การ์ทเนอร์ เผยการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับปี 2026 และอนาคตข้างหน้า โดย การ์ทเนอร์ระบุว่า Generative AI (GenAI) กำลังส่งผลกระทบวงกว้างต่อพื้นที่ที่เคยมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในด้านการทำงาน ทั้งการต้องปรับตัวและปรับโครงสร้างใหม่ขององค์กรเพื่อรองรับ AI การถูกปรับลดตำแหน่งเพื่อนำ AI มาแทนที่ ตลอดจนผลกระทบต่อด้านอารมณ์ของมนุษย์จากการเสพติดเทคโนโลยี
แดริล พลัมเมอร์ รองประธานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิจัย และ Gartner Fellow กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ว่าเราจะไปไหนก็หลีกเลี่ยงผลกระทบของ AI ไม่ได้ และ AI ก็กำลังพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการใช้งานของมนุษย์ ก่อนที่จะไปถึงจุดที่มนุษย์ไล่ตามไม่ทัน เราต้องยอมรับก่อนว่า AI ช่วยให้เราพัฒนาได้ขึ้นมากแค่ไหน”
โดยการ์ทเนอร์ได้เผยคาดการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของ AI ออกมาดังนี้
ปรับโครงสร้างองค์กร ใช้ AI แทนในตำแหน่งผู้บริหาร
ในปี 2026 องค์กร 20% จะใช้ AI ในการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยจะลดตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางที่มีอยู่ในปัจจุบันลงมากกว่าครึ่ง
องค์กรที่นำ AI มาใช้เพื่อลดจำนวนผู้บริหารระดับกลางจะสามารถลดต้นทุนค่าจ้างในระยะสั้นและทำให้องค์กรประหยัดขึ้นในระยะยาว ซึ่งการนำ AI มาใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและขยายขอบเขตการควบคุมด้วยการทำให้เป็นอัตโนมัติ ทั้งการจัดตารางงาน การรายงาน และการติดตามผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ซึ่งช่วยให้ผู้จัดการมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมเชิงกลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้จะนำมาซึ่งความท้าทายให้กับองค์กร เช่น พนักงานส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในงาน ขณะที่ผู้จัดการก็หนักใจกับจำนวนผู้ใต้บังคับบัญชาที่เพิ่มขึ้น และพนักงานที่เหลือไม่เต็มใจเปลี่ยนแปลงหรือยอมรับการใช้ AI มาเป็นตัวขับเคลื่อนการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน และอาจส่งผลต่อเส้นทางการเป็นพี่เลี้ยงสอนและการเรียนรู้ที่อาจจะค่อย ๆ หายไป จนทำให้พนักงานระดับล่างขาดโอกาสในการพัฒนา
เข้าสู่ยุคเสพติดดิจิทัล จนประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ในปี 2028 การจมดิ่งไปในเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อประชากรในด้านการเสพติดดิจิทัลและการแยกตัวจากสังคม ส่งผลให้ 70% ขององค์กรต้องนำนโยบายต่อต้านดิจิทัลมาใช้งาน
การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2028 จะมีประชากรประมาณหนึ่งพันล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการเสพติดดิจิทัล ซึ่งส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีความเครียดเพิ่มขึ้น และเกิดปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น มีความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ การจมดิ่งในดิจิทัลจะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อทักษะทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่า
พลัมเมอร์กล่าวว่า “ผลกระทบของการแยกตัวจากการจมดิ่งในดิจิทัลจะนำไปสู่การแตกแยกในการทำงาน (Disjointed Workforce) ทำให้องค์กรพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและผู้ร่วมงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องกำหนดช่วงเวลาดีท็อกซ์ดิจิทัลให้เป็นข้อบังคับสำหรับพนักงาน สั่งห้ามการสื่อสารนอกเวลางาน และนำเครื่องมือและเทคนิคแบบอนาล็อกกลับมาใช้เป็นข้อบังคับ อาทิ การประชุมที่ปลอดหน้าจอ การงดใช้อีเมลในวันศุกร์ หรือการพักรับประทานอาหารกลางวันนอกโต๊ะทำงาน เป็นต้น”
ใช้ AI ตัดสินใจแทนผู้บริหาร
ในปี 2029 คณะกรรมการบริษัท 10% ทั่วโลกจะใช้ AI Guidance มาใช้ในการตัดสินใจที่มีผลกระทบสำคัญต่อธุรกิจ ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อผู้บริหาร ขณะเดียวกันก็สามารถลดการตัดสินใจแบบไร้เหตุผลลงได้ข้อมูลเชิงลึกที่สร้างขึ้นจาก AI จะมีผลกระทบวงกว้างต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร และทำให้กรรมการบริษัทนำมาใช้ท้าทายการตัดสินใจของผู้บริหาร นี่จะเป็นการหมดยุคของซีอีโอที่ชอบตัดสินใจตามอำเภอใจโดยไม่มีเหตุผลรองรับ
พลัมเมอร์กล่าวว่า “ในช่วงแรก ข้อมูลเชิงลึกจาก AI จะดูคล้ายกับ Minority Report ที่ยังไม่สะท้อนมุมมองของกรรมการส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลเชิงลึกที่ได้จาก AI นี้พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิผล มันจะได้รับการยอมรับในหมู่ผู้บริหารที่แข่งกันหาข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ทางธุรกิจ”
ใช้ AI วิเคราะห์อารมณ์ของพนักงาน เพื่อออกแบบการทำงานที่เหมาะสมที่สุด
ในปี 2028 องค์กรขนาดใหญ่ 40% จะนำ AI มาใช้เพื่อจัดการและวัดอารมณ์รวมถึงพฤติกรรมของพนักงาน เพื่อปรับปรุงรูปแบบการทำงานให้สอดรับกับพฤติกรรมของพนักงาน
AI มีความสามารถวิเคราะห์ความรู้สึกจากการมีปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารในที่ทำงาน สิ่งนี้ให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกโดยรวมที่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่กำหนด ช่วยให้ทีมงานมีแรงจูงใจและมีส่วนร่วมในการทำงาน
“พนักงานอาจรู้สึกว่าความเป็นอิสระและความเป็นส่วนตัวของพวกเขาถูกละเมิด จนทำให้เกิดความไม่พอใจและความไว้วางใจลดลง” พลัมเมอร์กล่าว “แม้ประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีการวิเคราะห์พฤติกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI นั้นจะมีมากมาย แต่บริษัทต้องรักษาสมดุลระหว่างการนำ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพร่วมกับการดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานอย่างจริงใจ เพื่อเลี่ยงผลเสียด้านขวัญกำลังใจและความจงรักภักดีต่อองค์กรในระยะยาว”
สัญญาจ้างในอนาคต จะขอข้อมูลเพื่อเทรน AI
ในปี 2027 สัญญาจ้างงานใหม่ 70% จะรวมข้อกำหนดเรื่องการอนุญาตสิทธิ์และการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับการแสดงตัวตนในระบบ AI
โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLMs) ที่เกิดขึ้นไม่มีกำหนดถึงวันสิ้นสุด นั่นหมายความว่าข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานที่ถูกจัดเก็บโดย LLMs ขององค์กรนั้นจะยังอยู่ใน LLM ทั้งช่วงระหว่างการจ้างงานและหลังจากสิ้นสุดการจ้างงาน
นำไปสู่การถกเถียงในเชิงสาธารณะ ที่ตั้งคำถามกันว่าพนักงานหรือนายจ้างมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของตัวตนดิจิทัลนี้หรือไม่ ซึ่งในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมาย โดยข้อกำหนดการใช้งานอย่างเป็นธรรมจะถูกนำมาใช้เพื่อปกป้ององค์กรจากการฟ้องร้องในทันที แต่ก็ยังคงก่อให้เกิดข้อขัดแย้งตามมา
จะมีชื่อ GPT เพิ่มมากขึ้น เพื่อปรับโมเดลและแบรนด์ใหม่
ในปี 2028 บริษัทในดัชนี S&P กว่า 30% จะติดฉลาก GenAI มากขึ้น อย่างเช่น “xxGPT” เพื่อปรับภาพแบรนด์และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ
ผู้บริหาร CMO ต่างมองว่า GenAI เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้เปิดตัวร่วมกับทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่และโมเดลธุรกิจใหม่ โดย GenAI ยังเปิดโอกาสให้เกิดช่องทางรายได้ใหม่ ๆ จากการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งมอบประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้น รวมถึงทำให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นอัตโนมัติ ขณะที่ภูมิทัศน์ของ GenAI มีการแข่งขันมากขึ้น หลายบริษัทกำลังสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ด้วยการพัฒนาโมเดลเฉพาะทางที่ปรับให้เหมาะกับอุตสาหกรรมของตน
AI Agent ที่กำลังมาแรง อาจเป็นช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
ในปี 2028 คาดว่า 25% ของการละเมิดความปลอดภัยในองค์กร จะถูกสืบย้อนกลับไปที่การใช้ AI Agent ในทางที่ผิด ทั้งจากภายนอกและภายใน
องค์กรจำเป็นต้องมีโซลูชันด้านความปลอดภัยและความเสี่ยงใหม่ ๆ เนื่องจาก AI Agent เพิ่มพื้นที่การโจมตีที่มองไม่เห็นในองค์กรมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะบังคับให้องค์กรต้องปกป้องธุรกิจของตนจากผู้โจมตีภายนอกที่ชาญฉลาดและจากพนักงานที่ไม่พอใจที่สร้าง AI Agent เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตราย
“องค์กรไม่สามารถรอที่จะนำระบบการควบคุมต่าง ๆ เพื่อลดภัยคุกคามจาก AI agent มาใช้ได้ ดังนั้นแนวทางที่ง่ายกว่าคือการสร้างระบบการลดความเสี่ยงและความปลอดภัยเข้าไปไว้ในตัวผลิตภัณฑ์และซอฟต์แวร์ ซึ่งดีกว่าเพิ่มเข้าไปหลังจากเกิดเหตุการละเมิดความปลอดภัย” พลัมเมอร์กล่าวว่า
นอกจากนี้ ในปี 2028 ผู้บริหาร CIOs 40% จะเรียกร้องให้มี “Guardian Agents” สำหรับเฝ้าติดตาม ดูแล หรือควบคุมผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระทำของ AI Agent โดยอัตโนมัติ
องค์กรกำลังให้ความสนใจกับ AI Agent เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อมีการเพิ่มระดับความอัจฉริยะใน GenAI Agent ใหม่ ๆ ก็มีแนวโน้มที่ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์จะนำมาปรับใช้สำหรับวางแผนเชิงกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าตลอดปี 2026 ตัวเลขการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่มี AI Agent จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมียูสเคสการใช้งานที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
โดย “Guardian Agents” เป็นเครื่องมือด้านความปลอดภัยสำหรับ AI Agent คือการพัฒนาต่อยอดจากแนวคิดการตรวจสอบความปลอดภัย การสังเกตการณ์ การรับรองการปฏิบัติตามกฎระเบียบ จริยธรรม การกรองข้อมูล การตรวจสอบบันทึก และกลไกอื่น ๆ อีกมากมายของ AI Agent
“อีกไม่นานการโจมตีด้านความปลอดภัยของ AI Agent จะเป็นพื้นที่ภัยคุกคามใหม่ ซึ่งการนำมาตรการป้องกัน, ตัวกรองความปลอดภัย, การกำกับดูแลโดยมนุษย์ หรือแม้แต่การสังเกตการณ์ด้านความปลอดภัยมาใช้อาจยังไม่เพียงพอที่จะรับประกันว่าการใช้ AI agent นั้นมีความเหมาะสมและใช้งานได้อย่างสม่ำเสมอ” พลัมเมอร์กล่าว
——————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา thairath money / วันที่เผยแพร่ 13 ม.ค. 68
Link : https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/digital_transformation/2835875