การอบรมเลี้ยงดูเด็กเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ปกครอง เนื่องจากเด็กคือผู้ที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม การอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กมีพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังคงมีการลงโทษเด็กด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว อีกทั้งยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่มุ่งปกป้องศักดิ์ศรีและสิทธิของเด็กในฐานะบุคคลหนึ่งที่มีคุณค่า ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก) โดยเสนอแก้ไขมาตรา 1567 (2) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการใช้ความรุนแรงในการลงโทษบุตร ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 วุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปคือการนำร่างฯ นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศแล้ว กฎหมายจึงจะมีผลใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 1567 (2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน บัญญัติให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ถ้อยคำดังกล่าวถูกตีความว่าผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถใช้ความรุนแรงในการอบรมสั่งสอนบุตรได้ ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวถูกมองว่า “สมควร” ซึ่งอาจนำไปสู่การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ และยังเปิดช่องให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย ส่วนมาตรา 1567 (2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการแก้ไข บัญญัติว่าผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือกระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ การแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างมาตรฐานใหม่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก…