ความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างจีน-พม่า-ไทย ซึ่งนำไปสู่การปลดปล่อยชาวต่างประเทศจำนวนมากจากเมืองคนบาป (scam city) ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่เรียงรายริมชายแดนไทย-พม่าเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่านี่ไม่ใช่แค่ปฏิบัติการกวาดล้างอาชญากรรมทางไซเบอร์เท่านั้น หากแต่ ‘แผนสันติภาพแบบจัดการได้’ (manageable peace) ในพม่าตามแนวทางของจีนกำลังคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ความจริงธุรกิจผิดกฎหมายที่ดำเนินการโดยแก๊งทุนจีนสีเทานั้นมีมานานนับทศวรรษมาแล้ว แต่เริ่มสร้างปัญหาหนักใจให้กับรัฐบาลในกรุงปักกิ่งเมื่อไม่นานมานี่เอง เฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์สังหารชาวจีนที่หมู่บ้านพยัคฆ์ซ่อนลาย (Crouching Tiger Villa) ถนนเก่าโกกั้ง ในเมืองเล่าก์ก่าย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2023 หลังตำรวจลับของจีน 4 นายเข้าปฏิบัติการจู่โจมเพื่อช่วยเหลือชาวจีนที่ถูกกักขังให้ทำงานกับธุรกิจผิดกฎหมายในเมืองคนบาปแห่งนั้น แต่การปฏิบัติการล้มเหลว จึงถูกกองกำลังจากกองพันที่ 21 ของกองทัพโกกั้ง ซึ่งเวลานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของตระกูลหมิง ปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้ชาวจีนเสียชีวิตไปทั้งสิ้น 70 คน ตำรวจลับถูกจับได้และโดนสังหารโดยการฝังทั้งเป็น
หลังจากนั้นได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ จีนให้การสนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้ชื่อ ‘พันธมิตรแห่งภราดรภาพ’ (Brotherhood Alliance) ประกอบไปด้วย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA) กองทัพปลดปล่อยชนชาติดะอั้ง (Ta’ang National Liberation Army: TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) เปิดปฏิบัติการ ‘จูเฟง 1027’ (หรือปฏิบัติการพายุเฮอริเคน – Operation 1027) เพื่อบุกยึดเมืองเล่าก์ก่าย ปลดปล่อยเขตปกครองตนเองโกกั้งจากการปกครองของ ไป่ ซูเฉียง (Bai Xuoqian หรือบางครั้งสะกดเป็น Bai Suocheng) และการครอบงำของกลุ่มตระกูลธุรกิจสีเทาหลายกลุ่ม ซึ่งรวมถึงตระกูลหมิง และตระกูลเว่ย
ปฏิบัติการ 1027 มองแบบผิวเผินจากสายตาคนนอกดูเหมือนเป็นการปฏิวัติปลดปล่อยพม่าสู่ความเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย เพราะไม่ได้หยุดแค่เมืองเล่าก์ก่าย แต่ขยายวงออกไปมาก กลุ่มที่เคยเป็นพันธมิตรแห่งภราดรภาพอย่างกองทัพอาระกันก็ขยายปฏิบัติการของตัวเองออกไปในรัฐยะไข่ จนสามารถยึดเมืองต่างๆ ในรัฐทางตะวันตกของพม่าได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ข่าวบางกระแสแจ้งว่า กองทัพอาระกันสามารถปลดปล่อยเมืองและสร้างระบบบริหารของตัวขึ้นมาได้จำนวนหนึ่งแล้ว
ทางฝ่าย MNDAA ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา เผิง ต้าซุน (Peng Daxun) ก็ได้ขยายปฏิบัติการ 1027 เฟสสองเข้าสู่เขตชั้นในจนสามารถยึดเมืองล่าเซี่ยวทางตอนเหนือของรัฐฉานใกล้เมืองมัณฑะเลย์เข้าไปทุกที เป็นเหตุให้ทางการจีนต้องเร่งเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้โกกั้งยอมยุติการขยายดินแดน เพราะเกรงว่าความขัดแย้งที่ลุกลามออกไปเช่นนี้จะกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของจีนที่อยู่ในพื้นที่และเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมชายแดนจีนกับมหาสมุทรอินเดียภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC)
ส่วนชายแดนด้านตะวันออกของพม่าส่วนที่ติดกับไทยนั้น แรกทีเดียวรัฐบาลจีนเห็นว่า อาจไม่จำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการแบบเดียวกับเล่าก์ก่าย เพราะเกรงว่าหากปฏิบัติการล้มเหลวอาจจะสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งกับไทยและรัฐบาลทหารพม่าของสภาบริหารแห่งรัฐ ด้วยว่าพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงและรัฐฉานทางตอนใต้นั้นอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากศูนย์กลางทางอำนาจและอิทธิพลของจีน อีกทั้งกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ซึ่งให้การคุ้มครองธุรกิจเหล่านี้อยู่ก็ไม่ได้เข้มแข็งหรือเป็นอิสระมากเสียจนกระทั่งไม่อยู่ในวิสัยที่จะเจรจาได้
ดังนั้น ทางการจีนจึงเลือกใช้วิธีการบังคับใช้กฎหมายข้ามพรมแดน (Long-arm Law Enforcement) กล่าวคือ อาศัยกรอบความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับไทยและพม่า แสวงหาความร่วมมือ (แกมกดดัน) ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งพลเมืองของจีนเองเป็นผู้ก่อ และชาวจีนจำนวนมากก็เป็นเหยื่อ กระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติของจีนอย่างมีนัยสำคัญ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว หลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีความมั่นคงสาธารณะของจีน (Public Security Ministry) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากงานตำรวจ จึงได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจนี้ หลังจากที่ระดับนโยบาย คือผู้นำในรัฐบาลของทั้งสามประเทศได้หารือกันจนได้ข้อสรุปและยอมรับให้จีนเป็นฝ่ายออกหน้าปฏิบัติการกวาดล้างบรรดาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และธุรกิจสีเทาเหล่านี้
ผู้ช่วยรัฐมนตรีหลิวเดินทางมาเยือนชายแดนไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอดและ แม่สายเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม เพื่อบีบให้ไทยตัดกระแสไฟฟ้า น้ำมัน และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ส่งไปพม่าหลายจุด ก่อนที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ของไทยจะเดินทางไปพบกับ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนที่กรุงปักกิ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อหารือประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งก็รวมถึงแนวทางในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ชายแดนไทย-พม่าด้วย
หลิวเดินทางไปเยือนพม่าในช่วงวันวาเลนไทน์ เขาได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสภาบริหารแห่งรัฐ ตัน ส่วย (Than Swe) และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย พลโท ตุน ตุน หน่อง (Tun Tun Naung) หลังจากการพบปะ สถานทูตจีนในพม่าได้ออกแถลงการณ์ที่เน้นให้เห็นว่า “จีนแสดงความพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าและไทย โดยใช้มาตรการเชิงรุกและครอบคลุมเพื่อจัดการกับต้นตอของปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เช่น การพนันออนไลน์และการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต เพื่อลดภัยคุกคามและรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่เป็นระเบียบระหว่างประเทศในภูมิภาค”
ในส่วนของไทยนั้น ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเชิงปฏิบัติการของผู้ช่วยรัฐมนตรีหลิวนั้นเป็นไปตามหลักการและพิธีการทูตทุกประการ ไม่ได้ข้ามหน้าข้ามตาหน่วยราชการและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม รัฐบาลของสามประเทศได้ประสานงานกันโดยตลอด การที่หลิวสามารถเดินทางข้ามแดนไปเยือน ชเว โก๊กโก่ เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการช่วยเหลือชาวต่างประเทศได้โดยสะดวกราวกับเป็นบ้านตัวเองเช่นนั้น เนื่องจากได้ประสานงานกันผ่านสถานทูตพม่าเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งหมดที่เห็นจึงเป็นปฏิบัติการแบบแบ่งงานกันทำ ฝ่ายไทยก็มีภาระความรับผิดชอบในการอำนวยความสะดวกในการส่งตัวบรรดาชาวต่างประเทศทั้งหลายที่เดินทางไปทำงานในเมืองธุรกิจสีเทาแห่งนั้นกลับประเทศของตัวเอง อีกทั้งจะดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะมีส่วนพัวพันในธุรกิจสีเทาที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย
สื่อมวลชนรายงานด้วยว่า หลิวมีโอกาสพบปะกับ ซอ ชิต ตู่ (Zaw Chit Thu) ผู้นำและผู้บังคับบัญชากองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Forces: BGF) และกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Army: KNA) ผู้ได้ชื่อว่าให้ความคุ้มครองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองใหม่ ชเว โก๊ก โก่ มาโดยตลอด ซึ่งนั่นหมายความว่าอิทธิพลจีนเริ่มแพร่ขยายเข้าไปในพื้นที่ได้แล้ว
ผลจากการปฏิบัติการในครั้งนี้ ทำให้กองกำลังพิทักษ์ชายแดนกลุ่มต่างๆ ที่สวามิภักดิ์กองทัพพม่าจำต้องปล่อยตัวชาวต่างประเทศจำนวนมากออกจากเมืองศูนย์กลางคอลเซ็นเตอร์หลายแห่ง กองทัพกะเหรี่ยงใจบุญเพื่อประชาธิปไตย (the Democratic Karen Benevolent Army: DKBA) หรือกะเหรี่ยงพุทธ ประกาศว่าพวกเขาได้ส่งตัวคนงาน 260 คนจาก 20 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งจีน ไต้หวัน เอธิโอเปีย เคนยา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา ให้กลับภูมิลำเนา
ทางการพม่าแถลงว่า กำลังจะส่งตัวชาวต่างประเทศมากกว่า 1,000 คนกลับประเทศในเร็ววันนี้ ส่วนทางตำรวจไทยเปิดเผยว่า กำลังเร่งดำเนินการไล่จับกุมผู้ต้องสงสัย 3,700 คน ที่ทางการจีนเชื่อว่าน่าจะมีส่วนพัวพันในธุรกิจผิดกฎหมายหรือหลอกลวง ขู่บังคับ คนงานให้มาทำงานในศูนย์คอลเซ็นเตอร์และกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่นๆ
ปฏิบัติการครั้งนี้ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่บทสรุปเบื้องต้น มีความเป็นไปได้สูงมากว่าการบังคับใช้กฎหมายข้ามพรมแดนนี้ เป็นมากกว่าการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ธรรมดาๆ ทั่วไป หากแต่คือการวางรากฐานเพื่อสร้างสันติภาพที่เอื้อต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของจีน
การบังคับใช้กฎหมายข้ามพรมแดน หรือ Long-arm Law Enforcement ของจีนจึงไม่ใช่แค่การล่าตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่คือการสร้างสันติภาพที่จีนควบคุมได้ เพื่อรักษาเสถียรภาพในพม่า เช่นเดียวกับรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของตน
จีนไม่ได้ต้องการ ‘สันติภาพที่สมบูรณ์’ เพื่อปูทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในพม่าดังเช่นที่หลายฝ่ายเรียกร้อง แต่ต้องการ ‘สันติภาพที่จัดการได้’ ซึ่งทำให้จีนสามารถรักษาอิทธิพลและคานอำนาจกับกองทัพรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าต่อไป
—————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรํฐ plus / วันที่เผยแพร่ 19 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105196