นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึง 5 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC 1441 ได้รับรายงานเคสตัวอย่างของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์จำนวน 5 เคส รวมมูลค่าความเสียหายสูงถึง 10,973,777 บาท สะท้อนให้เห็นถึงภัยร้ายจากมิจฉาชีพออนไลน์ที่ยังคงระบาดหนัก
สำหรับรายละเอียดของเคสตัวอย่างทั้ง 5 เคสนั้นคือ
1.การหลอกลวงให้ลงทุนเทรดหุ้นสกุลเงินดิจิทัล อ้างผลตอบแทนดี
2.การหลอกลวงให้โอนเงินโดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
3.หลอกลงทุนผ่านโฆษณาบน Facebook
4.หลอกให้รักแล้วโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันหาคู่
5.หลอกขายรถยนต์มือสอง
ซึ่งทั้งหมดนี้มิจฉาชีพใช้ช่องทางออนไลน์ทั้ง Line , Facebook , แอปฯ หาคู่ และโทรศัพท์ เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงเหยื่อ โดยสร้างความน่าเชื่อถือ และใช้กลอุบายต่างๆ จนผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงิน
เคสแรก มิจฉาชีพชักชวนเหยื่อลงทุนเทรดหุ้นผ่าน Line อ้างผลตอบแทนดี ช่วงแรกจ่ายจริง เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินเพิ่ม สุดท้ายถอนเงินไม่ได้ เสียหายกว่า 1.5 ล้านบาท
เคสที่สอง มิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง หลอกให้ติดตั้งแอปฯ ยืนยันข้อมูลบำนาญ แล้วดูดเงินจากบัญชีไปเกือบ 2 ล้านบาท
เคสที่สามเหยื่อพบโฆษณาเทรดหุ้นบน Facebook ลงทุนผ่านแอปฯ ช่วงแรกถอนได้ ภายหลังถอนไม่ได้ พบเป็นเพจปลอม สูญกว่า 3 ล้านบาท
เคสที่สี่ มิจฉาชีพตีสนิทผ่านแอปฯ หาคู่ หลอกให้ร่วมลงทุน สูญอีกกว่า 2 ล้านบาท
เคสสุดท้าย หลอกขายรถมือสองผ่าน Facebook โอนเงินแล้วเชิดหนี เสียหาย 2.3 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยถึงสถิติผลการดำเนินงานของศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2568 พบว่ามีสายโทรเข้ามากถึง 1,355,182 สาย เฉลี่ยวันละ 3,152 สาย และสามารถระงับบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับคดีหลอกลวงออนไลน์ได้แล้ว 458,680 บัญชี เฉลี่ยวันละ 1,182 บัญชี โดยประเภทคดีที่มีการระงับบัญชีสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ , หลอกลวงหารายได้พิเศษ , หลอกลวงลงทุน , หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล และหลอกลวงให้กู้เงิน
จากเคสตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพมักใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกัน คือหลอกลวงให้ลงทุน อ้างผลตอบแทนสูง หรือแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน หรือหลอกให้รักแล้วชวนลงทุน ดังนั้น ประชาชนจึงควรระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ ที่มักใช้ความโลภ และความกลัว เป็นเครื่องมือในการหลอกลวง รวมถึงไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
วิธีป้องกันตัวเองคือ ให้เราสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อนโอนเงินหรือให้ข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการลงทุนที่อ้างผลตอบแทนสูงเกินจริง หรือการอ้างว่าได้รับรางวัลโดยไม่มีที่มาที่ไป หากสงสัยว่าจะถูกหลอกลวง สามารถติดต่อขอคำปรึกษาหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ AOC 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง และขอให้ยึดหลัก 4 ไม่ คือ “ไม่กดลิงก์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ครับ
ที่มา
กระทรวง DE
——————————————————————————————————————————–
ที่มา : techhub / วันที่เผยแพร่ 9 ม.ค.68
Link : https://www.techhub.in.th/scammers-are-rampant-deceiving-people-into-investments-that-result-in-losses-of-millions/