โจ ไทดี
Role,ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยี บีบีซีเวิร์ลเซอร์วิส
12 กุมภาพันธ์ 2025
การเติบโตของดีพซีก (DeepSeek) แชทบอทปัญญาประดิษฐ์จากจีนที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้น สำหรับคนที่ติดตามจีนมานาน นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ
จีนค่อย ๆ สั่งสมความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเอไอ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการอันทะเยอทะยานที่เรียกว่า “ผลิตในจีน 2025” (Made in China 2025)
สำหรับนักวิเคราะห์ ความสำเร็จของ DeepSeek เป็นหลักฐานที่ยืนยันเพิ่มเติมว่าแผนการนี้ประสบความสำเร็จ
โครงการ “Made in China 2025” ถูกประกาศโดยรัฐบาลจีนในปี 2015 โดยมีการประชาสัมพันธ์อย่างยิ่งใหญ่
แนวคิดของมันคือการเปลี่ยนภาพจำให้กับสินค้าในชีวิตประจำวันนับล้าน ๆ ชิ้นที่จีนผลิต จากภาพของการผลิตคุณภาพต่ำ ไปเป็นภาพของการเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและสินค้าคุณภาพสูง
อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี 10 ประเภท ถูกเลือกให้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่จีนควรจะเข้าไปเป็นผู้นำให้ได้ภายในปี 2025
ปัญญาประดิษฐ์, การคำนวณเชิงควอนตัม, รถยนต์ไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, เทคโนโลยีแบตเตอรี ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกระบุไว้ในแผน
ในหลายอุตสาหกรรมที่ตั้งเป้าไว้ จีนประสบความสำเร็จในการกลายมาเป็นผู้เล่นหลัก และในบางอุตสาหกรรมก็ก้าวข้ามเป้าหมายในฉากทัศน์ที่ดีที่สุดไปแล้ว
“Made in China 2025 เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในสายตาของผม” ดร.ยุนตัน กง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาจาก คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ระบุ “ในหลายอุตสาหกรรม จีนกำลังไล่ตามติดผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น และในบางอุตสากรรมจีนก็เป็นผู้นำไปแล้วด้วยซ้ำ” เธอระบุ
จีนก้าวข้ามหลายประเทศที่เคยเป็นผู้นำด้านยานยนต์มาก่อน (เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) และกำลังขายรถยนต์ได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งต้องขอบคุณบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายอดนิยมทั้งหลาย อย่างเช่น BYD
ความสำเร็จมากมายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีความเชื่อมโยงกับจีน ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรีรายใหญ่ที่สุดของโลก
สำหรับพลังงานหมุนเวียน จีนครองสัดส่วนในห่วงโซ่อุปทานแผงโซลาร์เซลล์ทั่วโลกราว 80-95% ตามข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency – IEA) บรรดานักวิจัยมองว่าจีนเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และภายในปี 2028 พวกเขาประเมินว่า 60% ของพลังงานสะอาดทั่วโลกจะผลิตที่จีน
บริษัทอย่าง BYD ทำให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านการส่งออกรถยนต์
จีนยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโดรนด้วย บริษัทจากเซินเจิ้นที่ชื่อ DJI มีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 70% จากข้อมูลโดยบีซีซี รีเสิร์ช (BCC Research) ซึ่งระบุว่าใน 10 อันดับแรกของผู้ผลิตโดรน เป็นบริษัทจีนถึง 3 บริษัท
เพื่อที่จะบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้วางเป้าหมายย่อย ๆ กว่า 250 เป้าหมาย ในโรดแมปที่ทำมาอย่างละเอียด ซึ่งบทวิเคราะห์จากสำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ระบุว่าจีนบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไปกว่า 86% แล้ว
“สิ่งที่จีนทำสำเร็จคือการใช้โมเดลของทุนนิยมที่มีรัฐหนุนหลัง ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้กำหนดวาระการวิจัยและการให้เงินทุน” ลินด์เซย์ กอร์แมน กรรมการผู้จัดการสถาบันคลังสมองกองทุนเยอรมันมาร์แชลล์ (German Marshall Fund) และอดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุ
นางกอร์แมนชี้ให้เห็นถึงความสามารถของจีน ในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความสามารถ และโน้มน้าวให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำกิจการร่วมค้ากับบริษัทจีน
ทั้งนี้ มีการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล โดยจากการวิจัยของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ รัฐบาลจีนมีแผนที่จะเพิ่มหรือใช้เงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาหรือการซื้อบริษัทต่างชาติ ซึ่งตามรายงานระบุว่านับถึงปี 2020 มีการใช้เงินไปแล้วกว่า 627,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แผน “Made in China 2025” ประสบความสำเร็จอย่างมากหลังจากเริ่มทำได้เพียงไม่กี่ปี จนรัฐบาลจีนต้องยุติการใช้คำนี้ เพราะถือเป็นการยั่วยุคู่แข่ง แต่มันสายเกินไปแล้ว เพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศในตะวันตกได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรไม่ให้ส่งออกเทคโนโลยีไปยังประเทศจีน แผนคือเพื่อให้จีนพัฒนาได้ช้าลง ซึ่งในสินค้าบางชนิด อย่างเช่นนวัตกรรมไมโครชิป การคว่ำบาตรนี้ก็ดูเหมือนจะได้ผล
จากข้อมูลของ บีซีซี รีเสิร์ช บริษัทจากเซินเจิ้นอย่าง DJI มีส่วนแบ่งในตลาดโดรนทั่วโลกอยู่ที่ 70%
แต่ในบางอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์บางคนก็มองว่าข้อจำกัดจากต่างชาติยิ่งไปกระตุ้นจีน อย่างไรก็ดี การต้องพึ่งพาตนเองให้ได้มากขึ้นถือเป็นแรงจูงใจหลักของแผน “Made in China 2025” ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
“มีคำโบราณจีนกล่าวไว้ว่า ‘ชีวิตจะเจอทางออกของมันเองได้เสมอ'” ศ.เผิง โจว ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ระบุ “ข้อจำกัดและการคว่ำบาตรแค่เปลี่ยนรากฐานของมันเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนทิศทาง” เขากล่าว
ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศ.โจว ยังยกตัวอย่างกรณีของ DeepSeek ที่บริษัทผู้พัฒนาไม่สามารถใช้ชิปประสิทธิภาพสูงสุดมาฝึกโมเดลเอไอของตัวเองได้ เพราะต้องเผชิญกับการควบคุมการส่งออกจากสหรัฐฯ
แต่สุดท้ายบริษัทระบุว่า บริษัทก็ใช้ชิปเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า และคิดค้นเทคนิคใหม่ในการสร้างแชทบอทที่น่าประทับใจโดยใช้เงินและทรัพยากรน้อยกว่า
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโต้แย้งโดยคู่แข่งบางเจ้า แต่ DeepSeek ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกมันว่าเป็น “เรื่องเตือนสติ (wake up call)” สำหรับบริษัทเอไอยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ
บริษัทเอไอของจีนจดสิทธิบัตรมากกว่าประเทศอื่น ๆ และผู้ประกอบการเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีนอย่าง อาลีบาบาและไบท์แดนซ์ ก็ใช้เงินกับผลิตภัณฑ์ของพวกเขาพอ ๆ กับที่กูเกิลและโอเพนเอไอใช้
แต่กระนั้นสหรัฐฯ ก็ยังคงรักษาฐานะการเป็นผู้นำโลกด้านเอไอไว้ได้ แม้จีนจะมีแผน “Made in China 2025” ก็ตาม ในอุตสาหกรรมควอนตัมคอมพิวเตอร์ สหรัฐฯ ยังคงนำหน้าจีนในหลายส่วน แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จีนจะตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับควอนตัมในแต่ละปีมากกว่าประเทศใด ๆ
สหรัฐฯ ยังพัฒนาตนเองเพื่อตอบสนองความท้าทายของจีน ด้วยการใช้เงินหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไปลงทุนในการผลิตไมโครชิปและในด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของเอไอ
อีกอุปสรรคหนึ่งสำหรับจีนก็คือ ข้อกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติ ความสำเร็จอย่างท่วมท้นของติ๊กตอก (TikTok) ในฐานะแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์แรกที่ไม่ได้มาจากสหรัฐฯ ที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก ก็ทำให้มันตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐฯ แบน จากข้อกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติเกี่ยวกับการสอดแนมข้อมูล การเติบโตของอีคอมเมิร์ซจีน เช่น เทมู (Temu) และ ชีอิน (Shien) ก็อาจตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน รวมถึง DeepSeek ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีนอย่าง หัวเว่ย (Huawei) ที่สะท้อนว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ตลาดในโลกตะวันตก หัวเว่ยถูกสกัดกั้นในช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ในฐานะผู้นำด้านอุปกรณ์ 5G และผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ตอนที่ถูกคว่ำบาตรและถูกแบนจากข้อกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติในปี 2019
ตอนนี้บริษัทเปลี่ยนไปมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าในส่วนอื่น ๆ ของโลก เริ่มสร้างไมโครชิปของตนเอง และเพิ่งจะมีรายงานรายได้และการเติบโต 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูเหมือนว่าบริษัทสามารถสลัดพันธนาการข้อจำกัดจากชาติตะวันตกไปได้แล้ว
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : BBC NEWS ไทย / วันที่เผยแพร่ 12 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cz9e77nvny2o