นับตั้งแต่โลกถือกำเนิดมาเมื่อ 4,600 ล้านปีที่แล้ว“พลังงานฟอสซิล”ซึ่งเกิดจากการทับถมของสัตว์มาหลายพันปีได้ช่วยหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ แต่ในอีกด้านของเหรียญ กลับก่อมลภาวะโลกร้อนและมลพิษฝุ่นPM2.5ที่เผชิญกันทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม มีแหล่งพลังงานหนึ่งที่อาจเข้ามาเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ เพราะสามารถสร้างกระแสไฟฟ้า และให้พลังงานความร้อนโดย “ไม่ก่อมลพิษใด ๆ” แม้ถูกเผาไหม้ก็ตาม นั่นคือ“พลังงานไฮโดรเจน”และนี่คือสิ่งที่“รัฐบาลจีน”หันมาทุ่มพัฒนาในขณะนี้ โดยได้กำหนดให้เป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีน
“พลังงานไฮโดรเจน” วิเศษกว่าพลังงานแบบเดิมอย่างไรจนทำให้จีนและอีลอน มัสก์หันมาสนใจ และจะเข้ามาพลิกโลกใบนี้อย่างไรบ้างแม้ว่าจีนยังไม่ครองตลาดไฮโดรเจนสูงเหมือนที่จีนครองส่วนแบ่งอีวีของโลกถึง 76% ตามข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งแห่งประเทศจีน ทว่า ผู้ใดก็ตามที่เข้าสู่ตลาดก่อน ย่อมเป็นผู้ลดต้นทุนต่อหน่วยได้ก่อน ซึ่งจะทำให้มี “ข้อได้เปรียบ” เหนือคู่แข่งที่เข้าสู่ตลาดช้ากว่า ยิ่งในช่วงที่ไฮโดรเจนยังไม่เป็นที่กล่าวขานมากนัก และยังไม่มีคู่แข่งมากรายเท่าอีวี
-
- หายนะโลกร้อนให้โอกาสทางธุรกิจ
นอกจากมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว จีนยังเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกในปี 2024 ด้วย เพื่อให้บรรลุการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดก่อนปี 2030 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 ดังที่จีนตั้งเป้าไว้ พญามังกรจึงหันมาทุ่มพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนนี้
จุดเด่นของพลังงานนี้ คือ หากเป็น “พลังงานฟอสซิลแบบเดิม” อย่างน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ เมื่อถูกเผาไหม้แล้วจะเกิดมลพิษและ “ก๊าซคาร์บอน” ขึ้น ซึ่งเป็นตัวการโลกร้อน
ต่างจาก “ไฮโดรเจน” เมื่อถูกเผาแล้ว กลับให้ไอน้ำและพลังงานความร้อนแทน โดย “ไม่มีควันหรือมลพิษเกิดขึ้น” จึงสามารถนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ทำความร้อน และลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมอย่างเหล็กและซีเมนต์ได้ เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ตามการคาดการณ์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะโลกร้อน โลกอาจต้องใช้ไฮโดรเจนอย่างน้อย 430 ล้านตันต่อปีภายในปี 2050 เทียบกับ 95 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งมีแนวโน้มสร้างโอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก สร้างงานหลายล้านตำแหน่งทั่วโลกในอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน และนี่ถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ที่จีนสนใจอย่างยิ่ง
ในปัจจุบัน “จีน” เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลิตไฮโดรเจนประมาณ 25 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของผลผลิตทั่วโลก
แม้ว่าจีนยังไม่ครองตลาดไฮโดรเจนสูงเหมือนที่จีนครองส่วนแบ่งอีวีของโลกถึง 76% ตามข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งแห่งประเทศจีน ทว่า ผู้ใดก็ตามที่เข้าสู่ตลาดก่อน ย่อมเป็นผู้ลดต้นทุนต่อหน่วยได้ก่อน ซึ่งจะทำให้มี “ข้อได้เปรียบ” เหนือคู่แข่งที่เข้าสู่ตลาดช้ากว่า ยิ่งในช่วงที่ไฮโดรเจนยังไม่เป็นที่กล่าวขานมากนัก และยังไม่มีคู่แข่งมากรายเท่าอีวี
แม้ว่าจีนเป็นผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ แต่ปัญหาคือ อุปทานแผงโซลาร์เซลล์ของจีนล้นตลาดอย่างหนัก เหล่าผู้ค้าจีนต่างขาดทุนและระบายสินค้ายาก อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของไฮโดรเจนอาจปลุก “ความต้องการโซลาร์เซลล์” ให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งได้
คำถามต่อมาคือ ทั้งสองอย่างเกี่ยวข้องกันอย่างไร สำหรับไฮโดรเจน แม้เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อมลภาวะ แต่แหล่งกำเนิดก๊าซนี้สามารถมาจากทั้ง “ต้นกำเนิดสกปรก” หรือ “บริสุทธิ์” ก็ได้ โดยหากไฮโดรมาจากแหล่งสกปรก อย่างการเผาถ่านหินเพื่อสกัดเอาไฮโดรเจนออกมา เราจะเรียกว่า ไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen)
แต่ถ้ามาจากแหล่งสะอาดอย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้สกัดไฮโดรเจนออกจากน้ำ เราเรียกไฮโดรเจนนี้ว่า “ไฮโดรเจนสีเขียว” (Green Hydrogen) นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเต็มที่ นั่นหมายความว่า ยิ่งไฮโดรเจนเขียวเกิดขึ้นมากเท่าไร ความต้องการพลังงานลมและแสงแดดก็มากขึ้นตามไปด้วย แล้วขนาดตลาดโซลาร์เซลล์อาจขยายใหญ่ต่อได้อีก
“โครงการไฮโดรเจนสีเขียว สามารถช่วย ‘ดูดซับ’ การผลิตพลังงานหมุนเวียนส่วนเกินในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมาก ซึ่งมีความต้องการใช้พลังงานต่ำ” เย้า เจ๋อ นักวิเคราะห์นโยบายระดับโลกประจำกรีนพีซแห่งเอเชียตะวันออกกล่าว
น่านน้ำใหม่ที่ไม่ฟาดฟันหนักเท่าอีวี
ก่อนหน้านี้เคยเกิดวิวาทะระหว่าง “รถอีวี” กับ “รถไฮโดรเจน” หลายคนมองว่าต้นทุนการผลิตรถไฮโดรเจนยังคงค่อนข้างสูง อีกทั้งเสี่ยงอันตรายมากกว่า เพราะไฮโดรเจนเป็นก๊าซไวไฟ จึงทำให้เทรนด์โลกแห่ไปทางรถยนต์ไฟฟ้าแทน
แต่ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมรถอีวีดูเหมือนมาถึง “จุดใกล้อิ่มตัว” แล้วหรือไม่ เมื่อกว่า 80% ของผู้ผลิตอีวีจีนอยู่ไม่รอด จากเดิมที่เคยมีบริษัทรถอีวีเกือบ 500 รายเมื่อปี 2019 แต่มีปิดกิจการไปราว 400 ราย เหลือเพียงประมาณ 100 รายในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนผู้ผลิตอีวีขยายใหญ่กว่าตลาดจนต้องหันมาฟาดฟันราคากันเอง กลายเป็นน่านน้ำสีเลือด
แม้แต่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ระดับโลกก็เปลี่ยนแนวคิดด้านไฮโดรเจน เดิมทีอีลอนเคยวิจารณ์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนว่า “โง่เขลาอย่างยิ่ง” และเป็น “สิ่งที่โง่ที่สุดเท่าที่ผมจินตนาการได้ในการกักเก็บพลังงาน” อีกทั้งเสริมอีกว่า การกักเก็บไฮโดรเจนมีความซับซ้อน และเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีประสิทธิภาพต่ำกว่าแบตเตอรี่ จนไม่เหมาะกับการใช้งานจริง
แต่ในปัจจุบัน อีลอนเปลี่ยนความคิดนี้แล้วแบบ 180 องศา โดยประกาศว่า Tesla จะเริ่มใช้พลังงานไฮโดรเจนในปี 2026 นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับ Tesla ซึ่งก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า
– ปั๊มรถไฮโดรเจน (เครดิต: Shutterstock)
แน่นอนว่าเมื่อรายใหญ่ Tesla ขยับ พญามังกรก็ขยับด้วย รัฐบาลจีนได้ออกแผนพัฒนาไฮโดรเจนระยะกลางและระยะยาวสำหรับช่วงปี 2021-2035 โดยมีเป้าหมายที่จะนำรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 50,000 คันออกสู่ท้องถนนภายในปี 2025 พร้อมสร้างสถานีบริการเติมไฮโดรเจนรองรับ ไม่แน่ว่าสงครามเลือดอีวีอาจย้ายไปสู่ตลาดใหม่อย่าง “ไฮโดรเจน” ก็เป็นได้ ในการชิงเป็นเจ้าตลาดนี้
สำหรับข้อกังวลว่าต้นทุนพลังงานไฮโดรเจนยังคงแพง อันที่จริงแล้วก่อนหน้านั้น อีลอน มัสก์ก็เคยถูกสบประมาทถึงต้นทุนแบตเตอรี่อีวีในยุคนั้นที่สูง หลายคนเชื่อว่าอีวีคงไม่สามารถแข่งขันราคากับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ แต่ในปัจจุบัน จะเห็นว่ากลายเป็นรถยนต์สันดาปที่เริ่มอยู่ไม่รอดแทน
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โรบิน หลิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Refire Group ผู้จัดหาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนของจีนกล่าวว่า ด้วยต้นทุนของก๊าซที่ลดลงและประสิทธิภาพของยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น คาดว่าในประเทศจีน รถบรรทุกที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนจะสามารถแข่งขันด้านต้นทุนตลอดอายุการใช้งานได้กับคู่แข่งที่ใช้น้ำมันภายในปี 2027
ยิ่งไปกว่านั้น หัวใจสำคัญของการผลิต “ไฮโดรเจนสีเขียว” อยู่ที่เครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ (Electrolyzer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กระแสไฟฟ้าแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยเทคโนโลยีนี้มีราคาถูกลงถึง 40% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะลดลงอีก 30% ภายในปี 2025 ตามการคาดการณ์ของบริษัทด้านพลังงาน Wood Mackenzie ด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตไฮโดรเจนสีเขียวมีแนวโน้มเติบโตขึ้นถึง 12 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า
——————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 17 ม.ค. 68
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1162545