เมตา เตรียมเลิกใช้งานผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระ บนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม และจะหันไปให้ผู้ใช้งานตรวจสอบกันเองแบบเดียวกับ X
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท เมตา เตรียมเลิกใช้งานผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระ (independent fact checker) ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่าง เฟซบุ๊กกับอินสตาแกรม โดยจะแทนที่ด้วยระบบที่คล้ายกับ “หมายเหตุชุมชน” (community note) ของ X ซึ่งผู้ใช้งานจะเป็นผู้ทิ้งข้อความเรื่องความถูกต้องของโพสต์นั้นๆ เอาไว้
ในวิดีโอที่โพสต์ผ่านเว็บไซต์บริษัท เมตา ในวันอังคารที่ 7 ม.ค. 2567 นายมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา ระบุสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เอาไว้ว่า “ผู้ตรวจสอบอิสระมีอคติทางการเมืองมากเกินไป” และ “มันถึงเวลากลับคืนสู่รากเหง้าของเราในการแสดงออกอย่างเสรีแล้ว”
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเมตา เกิดขึ้นในขณะที่นายซัคเคอร์เบิร์กกับผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ พยายามหาทางพัฒนาความสัมพันธ์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่เขาจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค.นี้ โดยนายทรัมป์กับพรรครีพับลิกันวิพากษ์วิจารณ์นโยบายตรวจสอบข้อเท็จจริงของเมตามาตลอด โดยเรียกว่าเป็นการเซ็นเซอร์ของกลุ่มฝ่ายขวา
หลังข่าวการเปลี่ยนนโยบายของเมตาถูกเปิดเผยออกมา นายทรัมป์ก็ออกมาชื่นชมการตัดสินใจของนายซัคเคอร์เบิร์ก และว่าเมตาพัฒนาไปอีกขั้นแล้ว และเมื่อนักข่าวถามนายทรัมป์ว่า การเปลี่ยนครั้งนี้เป็นการตอบสนองต่อคำขู่ในอดีตหรือไม่ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ตอบว่า “เป็นไปได้”
ขณะที่นาย โจเอล คาแพลน สมาชิกคนดังของรีพับลิกัน ที่กำลังจะรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกิจการโลกของบริษัทเมตา แทนที่ เซอร์ นิค เคลก โพสต์ข้อความระบุว่า การที่เมตาพึ่งพาผู้ตรวจสอบอิสระนั้น พวกเขามีเจตนาดี แต่บ่อยครั้งเกินไปที่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นการเซ็นเซอร์
ด้านกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ข้อความสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ ออกมาแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของนายซัคเคอร์เบิร์ก และระบุว่า นี่เป็นความพยายามเพื่อเอาใจนายทรัมป์
“การอ้างว่าทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ เป็นเพียงความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบต่อความเกลียดชังและข้อมูลเท็จที่แพลตฟอร์มนี้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้” เอวา ลี จากกลุ่ม Global Witness กล่าว
เมตาจะเริ่มใช้ระบบหมายเหตุชุมชนในสหรัฐฯ ก่อน และพวกเขายังไม่มีแผนการจะยกเลิกการใช้งานผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระในสหราชอาณาจักรหรือในสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ หมายเหตุชุมชนเป็นฟีเจอร์ ที่ X หรือชื่อเดิมคือทวิตเตอร์ เริ่มใช้งานหลังจาก อีลอน มัสก์ เข้าซื้อบริษัท โดยจะให้ผู้ใช้งานร่วมให้ข้อมูลและเพิ่มบริบทต่างๆ เช่น การตรวจสอบข้อเท็จจริง เอาไว้ใต้โพสต์, รูปภาพ หรือ วิดีโอ เป็นโปรแกรมกลั่นกรองเนื้อหาที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน ซึ่งและข้อความที่อนุมัติจะถูกแสดงทุกครั้งที่มีคนทวีตหรือแชร์คอนเทนต์นี้อีกครั้งในอนาคต
ด้านนายอีลอน มัสก์ ก็ดูเหมือนจะไม่รังเกียจที่เมตาตัดสินใจใช้กลไกลรูปแบบเดียวกัน โดยเขาโพสต์ข้อความระบุว่า “เจ๋งไปเลย”
ที่มา : bbc
———————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 ม.ค.68
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2834955