การกลับมาในสมัยที่สองของ โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อให้อเมริกาเข้าสู่ยุคทอง ผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ ความปั่นป่วนวุ่นวายเริ่มขยายวงกว้างจากคำสั่งประธานาธิบดีอย่างน้อย 2 ฉบับที่เขาลงนามในวันสาบานตนรับตำแหน่ง
หนึ่ง คือการผลักดันนโยบายสำหรับ ‘สองเพศเท่านั้น’ และ สอง ยุตินโยบายความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity, and Inclusion) ที่รู้จักกันดีในชื่อ DEI
นโยบาย DEI ได้รับการสนับสนุนในสมัย โจ ไบเดน ที่ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีในวันรับตำแหน่ง เมื่อทรัมป์กลับมาอีกสมัย สิ่งแรกๆ ที่เขาลงมือคือ ล้างมรดกไบเดนด้วยคำสั่งประธานาธิบดีในวันรับตำแหน่งเช่นกัน
DEI ในสายตาทรัมป์และพลพรรคฝ่ายขวานั้นทั้งสุดโต่ง ผิดกฎหมาย และเลือกปฏิบัติ อะไรจะดีไปกว่ายกเลิกนโยบายพวกนี้แล้วแทนที่ด้วยระบบที่อิงตามผลงาน (merit-based) และให้คุณค่ากับความสามารถของผู้คนของพรรครีพับลิกัน เพื่อให้ความยุติธรรมและความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นจริง
แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากฝ่ายขวา ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามย่อมไม่เห็นด้วยอย่างถึงที่สุด และเริ่มมีตัวแทนฟ้องผู้นำสหรัฐฯ แล้ว
การล้างบาง DEI โดยทรัมป์ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ‘สามัญสำนึก’ หรือสิ่งที่สังคมอเมริกันยึดถือและให้คุณค่าร่วมกันมา บัดนี้กลับกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายและไร้ประโยชน์ไปได้อย่างไร
ที่มาของ DEI
ต้นทางของ DEI มีรากมาจากการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางสังคมช่วงกลางทศวรรษ 1960 ทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษ ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการผลักดันสิทธิพลเมือง ความเท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติ
การเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในสังคมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก เป็นผลจากการที่หลายประเทศออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งมักเน้นที่ความเท่าเทียม ต่อต้านการเลือกปฏิบัติ และให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสังคมยุคใหม่ DEI จึงกลายเป็นชุดคุณค่าทางสังคมในช่วงไม่นานมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรและธุรกิจต่างๆ
ได้เวลาล้างไพ่! ล้มมรดกไบเดน
“นับจากนี้ นโยบายอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีเพียงสองเพศคือ ชายและหญิง” หนึ่งในวรรคทองของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง
คำสั่งประธานาธิบดีที่ออกมาในวันเดียวกันโจมตีอัตลักษณ์ทางเพศ โดยอ้างว่า ‘ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงทางชีววิทยา’ และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้คำว่า ‘เพศ’ แทน ‘เพศสภาพ’ ในแบบฟอร์มทางการ
นอกจากนี้ยังสั่งให้ยุติโครงการ DEI ทั้งหมดในรัฐบาล ตั้งแต่การฝึกอบรมต่อต้านอคติไปจนถึงจัดหาทุนสำหรับเกษตรกร รวมถึงแนวทางการจ้างงานของรัฐบาลกลาง พร้อมกับเพิกถอนคำสั่งประธานาธิบดีสมัยไบเดนที่เกี่ยวข้องเกือบ 70 ฉบับ
สำนักงานบริหารงานบุคคลของสหรัฐฯ (OPM) ได้แจ้งให้พนักงานทุกคนในโครงการ DEI ของรัฐบาลกลางทราบว่า พวกเขาถูกพักงานตั้งแต่เย็นวันพุธที่ 22 มกราคมเป็นต้นไป ฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องได้รับการร้องขอให้เตรียมแผนการลดขนาดองค์กร ซึ่งนั่นหมายถึงการเลิกจ้าง
ทรัมป์เรียกนโยบาย DEI ว่าเป็น ‘การเลือกปฏิบัติ’ และยืนกรานที่จะฟื้นฟูการจ้างงานที่อิงตามผลงานอย่างเคร่งครัด เขายังถือว่านโยบาย DEI และ DEIA (ความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และการเข้าถึง) ‘ผิดกฎหมาย’ และขัดต่อกฎหมายของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีศักยภาพที่จะละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญซึ่งปกป้องชาวอเมริกันจากการเลือกปฏิบัติ
การต่อสู้แย่งชิงความหมายของคำมีอิทธิพลอย่างมากในทางการเมือง ตอนนี้ดูเหมือนฝ่ายขวาจัดในสหรัฐฯ จะบิดความหมายและความเข้าใจว่าด้วยความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม ให้กลายเป็นผู้ร้ายได้สำเร็จ?
โดนัลด์ ทรัมป์
‘ปฏิวัติสามัญสำนึก’ จากแว่นฝ่ายขวา
อีกวรรคทองของทรัมป์ในวันสาบานตนคือ การให้คำมั่นว่าจะ ‘ปฏิวัติสามัญสำนึก’ พร้อมกับสัญญาว่า จะ “สร้างสังคมที่ไม่แบ่งแยกสีผิวและให้คุณค่าบุคคลตามความสามารถ” ทว่าเมื่อออกมาเป็นคำสั่งประธานาธิบดี กลับเป็นการเพิกถอนคำสั่งของ ลินดอน จอห์นสัน อดีตประธานาธิบดีในปี 1965 ซึ่งห้ามการเลือกปฏิบัติอันมีที่มาจากศาสนา สีผิว ชาติกำเนิด หรือเพศสภาพ
คำสั่งประธานาธิบดีประณาม DEI ว่าเป็น “การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและเพศที่อันตราย เสื่อมเสีย และผิดศีลธรรม” ซึ่ง “รัฐบาลกลาง บริษัทใหญ่ สถาบันการเงิน อุตสาหกรรมการแพทย์ สายการบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และสถาบันอุดมศึกษา” นำมาใช้ คำสั่งดังกล่าวยังให้เหตุผลว่า มาตรการ DEI จะ “ทำลายความหนึ่งเดียวกันของชาติ” ตลอดจน “ค่านิยมอเมริกันดั้งเดิม”
ในสมัยทรัมป์ที่จะนำอเมริกาเข้าสู่ยุคทอง ต้องเปลี่ยนจาก DEI มาเป็นการให้คุณค่ากับผลงานและความสามารถของตัวบุคคล (Meritocracy หรือ merit-based) ซึ่งเป็นสโลแกนที่พรรครีพับลิกันสนับสนุน
เอริกา โฟลดี (Erica Foldy) อาจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยวากเนอร์ (Robert F. Wagner Graduate School of Public Service) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ โต้แย้งว่า โครงการด้าน DEI ส่งเสริมให้องค์กรให้คุณค่าจากความสามารถมากขึ้น จึงไม่ได้ขัดแย้งต่อระบบคุณค่าของพรรครีพับลิกันแต่อย่างใด
เนื่องจาก DEI มุ่งหวังว่าคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากภูมิหลังอันหลากหลายล้วน “มีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะได้รับการจ้างงาน และย่อมได้รับค่าจ้างเท่ากับพนักงานในระดับที่เทียบเคียงกัน”
นั่นหมายความว่า DEI มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบที่อิงความสามารถอย่างแท้จริง โดยที่การจ้างงาน เงินเดือน การรักษาคนทำงานไว้ และการเลื่อนตำแหน่ง จะได้รับการพิจารณาโดยไม่มีอคติหรือเลือกปฏิบัติ
เธอยกตัวอย่างโครงการ DEI เช่น มีมาตรการช่วยผู้พิการให้เข้าถึงตำแหน่งงาน แก้ปัญหาช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ คำนึงถึงความหลากหลายในการคัดเลือกคนทำงาน หรือจัดอบรมต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขแนวปฏิบัติขององค์กรที่เลือกปฏิบัติ
“การดำเนินงานแบบเดิมๆ โดยไม่ใส่ใจต่อการเลือกปฏิบัติต่างหาก ที่ถือเป็นความไม่เสมอภาคอย่างยิ่ง” โฟลดี ให้ความเห็น
ทำไมต้องกำจัดนโยบาย DEI
นโยบาย DEI กลับกลายเป็นอาวุธของฝ่ายอนุรักษนิยมสหรัฐฯ ซึ่งกระหน่ำโจมตีซ้ำๆ ว่าเป็นนโยบาย woke ที่ไม่ได้นำไปสู่ความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
ฝ่ายขวาโดยเฉพาะขวาสุดโต่งมองว่านโยบายเหล่านี้ส่งเสริมการเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติหรือเพศสภาพมากกว่าความสามารถส่วนบุคคล และส่งเสริมการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่จะยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคม กระแสต้าน woke ของฝ่ายขวาจัดมักอ้างว่าทำเพื่อฟื้นฟูและคืนสมดุลแก่สังคม
ตัวอย่างการโจมตี DEI มีตั้งแต่กรณีล่าสุดอย่างเฮลิคอปเตอร์ทหารชนเครื่องบินในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ผู้นำสหรัฐฯ ออกมากล่าวหาเอง โดยทรัมป์คาดเดาแต่ไม่ได้ให้หลักฐานว่า มาตรฐานการจ้างงานผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศในสำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ ที่ลดลงในช่วงสมัยโจ ไบเดน และบารัก โอบามา อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยครั้งนี้
ช่วงเหตุไฟไหม้ป่าแคลิฟอร์เนียเมื่อช่วงต้นปี หัวหน้าหน่วยดับเพลิงลอสแองเจลิสที่เป็น LGBTQ โดนถล่มหนักว่าเน้นไปที่สิทธิและความ woke มากกว่าจะจริงจังกับการแก้ปัญหา
ไปจนถึงกรณีสะพานถล่มในบัลติมอร์เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เมื่อเห็นว่านายกเทศมนตรีของเมืองเป็นแอฟริกันอเมริกันหรือคนผิวสีจากพรรคเดโมแครต แม้จะออกมาแถลงว่าเกิดจากอุบัติเหตุ แต่เสียงวิจารณ์ก็สวนขึ้นทันควันว่า เพราะให้ความสำคัญกับนโยบายความหลากหลายมากกว่าความเป็นอยู่ที่ดีและความปลอดภัยประชาชน
ประเด็น DEI ยังก่อข้อพิพาทระหว่างสองขั้วการเมือง เช่น ในปี 2022 รอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา อดีตตัวเก็งคู่แข่งทรัมป์ที่ถอนตัวไปก่อน พยายามผลักดันให้ผ่านกฎหมาย ‘Stop WOKE’ (WOKE ในที่นี้ย่อจาก Wrongs to Our Kids and Employees) เพื่อจำกัดการจัดฝึกอบรมด้านความหลากหลายในที่ทำงาน
ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินในเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ จากนั้นเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ศาลรัฐบาลกลางได้มีคำสั่งระงับกฎหมายดังกล่าวถาวร
“กลุ่มขวาจัดนำพาแนวคิดเหล่านี้ไปสุดโต่งจริงๆ และไม่กังวลว่าจะดูเป็นการเหยียดเชื้อชาติเลย” นาตาชา วาริกู (Natasha Warikoo) นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ และนักวิจัยด้านความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ด้านการศึกษา กล่าว และเสริมว่า พวกเขาแสดงออกเรื่องนี้อย่างเปิดเผยและยังภูมิใจในมุมมองของตนเองด้วย
แผนการกำจัด DEI แพร่กระจายไปในหลายแวดวง ตั้งแต่หน่วยงานรัฐบาลกลางและกองทัพที่ทรัมป์มุ่งเน้นเป็นพิเศษ กรณีกองทัพมีคำสั่งประธานาธิบดี 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องโดยตรง นั่นคือ ปิดโอกาสทหารที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ และยกเลิกโครงการ DEI ในกองทัพ
นอกจากนั้นยังลามไปถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยคำสั่งประธานาธิบดีเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาลกลางสอบสวนสถานศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าส่งเสริม ‘การเลือกปฏิบัติทาง DEI ที่ผิดกฎหมาย’ และสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบมหาวิทยาลัยที่มีทุนทรัพย์เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ทุนทรัพย์ของสแตนฟอร์ดในปี 2023 อยู่ที่มากกว่า 36,000 ล้านดอลลาร์)
จุดจบ DEI และสงครามแห่งถ้อยคำที่ดำเนินต่อไป
เมื่อวันที่ 28 มกราคม องค์กร Public Employees for Environmental Responsibility (PEER) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางรัฐแมริแลนด์ กรณีเลิกจ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางที่รับผิดชอบโครงการ DEI โดยกล่าวหาว่าคำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์ผิดกฎหมายและเป็นการกระทำเกินอำนาจหน้าที่
ตัวแทนขององค์กร PEER ในการยื่นคำฟ้องคือ Citizens for Responsibility and Ethics in Washington (CREW) และ Democracy Forward นอกจากทรัมป์ในฐานะจำเลยที่ 1 ยังมีอีก 2 จำเลย นั่นคือ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานบุคคลของสหรัฐฯ (OPM) และสำนักงาน OPM
นี่จึงยังไม่ใช่จุดจบของ DEI แต่เป็นจุดตั้งต้นของการต่อสู้ครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม ความพยายามช่วงชิงความหมายของ DEI รวมถึงคำใหญ่ๆ อย่าง ‘สามัญสำนึก’ ของทรัมป์และพลพรรคฝ่ายขวา อาจเป็นอาวุธร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยเสียเอง
ย้อนกลับไปเมื่อคืนวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2024 ณ เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะ
“นี่คือการปรับโครงสร้างใหม่ครั้งประวัติศาสตร์ การรวมพลเมืองจากทุกภูมิหลังเข้าด้วยกันภายใต้แกนกลางแห่งสามัญสำนึก เราคือพรรคแห่งสามัญสำนึก” ทรัมป์ กล่าว
โวหารว่าด้วย ‘สามัญสำนึก’ คือกลยุทธ์ที่ทรัมป์ใช้ในช่วงรณรงค์หาเสียง รวมถึงในระหว่างดำรงตำแหน่งสมัยแรก แน่นอนว่าพรรครีพับลิกันไม่ได้ใช้กลยุทธ์นี้เป็นกลุ่มแรก นักเคลื่อนไหวในทุกอุดมการณ์ต่างใช้ข้ออ้างเรื่องอำนาจนี้เพื่อพิสูจน์แนวคิดของตนมายาวนานนับศตวรรษ
การที่ประธานาธิบดีคนใหม่สถาปนาพรรคของตนเป็นพรรคแห่งสามัญสำนึก หรือพยายามยึดกุมวิธีคิดที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกัน เป็นการสื่อสารกลายๆ ว่าฝั่งตนมีเหตุมีผลและน่าเชื่อถือกว่า นอกจากนี้บุคคลสำคัญของฝ่ายขวาและแม้แต่ฝ่ายขวาจัดจำนวนมากก็อ้างอิงถึงสามัญสำนึกอย่างเป็นระบบ
เมื่อทรัมป์กล่าวว่า “เราอยู่ในวัฒนธรรมอันเลวร้าย” ที่ “ไร้สามัญสำนึก” และยืนยันว่าพรรครีพับลิกันเป็นพรรคแห่งสามัญสำนึก จึงไม่อาจตีความเป็นอื่นได้เลยว่า ต้นเหตุที่ทำให้สังคมอเมริกันไร้สามัญสำนึกนั้นมาจากไหน
อ้างอิง: The Guardian (1), The Guardian (2), Aljazeera, TIME, Le Monde
——————————————————————————————————–
ที่มา : Thairath Plus / วันที่เผยแพร่ 3 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105143