“ปัญหาที่พบก็คือ คนบางคนมักจะลดคุณค่าตัวเองลงไป เมื่อไปทุ่มเทให้กับคนอื่น หรือพยายามจะรักคนอื่น จนลืมไปว่าคนที่เราควรรักนั้น ย่อมมีตัวเรารวมอยู่ด้วยเช่นกัน”
แง่คิดสำคัญข้างต้นเป็นการระบุของผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ที่ระบุเรื่องนี้ไว้เพื่อฉายภาพ “ปัญหาใหญ่” ของผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่มักจะ “หลงลืม–ละเลย” กับการ “มอบความรักให้ตัวเอง” จนส่งผลต่อจิตใจ จากการพยายามทำให้คนอื่นหันมารัก จนทำให้“ไม่ตระหนักคุณค่าในตัวเอง”
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตได้สะท้อนปัญหาของคนยุคนี้ ที่บางคนมัก “ลดคุณค่าตัวเอง”จากการที่ “โฟกัสไปกับการทำให้คนอื่นหันมาสนใจ-มารัก” จนบ่อยครั้งละเลยตัวเอง กรณีนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อเสวนาที่ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาได้นำมาสะท้อนไว้ผ่านเวที Better Mind, Better Bangkok 2024 ที่จัดขึ้นโดย สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรที่มาร่วมแสดงมุมมองกรณี “ปัญหาร่วมสมัย” นี้ คือ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ และ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ โดยมีแง่คิดน่าสนใจ ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ ณ ที่นี้ส่งท้ายปีเก่า…
หวังให้ผู้ที่มีปัญหาเช่นนี้ “มองมุมใหม่”
โดย “รัก–ให้ค่าตนเอง…รับปีใหม่ 2568”
ทาง ดุจดาว ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce ระบุไว้ว่า… “การลดคุณค่าตัวเอง” มักปรากฏเด่นชัดช่วงที่กำลังพยายามที่จะไปรักคนอื่น ๆ จนลืมไปว่าคนที่ควรรักมาก ๆ ก็คือตัวของเราด้วย และยังพบว่า “คุณค่าในตัวเองมักจะลดลงไปเรื่อย ๆ” เมื่อพยายามทุ่มเททำเพื่อคนอื่น ซึ่งการลดคุณค่าตัวเองนี้พบได้ตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก โดยผลศึกษาพบว่า… ช่วงวัยเด็กของหลาย ๆ คนอาจจะเคยเผชิญกับ “การด้อยค่าตัวเอง” มาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องอยู่ในกลุ่มคนที่เรียนเก่งรอบตัว ทำให้บางคนเมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ก็มักจะชอบประเมินตัวเองอย่างรวดเร็ว มัก “คิดว่าตัวเองไม่เก่ง–ไม่ฉลาดเท่าเพื่อน”
ผลพวงจากความรู้สึกนี้…เป็น“ปัจจัยกระตุ้น” ให้คน ๆ นั้นเกิด“ทัศนคติเชิงลบ–ความคิดแย่ ๆ”กับตัวเอง และจะยิ่งรู้สึกแย่ยิ่งขึ้น เมื่อมีบุคคลอื่น ๆ เช่น ครู พ่อแม่ มาประทับตราว่า…สิ่งที่คิดนั้นเป็นเรื่องจริง!! …ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมระบุไว้
ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐสุดา คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ TIMS ได้ระบุไว้ว่า… ถ้าเปรียบเทียบความรู้สึกในช่วงเวลาที่คนเรา “รักตัวเอง” กับเวลาที่ “ไม่รักตัวเอง” ช่วงไม่รักตัวเองมักเริ่มต้นจาก “ตัวกระตุ้น” อย่าง “สิ่งรอบข้าง–สภาพแวดล้อม” ที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่รักตัวเอง เช่น คิดไปเองว่ามีคนกำลังจับผิด หรือมองตัวเองว่าดีหรือไม่ดี ทำถูกหรือไม่ถูก ซึ่งเมื่อเกิดความคิดลักษณะนี้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก็จะค่อย ๆ ทำให้รู้สึกว่าตัวเรา “ไม่ดีพอ–ไม่มีค่าพอ”
“สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ตัวของเรากลัวว่าคนอื่นจะประเมินตัวเราเองไม่ดี และที่หนักมากที่สุดก็คือ การที่เราประเมินตัวเองผ่านสายตาคนอื่น หรือตัดสินตัวเองจากสายตาของคนอื่น ๆ”
กรณี “ตัดสินตัวเองจากสายตาคนอื่น”
นี่เป็นปัญหา…“มีเสียงสะท้อนที่น่าคิด”
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาท่านนี้ยังสะท้อนไว้อีกว่า… เมื่อคนเราถูกประเมินในแง่ที่ไม่ดี หรือประเมินตัวเองว่าไม่มีคุณค่าพอ ก็จะส่งผลให้เกิด “อารมณ์ไม่รักตัวเอง” ขึ้น และอีกปัจจัยที่เป็นได้ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ นั่นก็คือ…บางคนอาจจะยึดติดกับ “แนวคิด Picture Perfect” หรือ มีภาพตัวเองว่าจะต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น
“แนวคิดนี้ถือเป็นต้นน้ำของการไม่รักตัวเองด้วยเช่นกัน ยิ่งปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่เซ็ตมาตรฐานความเป็น Picture Perfect อยู่รายรอบตัว ทำให้ตัวเองคิดว่าต้องทำทุกอย่างได้สำเร็จ ต้องเก่งที่สุด ต้องสวยที่สุด ก็ยิ่งเพิ่มแรงกระตุ้นให้คนนั้นเกิดการลดคุณค่าตัวเองได้ง่าย ๆ” …ผศ.ดร.ณัฐสุดา ชี้ “ปัจจัย” ที่มาจาก “มาตรฐานสังคมยุคใหม่”
พร้อมเสริมไว้ว่า… เคยมีงานวิจัยกล่าวถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะในสังคมเอเชียที่คนถูกปลูกฝังด้วยภาพมาตรฐานเช่นนี้มาตลอดว่าต้องทำงานหนักจึงจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ จนมองข้ามความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำได้ หรือไม่มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ ที่ทำสำเร็จ จนนานวันเข้าก็ “รักตัวเองยากยิ่งขึ้น” เพราะ รู้สึกว่ายังไปไม่ถึงจุดสมบูรณ์แบบที่ถูกสังคมวางไว้
แล้ว “จะมีวิธีฝึกให้รักตัวเองเช่นไร?”… เรื่องนี้ดาราสาว ยิปโซ–อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์ ก็มาร่วมให้คำแนะนำเกี่ยวกับ “ศิลปะการรักตนเอง” ไว้ว่า… ถ้าคนเราจะมารอผลประเมินจากคนอื่น ๆ ตลอดเวลา ก็คงยากที่จะทำให้จิตใจตนเองรู้สึกดี ซึ่งวิธีฝึกการรักตัวเองให้มากขึ้น อาจจะต้องเริ่มจากการ “สะกดจิตตัวเอง” ด้วยการ “บอกกับตัวเองว่า…สิ่งที่ทำลงไปมีคุณค่า หรือทำได้ก็เก่งแล้ว” เป็นต้น ซึ่งนี่แม้เข้าข่ายการสะกดจิตตัวเอง แต่ถ้าทำแล้วรู้สึกดี รู้สึกใจฟู ก็ทำไปได้เลย
“บางทีเราต้องสู้บ้าง และหาจุดอ่อนตัวเองให้เจอ อย่างตอนทำงานวงการบันเทิง เราอยู่คนละด้านกับสิ่งที่สังคมต้องการเลย เขาอยากได้คนขาว เราไม่ขาว เขาอยากได้คนตัวเล็ก เราตัวสูง ซึ่งแต่ก่อนเรามองว่านี่คือจุดอ่อน แต่เรามาเจอว่า…จริง ๆ จุดอ่อนของเราไม่ใช่ผิว ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่ยังเก่งไม่พอ แต่มาจากการที่เราให้อำนาจกับความคิดเห็นคนอื่นมากเกินไป จนขัดขวางเราไม่ให้รักตัวเอง” …นักแสดงสาวรายนี้เล่าประสบการณ์ตรงที่ “น่าคิด”
“เลิกด้อยค่าตัวเอง”…เพราะแคร์คนอื่น
“เปลี่ยนมายด์เซ็ต” โดย “ให้ค่าตัวเอง”
ได้ฤกษ์ดีแล้ว…“รักตัวเองรับปีใหม่”
———————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 31 ธ.ค.67
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4240454/