วันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 2025 ดับเบิลยูเอ็มเอฟ หรือกองทุนอนุสรณ์สถานโลก (WMF : World Monuments Fund) ประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อแหล่งอนุสรณ์สถานใหม่ 25 แห่ง เข้าข่ายเฝ้าระวังความเสียหาย “อนุสรณ์สถานโลกต้องเฝ้าระวังประจำปี 2025” (World Monuments Watch 2025) โดยมีดวงจันทร์เป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานที่ต้องเฝ้าระวังด้วย
“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ ดับเบิลยูเอ็มเอฟ หรือกองทุนอนุสรณ์สถานโลก ไปดูอนุสรณ์สถานบางแห่งที่ถูกประกาศเพื่อการเฝ้าระวังปี 2025 ไปดูว่า ทำไมดวงจันทร์จึงเข้าไปอยู่ในรายชื่ออนุสรณ์สถานโลกที่ต้องเฝ้าระวังด้วย และที่สำคัญ ดับเบิลยูเอ็มเอฟตั้งใจจะทำอะไรกับรายชื่อที่ได้ประกาศไปแล้วว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกคุกคาม
งานของ “ดับเบิลยูเอ็มเอฟ” หรือ “กองทุนอนุสรณ์สถานโลก”
ดับเบิลยูเอ็มเอฟ เป็นองค์กรเอกชนระดับโลกไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 60 ปีที่แล้ว (ในปี ค.ศ. 1965) มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์และสถานที่มรดกทางวัฒนธรรมของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ร็อคกีเฟลเลอร์เซ็นเตอร์
โดยทุนสนับสนุนของเอกชนและการสนับสนุนของประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการทำงานร่วมกับยูเนสโก (UNESCO) ดับเบิลยูเอ็มเอฟ ใช้วิธีการระดมประสบการณ์และความคิดเห็นจากบุคคลและองค์กรทั่วโลก ตรวจศึกษาอนุสรณ์สถานสำคัญทั่วโลกที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการถูกคุกคาม โดยภัยธรรมชาติ เช่น โลกร้อน การขยายถิ่นที่อยู่ของมนุษย์จากความแออัด การท่องเที่ยว และสงคราม
ตั้งแต่หนึ่งปีหลังการเริ่มต้นของดับเบิลยูเอ็มเอฟ ก็มีการขึ้นทะเบียนรายชื่ออนุสรณ์สถานโลกที่มีความเสี่ยงสูงทุกประมาณสองปี ซึ่งในบัญชีรายชื่อแรกเมื่อปี ค.ศ. 1966 มีทั้งหมด 100 แห่ง และมีจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
ถึงล่าสุด ดับเบิลยูเอ็มเอฟ ได้ขึ้นทะเบียนรายชื่อทั้งหมดรวมมากกว่า 500 แห่งทั่วโลก ใน 91 ประเทศ
ตัวอย่างอนุสรณ์สถานที่ดับเบิลยูเอ็มเอฟได้ประกาศขึ้นทะเบียนไปแล้ว มีเช่น:
-
- ปราสาทเขาพระวิหาร ประเทศกัมพูชา
-
- ทัชมาฮาล ประเทศอินเดีย
-
- วิหารเฮอร์คิวลีส ประเทศอิตาลี
-
- กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยูเนสโก ดับเบิลยูเอ็มเอฟกับยูเนสโกทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน และก็มีอนุสรณ์สถานที่ดับเบิลยูเอ็มเอฟได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานความเสี่ยงสูง และก็มีชื่ออยู่ในสถานที่หรือแหล่งอารยธรรมโบราณที่ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” ด้วย ดังเช่น ปราสาทเขาพระวิหาร
ดับเบิลยูเอ็มเอฟขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นอนุสรณ์สถานมีความเสี่ยงสูงในปี ค.ศ. 1996 ต่อมา ในปี ค.ศ. 2008 ยูเนสโกก็ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแหล่งอารยธรรมโบราณ
ปราสาทเขาพระวิหาร
4 อนุสรณ์สถานโลกเสี่ยงการคุกคามสูง
ในประกาศของดับเบิลยูเอ็มเอฟล่าสุด ขึ้นทะเบียน 25 อนุสรณ์สถานโลกที่ต้องเฝ้าระวังประจำปี ค.ศ. 2025 ทั้งหมดรวม 25 แห่ง มี “ดวงจันทร์” รวมอยู่ด้วย
โดยทั่วไป การประกาศขึ้นทะเบียนของดับเบิลยูเอ็มเอฟ มักจะไม่เป็นข่าวใหญ่ ดังกรณีการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก แต่สำหรับการประกาศปี ค.ศ. 2025 นี้ เป็นข่าวใหญ่ดังไปทั่วโลก ก็เพราะไปเกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ด้วย
ประกาศของดับเบิลยูเอ็มเอฟเริ่มต้นด้วยข้อความเกริ่นนำจาก เบเนดิกต์ เดอมองต์ลอร์ (Benedicte de Montlaur) ประธานและซีอีโอของดับเบิลยูเอ็มเอฟ
“สถานที่ตามประกาศเน้นย้ำความมุ่งมั่นของดับเบิลยูเอ็มเอฟ เพื่อการสร้างหลักประกันว่า การอนุรักษ์แหล่งมรดกมิใช่เพียงแค่การยกย่องอดีต แต่เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันให้มากขึ้นในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมและฟื้นฟูเพื่อชุมชนมนุษย์รอบโลกและไกลออกไป”
ก่อนไปเจาะดูในส่วนเกี่ยวกับดวงจันทร์ เราไปดูกันก่อนว่า ในบัญชีขึ้นทะเบียนทั้งหมด 25 ชื่อนั้น มีอะไรบ้าง
4 ตัวอย่างที่ผู้เขียน “คัด” มาเล่าสู่ท่านผู้อ่านอย่างเร็วๆ คือ :-
หนึ่ง : โรงภาพยนตร์ นามิบี (Cinema Studio Namibe) ประเทศแองโกลา มีลักษณะเป็นรูปโดมขนาดใหญ่ เริ่มการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1973 ให้เป็นโรงภาพยนตร์ทันสมัย ฉายภาพยนตร์จากทั่วโลก ภายในมีห้องขายตั๋ว ภัตตาคาร และบาร์
การก่อสร้างโรงภาพยนตร์ให้สมบูรณ์ต้องยุติลงทันทีจากสงครามกลางเมือง ในปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม แต่ก็เป็นแหล่งการพบปะชุมนุมใหญ่ของชุมชน
สอง : โบสถ์ซอร์บอน (Chapel of the Sorbonne) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่วิจิตรและยิ่งใหญ่ เริ่มต้นการก่อสร้างจากปี ค.ศ. 1634 มีภาพภายในโบสถ์ที่งดงาม หลายศตวรรษต่อมา มีบันทึกรายชื่อนักเรียนและครูผู้สูญเสียชีวิตจากการปกป้องประเทศฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันเป็นแหล่งการเรียนรู้ การวิจัยและกิจกรรมทางด้านปัญญา
ระหว่างการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส โบสถ์ซอร์บอนได้รับความเสียหายจากการถูกบุกรุกลักขโมยและทำลายทางศาสนา ในปัจจุบัน โบสถ์ซอร์บอนถูกปิดมาแล้วเป็นเวลาหลายศตวรรษ
สาม : วัดเออร์ดีน ซู (Erdene Zu monastery) ประเทศมองโกเลีย วัดพุทธศาสนาเก่าแก่สร้างโดยแอตแลนข่าน (Atlan Khan) ทายาทหลายชั่วรุ่นของเจ็งกิสข่านในปี ค.ศ. 1586 เป็นศูนย์กลางใหญ่ของศาสนาพุทธในมองโกเลียและประเทศใกล้เคียง ประกอบด้วยวัดจำนวน 63 แห่ง และมีพระสงฆ์ประจำอยู่ 1,500 รูป ในช่วงรุ่งเรืองที่สุดเมื่อปลายศตวรรษที่สิบเก้า
ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของมองโกเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงการกดขี่ปราบปรามทางศาสนาในทศวรรษปี 1930 มีวัดถูกทำลายกว่า 40 แห่ง มีพระสงฆ์ถูกฆ่าหลายร้อยรูป
หลังการฟื้นตัวของมองโกเลีย วัดเออร์ดีน ซู ก็ต้องเผชิญกับภัยใหม่จากสภาวะโลกร้อนถึงปัจจุบัน
สี่ : บ้านของครูกรุงเคียฟ (Kyiv Teacher’s house) ประเทศยูเครน อาคารสถาปัตยกรรมวิจิตร มีส่วนเป็นโดมกระจกภายในขนาดใหญ่ เป็น “แลนด์มาร์ก” สำคัญของกรุงเคียฟ
เมื่อประเทศยูเครนประกาศความเป็นประเทศเอกราชสาธารณรัฐประชาชนในปี ค.ศ. 1918 การประชุมรัฐสภาครั้งแรกเกิดขึ้นใน “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เคียฟ” อีกหนึ่งศตวรรษต่อมาถึงวันนี้ อาคารเดียวกันนี้ ก็ยังเป็นที่รู้จักเรียกกันเป็น “บ้านของครูกรุงเคียฟ”
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน “บ้านของครูกรุงเคียฟ” และอาคารประวัติศาสตร์สำคัญหลายแห่งในยูเครน ก็ได้รับความเสียหายรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน “บ้านของครูกรุงเคียฟ” เป็นอนุสรณ์สถานสำคัญได้รับผลกระทบรุนแรงจากสงครามโดยตรง
จากนี้ ก็ถึง “คิว” เรื่องของดวงจันทร์
บ้านครูแห่งกรุงเคียฟ
เมื่อดวงจันทร์ถูกขึ้นทะเบียนเป็น “แหล่งมรดกโลก” ที่มีความเสี่ยงสูง
สองข้อสงสัยน่าจะโผล่ขึ้นมาทันที!
หนึ่ง: ดวงจันทร์เป็น “แหล่งมรดกโลก” หรือ? อย่างไร?
สอง: “ความเสี่ยงสูง” จากอะไร? อย่างไร?
คำตอบจากดับเบิลยูเอ็มเอฟสำหรับข้อสงสัยแรก สรุปได้ดังนี้:
อย่างตรงๆ ดับเบิลยูเอ็มเอฟเปรียบเทียบการสำรวจดวงจันทร์กับการสำรวจโลกใหม่ของนักสำรวจดัง เช่น โคลัมบัส ที่ค้นพบทวีปอเมริกา และก็ทิ้งร่องรอยหลักฐานของการบุกเบิกไว้กับโลกใหม่ที่ค้นพบมากมาย ซึ่งในปัจจุบัน หลายร่องรอยหลักฐานก็ได้รับการ “บันทึก” “กล่าวขาน” “ขึ้นทะเบียน” เป็นมรดกแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของโลก
เช่นเดียวกับดวงจันทร์!
การสำรวจดวงจันทร์ การบุกเบิกดวงจันทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงสู่ดวงจันทร์เป็นครั้งแรกกับ อะพอลโล 11 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 โดยมนุษย์สองคนแรกจากโลก คือ นีล อาร์มสตรอง และ เอ็ดวิน อัลดริน จูเนียร์ พร้อมกับ “รอยเท้า” ของมนุษย์จากโลกคนแรก คือ นีล อาร์มสตรอง บนดวงจันทร์ และคำกล่าวของ นีล อาร์มสตรอง ว่า:
“That’s One Small Step For Man – One Giant Leap For Mankind” (นั่นคือก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่งสำหรับมนุษย์-แต่เป็นก้าวกระโดดใหญ่ก้าวหนึ่งสำหรับมนุษยชาติ)
หลังจากอยู่บนดวงจันทร์ประมาณ 21 ชั่วโมง มนุษย์สองคนแรกจากโลกที่ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ก็เดินทางขึ้นจากดวงจันทร์ แล้วก็เดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย กับมนุษย์คนที่สามที่ได้เดินทางไปถึงดวงจันทร์กับอะพอลโล 11 ด้วย แต่ไม่ได้ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ คือ ไมเคิล คอลลินส์
ขอบคุณภาพ : NASA
ในการเดินทางลงสู่ดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของมนุษย์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 ก็ได้ทิ้งร่องรอยหลักฐานบนดวงจันทร์หลายอย่างนอกเหนือไปจากรอยเท้าแรกบนดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรอง เช่น เครื่องสะท้อนแสงเลเซอร์ (ระหว่างโลกกับดวงจันทร์) และเครื่องวัดแผ่นดินไหว แล้วก็มี “ธงชาติสหรัฐ” ปักอยู่บนดวงจันทร์ด้วย
ต่อจากอะพอลโล 11 ก็มีมนุษย์จากโลก เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์กับโครงการอะพอลโลอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1972 กับ อะพอลโล 17 ยกเว้น อะพอลโล 13 ที่เกิดอุบัติเหตุถังออกซิเจนระเบิดในระหว่างการเดินทางจากโลกสู่ดวงจันทร์
นอกเหนือไปจากสหรัฐอเมริกา ถึงวันนี้ (8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025) ก็มีอีก 4 ประเทศที่ได้ส่งยานอวกาศลงสู่ดวงจันทร์ คือ สหภาพโซเวียตเดิม หรือรัสเซียในปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็ส่งยานลงสู่ดวงจันทร์ก่อนสหรัฐอเมริกา อีก 3 ประเทศตามลำดับ คือ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น
แต่หลัง อะพอลโล 17 ก็ไม่มีการส่งมนุษย์ไปลงสู่ดวงจันทร์อีกเลย จนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด และล่าสุด สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการโครงการอาร์เตมิส (Artemis) ที่จะส่งมนุษย์กลับไปสู่ดวงจันทร์อีกในปี ค.ศ. 2026 และมีประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน กำลังดำเนินการเพื่อส่งมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ด้วย
จากหลักฐานการสำรวจศึกษาดวงจันทร์โดยมนุษย์เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสำรวจศึกษาดวงจันทร์กับโครงการอะพอลโล ดับเบิลยูเอ็มเอฟจึงยกให้ “ดวงจันทร์” พร้อมกับร่องรอยหลักฐานวัตถุสิ่งของต่างๆ รวมทั้งยานนำมนุษย์ชุดอะพอลโลลงสู่ดวงจันทร์ เช่น ยานลูนาร์ ที่อยู่บนดวงจันทร์ถึงทุกวันนี้ เป็น “แหล่งมรดกโลก” ที่มีคุณค่าต่อมนุษยชาติ
นักบินอวกาศยาน อะพอลโล 11 (ขอบคุณภาพ : NASA)
สำหรับ “ข้อสงสัยที่สอง” เกี่ยวกับ “ความเสี่ยงสูง” ของ “แหล่งมรดกโลกดวงจันทร์” เป็นอย่างไร? เกิดจากอะไร?
สำหรับแหล่งมรดกโลกบนโลก การคุกคามเกิดขึ้นจากทั้งมนุษย์และสภาพแวดล้อม ดังเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพลมฟ้าอากาศ การเสื่อมโทรมจากภัยธรรมชาติ ดังเช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว…
แต่บนดวงจันทร์ ไม่มีบรรยากาศ ไม่มีน้ำ ไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง ดังนั้น การคุกคามจากภัยธรรมชาติจึงไม่มี ทุกสิ่งที่เป็นวัตถุจากการบุกเบิกดวงจันทร์ จึงยังคงอยู่…ในสภาพเดิมตั้งแต่แรกเริ่มไปอยู่บนดวงจันทร์
แล้วภัยคุกคาม “แหล่งมรดกโลกดวงจันทร์” จะมาจากไหน?
อย่างตรงๆ ดับเบิลยูเอ็มเอฟชี้ไปที่กิจกรรมของมนุษย์เกี่ยวกับดวงจันทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนดวงจันทร์ จาก:
-
- การสำรวจศึกษาดวงจันทร์ ที่กำลังเปลี่ยนบทบาทจากการบุกเบิก มาเป็น “ตัวคุกคาม” มรดกโลก
-
- การบุกเบิกตั้งอาณานิคมมนุษย์ถาวรบนดวงจันทร์ ที่ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของดวงจันทร์จากการใช้ทรัพยากรสำหรับการก่อสร้าง เช่น ดิน หิน ฯลฯ
-
- การขุดหาทรัพยากรบนดวงจันทร์ ดังเช่น การทำเหมืองบนดวงจันทร์
-
- การท่องเที่ยวบนดวงจันทร์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงอย่างคึกคัก
หลังประกาศขึ้นทะเบียน แล้วอย่างไรต่อ?
อย่างเร็วๆ หลังการประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อแล้ว ถ้าดับเบิลยูเอ็มเอฟ ไม่มีแผนทำอะไรต่อ ก็เป็นการประกาศที่น่าจะไร้ความหมาย และดับเบิลยูเอ็มเอฟ คงไม่สามารถทำงานต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานถึง 60 ปี
สิ่งที่ดับเบิลยูเอ็มเอฟทำ คือ หลังการประกาศรายชื่อขึ้นทะเบียนไปแล้ว ดับเบิลยูเอ็มเอฟก็ประสานงานกับหน่วยงานราชการ องค์กรและกลุ่มชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งองค์กรนานาชาติ ดังเช่น ยูเนสโก และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ร่วมกันวางแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องรักษา
แบบจำลองยานอะพอลโล 11 ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ
ดังกรณีของดวงจันทร์ ก็จะมีการศึกษามาตรการคุ้มครองดวงจันทร์ ดังเช่น กฎหมายอวกาศ (Space Law) ขององค์การสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 1967 ซึ่งคุ้มครองดวงจันทร์โดยให้ถือว่า ดวงจันทร์เป็นสมบัติของมนุษยชาติ ใครหรือประเทศใดจะไปถือสิทธิ์ยึดครองไม่ได้ และห้ามการใช้ดวงจันทร์เป็นฐานปฏิบัติการด้านการทหาร ดังเช่น ห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยังมีความไม่แน่ชัดในเรื่องการปกป้องทรัพยากรบนดวงจันทร์ เช่น จากการทำเหมือง โดยที่สหรัฐอเมริกา ก็มีการออกกฎหมายเรียก Space Act (กฎหมายอวกาศ) เมื่อปี ค.ศ. 2015 คุ้มครองการทำเหมืองในอวกาศ เช่น บนดาวเคราะห์น้อยและดวงจันทร์ และการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แร่ธาตุที่ขุดได้
สำหรับบนโลกเรา งานยากของดับเบิลยูเอ็มเอฟก็มีดังเช่นกรณี “บ้านของครูกรุงเคียฟ” ที่กำลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะสงคราม
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมทั่วไป งานของดับเบิลยูเอ็มเอฟ ก็เดินหน้ามาด้วยความร่วมมืออย่างดีจากส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้อง
ผู้เขียนได้ติดตามงานและผลงานของดับเบิลยูเอ็มเอฟมานานแล้ว และวันนี้ ก็รู้สึกดีที่ได้นำเรื่องราวการพยายามทำในสิ่งที่ดีขององค์กรเอกชน มาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน
ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่แน่ใจนักว่า ดับเบิลยูเอ็มเอฟ หรือกองทุนอนุสรณ์สถานโลก จะช่วยดูแลดวงจันทร์ได้แค่ไหน แต่ก็เห็นด้วยกับเป้าหมายใหญ่และเอาใจช่วย
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?
—————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2840387?gallery_id=6