การอบรมเลี้ยงดูเด็กเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ปกครอง เนื่องจากเด็กคือผู้ที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม การอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กมีพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังคงมีการลงโทษเด็กด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว อีกทั้งยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่มุ่งปกป้องศักดิ์ศรีและสิทธิของเด็กในฐานะบุคคลหนึ่งที่มีคุณค่า
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก) โดยเสนอแก้ไขมาตรา 1567 (2) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการใช้ความรุนแรงในการลงโทษบุตร ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 วุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปคือการนำร่างฯ นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศแล้ว กฎหมายจึงจะมีผลใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 1567 (2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน บัญญัติให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ถ้อยคำดังกล่าวถูกตีความว่าผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถใช้ความรุนแรงในการอบรมสั่งสอนบุตรได้ ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวถูกมองว่า “สมควร” ซึ่งอาจนำไปสู่การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ และยังเปิดช่องให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย
ส่วนมาตรา 1567 (2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการแก้ไข บัญญัติว่าผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือกระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ การแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างมาตรฐานใหม่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก และเคารพต่อสิทธิของเด็กมากยิ่งขึ้น
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ คือข้อกังวลจากคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UN Committee on the Rights of the Child) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่ามาตรา 1567 (2) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั้น ขัดกับหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ห้ามการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงในทุกกรณี ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว
นอกจากนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ว่าการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง เช่น การตี การข่มขู่ ไม่ได้ช่วยปรับพฤติกรรมเด็กในระยะยาว แต่กลับส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ และความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนี้ การแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 1567 (2) จึงเป็นความพยายามของประเทศไทยในการตอบสนองต่อข้อกังวลเหล่านี้
ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะส่งผลดีหลายประการ เช่น ผู้ปกครองจะถูกกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนวิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตรจากเดิมที่เคยใช้ความรุนแรงเป็นการอบรมเชิงบวก และเด็กจะได้รับการปกป้องจากการใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคมในระยะยาวได้ เนื่องจากเด็กที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพสิทธิของผู้อื่น
สำหรับในต่างประเทศ หลายประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิเด็กและผลกระทบของการใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดู จึงได้มีการออกกฎหมายเพื่อห้ามการลงโทษเด็ก มีรายละเอียดดังนี้
สวีเดน ประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายห้ามตีเด็กในปี 2522 กฎหมายฉบับนี้คือ The Anti-Spanking Law ซึ่งมีบทบัญญัติที่ระบุชัดเจนว่า เด็กต้องไม่ถูกลงโทษทางร่างกายหรือถูกปฏิบัติใดๆ ที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีหรือทำให้เสียเกียรติ สวีเดนยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง เช่น การจัดอบรมและการให้คำปรึกษา ซึ่งช่วยลดอัตราการใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอร์เวย์ ได้บัญญัติกฎหมายที่ห้ามการลงโทษเด็กทุกรูปแบบ คือ The Children Act โดยมีการแก้ไขในปี 2553 มีบทบัญญัติที่ห้ามการลงโทษเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิด นอร์เวย์ยังมีระบบสนับสนุนครอบครัวอีกด้วย เช่น การให้บริการทางจิตวิทยาสำหรับเด็ก การจัดโปรแกรมสำหรับผู้ปกครองที่มีความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรง และการจัดทีมที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงดูเด็ก
ฝรั่งเศส ในปี 2562 ฝรั่งเศสแก้ไขกฎหมาย Equality and Citizenship Law เพื่อห้ามการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงการใช้ความรุนแรงในการอบรมเลี้ยงดูเด็กทุกรูปแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็กที่ปลอดความรุนแรง ฝรั่งเศสยังสนับสนุนการให้ความรู้ในโรงเรียนและชุมชนเกี่ยวกับสิทธิเด็กและการเลี้ยงดูเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย
การศึกษากฎหมายต่างประเทศข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยมากกว่าการออกกฎหมายที่ห้ามการลงโทษเด็กในรูปแบบต่าง ๆ แต่ยังจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีการอบรมเลี้ยงดูโดยไม่ใช้ความรุนแรงอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว ที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึงเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในการเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
———————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 19 ม.ค.68
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/health/social/1162344