านต่างๆ
ทศพล อธิบายว่าในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะหาเงินด้วยการทำอาชญากรรม หลายคนก็โดนหลอกมาเช่นกัน คิดว่าจะได้ทำงานที่สุดจริต แต่ไม่สามารถกลับออกมาได้ ถูกทั้งกักขังบังคับให้ทำงาน นอกจากนั้นยังมีการถูกข่มขืน บังคับค้าบริการ บังคับให้เสพสิ่งเสพติด จึงเป็นคำถามสำคัญต่อฝ่ายรัฐไทยที่จะเข้าไปช่วยเหลือหรือเข้าไปจับกุม และหากคนกลุ่มนี้หนีกลับมาได้ รัฐไทยจะปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ในฐานะเหยื่อ หรือผู้กระทำผิด
โดยมีอีกแนวทางที่เจ้าหน้าที่รัฐนิยมนำมาใช้ คือการเข้าไปช่วยกลุ่มคนเหล่านี้ โดยแลกกับความร่วมมือบางอย่างเช่น ให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ หรือเป็นสายสืบให้กับทางการ “จึงเกิดเป็นคำถามว่า ตกลงเขาได้รับการช่วยเหลือเพราะว่าเขาเป็นเหยื่อ หรือว่าแค่อยากจะใช้งานเขา” ทศพล กล่าว
ความเหงา ช่องว่างระหว่างวัยในสังคมไทย ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงเป็นเหยื่อ
ซึ่งเมื่อมีความกดดันจากนานาชาติเข้ามา ก็จะนำมาสู่การปราบปราม กลุ่มอาชญากรเหล่าก็จะมีการย้ายฐานปฏิบัติการ ไปหาพื้นที่ใหม่ซึ่งมีภาวะยกเว้นทางการบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน และเปลี่ยนรูปแบบการหลอกหลวงใหม่ ซึ่งประเด็นที่ทศพลมองว่าให้ควรถูกให้ความสำคัญคือ ความไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีตามช่วงวัย ที่ผ่านมักจะมีแนวคิดที่ว่าควรส่งเสริมการรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้กับเยาวชน แต่เมื่อได้ทำวิจัยประเด็นนี้กลับพบว่าคนที่เสี่ยงจะเป็นเหยื่อคือผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้เกิดเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนไทยถูกหลอกได้ง่าย คือมีความกลัวต่อหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทใหญ่ ไม่กล้าที่จะตั้งคำถามกับองค์กรเหล่านี้ เมื่อมีคนโทรมาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็จะเชื่อโดยง่าย เมื่อไม่มีการตั้งคำถามจึงไม่มีความรู้เท่าทัน โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่โตมาด้วยความคิดการเป็นพลเมืองที่เชื่อฟังรัฐ นอกจากนั้นปัจจัยที่เพิ่มเติมเข้าไป คือพบว่าคนสูงวัยในปัจจุบันมีความเปลี่ยวเหงามากขึ้น เพราะไม่มีสามารถพูดคุยเชื่อมต่อกับลูกหลานได้ “ไปทะเลาะกันเรื่องการเมือง เวลาโดนหลอกก็อายไม่กล้าไปปรึกษาลูกหลาน เพราะไปสั่งสอนเขาเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เรื่องชีวิต ไว้เยอะ กว่าลูกหลานจะรู้ก็โดนหลอกไปหลายครั้งแล้ว”
มีหลายกรณีที่ผู้สูงอายุโดนหลอกซ้ำซ้อนกันหลายๆ ครั้ง เพราะไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่จะเข้ามาช่วยป้องกันได้ จึงเป็นคำถามที่น่าขบคิดว่าทำใมสังคมไทยถึงมีช่องว่างระหว่างวัยมากเช่นนี้ ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทเอกชน พยายามบีบให้ทุกคนใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งที่มีคนหลายกลุ่มที่ไม่พร้อมใช้สิ่งเหล่านี้อย่างรู้เท่าทัน และหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถแก้ไข้ปัญหา หรือเยี่ยวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
กลไกลทางกฎหมายในการแก้ปัญหามีพร้อม แต่รัฐต้องมีความจริงใจในการบังคับใช้
ตำรวจสอบสวนกลางแถลงข่าวเมื่อ 12 เม.ย. 2567 ยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กว่า 6,000 ชิ้น ซุกซ่อนอยู่ริมแม่น้ำโขง คาดเป็นอุปกรณ์ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องการย้ายฐานจากพม่าไปลาว (ที่มา: แฟ้มภาพ/CIB)
ณัฐกร ได้ตั้งคำถามว่าปัจจุบันไทยมีกฎหมายที่พร้อมที่ใช้รับมือกับปัญหาหรือไม่ และเมื่อกลุ่มอาชญากรอยู่นอกประเทศ ไทยสามารถใช้เครื่องมือหรือกลไกลนานาชาติอะไรที่เข้าไปจัดการได้หรือไม่
โดยทศพล อธิบายว่า ก่อนที่ไทยจะออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้เรื่องนี้โดยตรง ก่อนหน้านี้ไทยมีกฎหมายอื่นๆ เพียงพออยู่แล้วที่จะนำมาใช้ได้อย่างครอบคลุม เช่น การจัดการกับกลุ่มที่อยู่ในต่างประเทศสามารถใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เรื่องการเงิน มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
การแก้ปัญหาจึงไม่ใช้เพียงแค่เรื่องของกฎหมายเป็นยังมีปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย “อย่างที่เราบอกว่าปัญหามันเริ่มจากว่า ที่ตั้งแก๊งเหล่านี้เป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย แล้วถ้ายังไปสนับสนุนให้ประเทศเหล่านั้น ให้ไม่มีนิติรัฐ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายทุกพื้นที่อย่างเสมอภาค ปัญหานี้ก็จะเกิดไปเรื่อยๆ วนไป” ทศพลกล่าว
หรือการหลอกลวงออนไลน์สามารถใช้มาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ขอให้เจ้าของแพลตฟอร์มลบเนื้อหาที่มีความผิด หรือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบได้
แต่ปัญหาที่เกิดในการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ จนจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้นมา เพราะรัฐบาลมองว่าผู้ให้บริการเอกชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ “แต่ถามกลับว่าทำใมเอกชนถึงไม่อยากความร่วมมือ เพราะเขาไม่รู้ว่าเวลาเขาร่วมมือไป คุณเอาข้อมูลไปใช้ลักษณะไหน ใช้ในการปราบปราอาชญากรรมจริงไหม หรือขอข้อมูลคนนี้มาเพราะ คนนี้เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นนักวิชาการ เป็นพรรคฝ่ายค้าน” ทศพลกล่าว
เช่น ถ้าหากมีข่าวออกมาว่าผู้ให้บริการร่วมมือกับรัฐ ให้ข้อมูลเพื่อใช้จับตานักกิจกรรมทางการเมือง จะสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับแพลตฟอร์ม ผู้บริการจึงตั้งกำแพงที่สูงในการให้ความร่วมมือกับรัฐ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีพออยู่แล้ว ต้องติดอยู่กับขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนเพื่อให้ผู้ให้บริการยอม ให้รับความร่วมมือ “ดังนั้นรัฐต้องสร้างความไว้วางใจให้กับบริษัททั้งหลาย ว่าถ้าร่วมมือแล้วจะแก้ปัญหาอาชญากรรมอย่างที่บอกจริง ๆ ไม่ได้เอาไปใช้เรื่องอื่น อันนี้สำคัญที่สุด” ทศพลกล่าว
ในส่วนของปัญหาที่ผู้กระทำความผิดอยู่นอกประเทศ ทศพลอธิบายว่า กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับอาชญากรข้ามชาติที่ออกมาใช้ในไทยนั้น เริ่มมาจากที่หน่วยงานระหว่างประเทศอย่างองค์กรตำรวจสากล เจอปัญหาเหล่านี้เหมือนกันในหลายประเทศ จึงแนะนำให้ไทยออกกฎหมายเหล่านี้ และมีกลไกลการประสานความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศอยู่แล้ว หากไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ จะสามารถแก้ไขได้ หรือไทยมีอำนาจมากพอที่จะดึงในประเทศอื่นเข้ามาร่วมมือ เหมือนอย่างที่ประเทศมหาอำนาจที่จริงจังในการปราบปราม จะเห็นได้ว่าประเทศเล็กๆ จะรีบให้ความร่วมมืออย่างดี
ซึ่งณัฐกรได้เสริมทิ้งท้ายไว้ว่า ปัญหานี้ไม่มีสามารถแก้ไขเป็นรายพื้นที่ไปได้ อย่างที่เห็นนเมื่อการปราบปรามเกิดขึ้นองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ก็จะย้ายพื้นที่ทำงานเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เห็นจากการที่ทางการไทยต้องเข้าไปช่วยคนไทยลึกเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ดังนั้นต้องมองปัญหาเป็นภาพใหญ่ทั้งภูมิภาค
อ้างอิง
สุมนทิพย์ จิตสว่าง และคณะ. โครงการอาชญากรรมข้ามชาติ: ภัยคุกคามประเทศไทยเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2563. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:175108
————————————————————————————————————————
ที่มา : tcijthai / วันที่เผยแพร่ 2 ม.ค.68
Link : https://www.tcijthai.com/news/2025/1/scoop/14071#google_vignette