ทรัมป์จะล้มเหลวในนโยบายต่อต้านการแก้ปัญหาโลกร้อน
เมื่อ 20 มกราคมที่ผ่านมา หลังพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารให้สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส 2015 (ข้อตกลงสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) อีกครั้ง หลังจากที่เคยถอนออกมาแล้วรอบแรกในปี 2017 ด้วยเหตุผลว่า นโยบายดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งๆ ที่ข้อตกลงปารีสซึ่งแม้จะมีปัญหาอยู่หลายด้าน เช่น เรื่อง Net Zero หรือตลาดคาร์บอนฯ แต่ก็ยังมีหลักเรื่องความเป็นธรรมสภาพภูมิอากาศ เช่น หลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง แต่ในสายตาของทรัมป์และกลุ่มผู้สนับสนุนซึ่งเป็นอนุรักษนิยมกลับมองอย่างย้อนแย้งว่า การสร้างความเป็นธรรมสิ่งแวดล้อมโลกเป็นเหตุสร้างความไม่เป็นธรรมเศรษฐกิจของชาติ!
นอกจากจะออกจากข้อตกลงปารีสแล้ว ทรัมป์ยังเสนอนโยบายสวนทางกระแสสีเขียวโลกทุกด้าน เช่น การส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ) ที่เป็นสาเหตุปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 60 ด้วยการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันในสหรัฐ เปิดพื้นที่ เช่น เขตอาร์กติกเพื่อขุดเจาะน้ำมัน ด้วยเหตุผลลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและส่งเสริมเศรษฐกิจ ยกเลิกการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง และเครดิตภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ด้วยทรัมป์มองแนวนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมของโลกในเวลานี้ว่าเป็น “กลลวงสีเขียว” (Green Nee Deal Hoax) ซึ่งเป็นการล้อเลียนข้อตกลงใหม่สีเขียว (Green Nee Deal) ว่าเป็นความหลอกลวง โดยมองว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาธรรมชาติไม่ได้มาจากมนุษย์ และที่สำคัญคือไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมของสหรัฐ ซึ่งถูกประเมินว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก (หากนับเฉพาะปัจจุบัน สหรัฐปล่อยเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 13 ของการปล่อยทั้งหมด ส่วนประเทศจีนปล่อยสูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 32)
แม้แนวคิดการปฏิเสธภาวะโลกร้อน (Climate Deny) จะถูกโลกประเมินว่าขาดความตระหนักต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และขาดสำนึกส่วนรวมต่อโลก แต่เหตุผลของทรัมป์ในแง่ที่ว่านโยบายเหล่านี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง และไม่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า กลับเป็นเหตุผลที่น่ารับฟังไม่น้อย เมื่อประเมินจากความก้าวหน้าและผลลัพธ์ทางนโยบายของการประชุม COP ทุกครั้งที่ผ่านมา
ทำไมทรัมป์ถึงมั่นใจในการกำหนดนโยบายสวนกระแสโลก ความเชื่อส่วนตัวอาจไม่สำคัญเท่ากับเหตุผลทางการเมืองด้านฐานเสียงของกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนเขา จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่วิเคราะห์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X ระหว่างปี 2017-2019 พบว่าชาวอเมริกันเกือบร้อยละ 15 ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง และกลุ่มเหล่านี้ส่วนมากเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นฐานเสียงให้กับพรรครีพับลิกัน
แล้วทำไมประเทศที่บ่งบอกตนเองกับโลกใบนี้ว่ามีความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์สูงสุด กลับปฏิเสธวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสัดส่วนมากขนาดนี้ น่าจะมีหลายเหตุผลที่ลองมาวิเคราะห์
บทบาทการสนับสนุนของกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลต่อพรรครีพับลิกัน จากข้อมูลของ Center for Responsive Politics ระบุว่า ในการเลือกตั้ง 2024 อุตสาหกรรมพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติได้บริจาคเงินให้กับกับพรรครีพับลิกันร้อยละ 84 ของเงินบริจาคทั้งหมด ดังนั้น นโยบายของทรัมป์จึงมุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มสนับสนุนจากทุนพลังงานฟอสซิลที่กำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่กำลังเร่งเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลทั้งหมดให้เป็นพลังงานหมุนเวียน
การเพิ่มภาระทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมฟอสซิล ดังเช่น ภาษีคาร์บอน ที่ถูกฝ่ายอนุรักษนิยมวิจารณ์ว่า เป็นการเพิ่มภาระทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนและธุรกิจ ทั้งๆ ที่ความจริงอีกด้านคือ ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนในขณะนี้มีราคาถูกกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว การใช้ภาษีคาร์บอนอาจจะเป็นการเพิ่มภาระในช่วงแรก แต่รัฐบาลต้องเข้ามาป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนที่ถูกเก็บภาษีผลักภาระไปให้ประชาชน เพื่อจะได้เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่มาราคาถูกกว่าได้
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังพึ่งพาฟอสซิล ไมว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงอื่นๆ ที่เชื่อมไปถึงการจ้างงาน ส่วนใหญ่ยังอยู่บนโครงสร้างพลังงานฟอสซิล ถ้าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนไม่มีระบบจัดการปัญหาผลกระทบ และความไม่เป็นธรรมที่มีต่อประชาชนในโครงข่ายเศรษฐกิจฟอสซิลอย่างรอบด้านเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจในส่วนดังกล่าวขยายวงกว้าง ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของพลังงานหมุนเวียนยังอยู่ในคนกลุ่มอื่น และยังต้องใช้เวลาและระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมพอ
เหตุผลทางการเมืองเพื่อต่อต้านฝ่ายก้าวหน้า กระแสเรียกร้องให้สหรัฐเอาจริงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งกลายเป็นแนวนโยบายการเมืองสำคัญของโลกาภิวัตน์ มาจากกลุ่มการเมืองสายเสรีนิยมไปจนถึงฝ่ายซ้าย ซึ่งส่วนมากสนับสนุนพรรคเดโมแครต แม้ในทางรูปธรรมพรรคเดโมแครตไม่ได้มีนโยบายเปลี่ยนผ่านโครงสร้างจัดการปัญหาโลกร้อนอย่างชัดเจนเพียงพอ (หากเทียบกับพรรคกรีนของสหรัฐที่มีนโยบายก้าวหน้ากว่ามาก และได้รับคะแนนเสียง 229,300 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 0.4) ด้วยเพราะฝ่ายอนุรักษนิยมที่สนับสนุนทรัมป์มองการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศของขบวนการฝ่ายก้าวหน้าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงทำให้ขบวนการอนุรักษ์วางบทบาทตนเองเป็นฝ่ายต้าน (Counter Movement) ต่อการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนไปด้วย
แต่ในความเป็นจริง การกำหนดนโยบายของทรัมป์ในเรื่องนี้มีความท้าทายไม่น้อยทีเดียว ด้วยเหตุผลคือ
สหรัฐเองก็เผชิญวิกฤตโลกร้อนและหลายแห่งเป็นต้นแบบแก้ปัญหาโลกร้อน ประกอบกับโครงสร้างการเมืองเป็นระบบกระจายอำนาจ อำนาจของประธานาธิบดีและรัฐบาลกลาง เป็นอำนาจในภาพรวม แต่การปฏิบัติจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐที่กำลังเผชิญผลกระทบ และมีนโยบยที่ก้าวหน้าในเรื่องโลกร้อน เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย (เลือกแฮร์ริส) กำลังประสบปัญหาไฟป่าขั้นรุนแรงจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฟลอริดา ประสบภัยจากพายุเฮอริเคนและน้ำท่วม รัฐมิชิแกน (เลือกแฮร์ริส) ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝน เกิดน้ำท่วมและแล้งบ่อย เสี่ยงจากพายุเฮอริเคนและการกัดเซาะชายฝั่ง รัฐเท็กซัส (เลือกทรัมป์) เผชิญภาวะอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วมและร้อนจัด รัฐอะแลสกา (เลือกทรัมป์) เจอปัญหาน้ำแข็งละลายและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ รัฐไอโอวา และรัฐเนแบรสกา (เลือกทรัมป์) ก็เผชิญภัยแล้งและน้ำท่วมกระทบต่อการเกษตร นอกจากนี้ก็มีรัฐที่มีนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกที่ก้าวหน้า เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูงถึงร้อยละ 36 และมีเป้าหมายมุ่งสู่พลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2045 นอกจากนี้ยังมีรัฐอื่นที่มีความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 10 รัฐ เช่น รัฐมิชิแกน รัฐเท็กซัส เป็นต้น ดังนั้น แม้หลายรัฐจะเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดี แต่ในด้านโลกร้อนรัฐเหล่านี้มีนโยบายของตนเองที่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางจากปัญหาผลกระทบโลกร้อน และเป้าหมายการแก้ปัญหา
โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อระบบนิเวศโลกมากยิ่งขึ้น โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การลงทุนด้านพลังงานสะอาด ในปี 2024 การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกแตะ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ลดลงเรื่อยๆ พลังงานแสงอาทิตย์เติบโตถึงร้อยละ 25 ต่อปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
เป้าหมาย Net Zero โดยในขณะนี้มีกว่า 140 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 91 ของ GDP โลก ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 และบริษัทกว่า 5,000 แห่งทั่วโลกกำหนดเป้าหมายลดคาร์บอนตามมาตรฐาน Science-Based Targets
ในด้านการสนับสนุนทางการเงิน กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น Green Climate Fund ระดมทุนได้กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา
การบริโภคพลังงานสะอาด ในปี 2023 กว่าร้อยละ 35 ของพลังงานที่ใช้ทั่วโลกมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์
ความตื่นตัวของประชาชน มีการเคลื่อนไหวของประชาสังคม ทั้งชนพื้นเมือง ชุมชน ประชาสังคม กลุ่มเยาวชน เช่น Fridays for Future มีผู้เข้าร่วมในกิจกรรมประท้วงกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกในปีเดียว ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 73 เลือกสนับสนุนแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
เห็นได้ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองโลกกำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว โดยการลงทุนในพลังงานสะอาดและนโยบาย Net Zero ขยายตัวในระดับมหภาค พร้อมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศและแรงผลักดันจากสังคมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างโลกที่ยั่งยืน
โดยสรุปแล้ว นโยบายต่อต้านการแก้ปัญหาโลกร้อนของทรัมป์มีแนวโน้มล้มเหลว เนื่องจากขัดแย้งกับความตื่นตัวของสังคมที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากกลุ่มเคลื่อนไหวประชาสังคมรุ่นใหม่ ขบวนการประชาชน ความต้องการของผู้บริโภคที่เลือกสนับสนุนแบรนด์และนโยบายที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจและตลาดงานพลังงานหมุนเวียนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่การสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลสวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ วิกฤตสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ไฟป่าและพายุเฮอริเคนที่กระทบชีวิตผู้คน ยิ่งเพิ่มแรงกดดันจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ส่งผลให้แนวทางของทรัมป์ขาดความน่าเชื่อถือในระดับโลก และสหรัฐเสียโอกาสในการเป็นผู้นำในยุคที่พลังงานสะอาดเป็นหัวใจของการพัฒนาง
กฤษฎา บุญชัย
———————————————————————————–
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.matichon.co.th/article/news_5026827