ซุลทานี มาเคงกา เข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติแห่งรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990
เวดาเอลี ชิเบลุชิ
บีบีซีนิวส์
———-
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ ดีอาร์คองโก ตกอยู่ในความวุ่นวาย หลังกลุ่มกบฏ M23 ระดมกำลังบุกทางตะวันออกของประเทศ สู้รบกับกองทัพของรัฐบาล จนสามารถยึดครองสถานที่สำคัญหลายแห่ง
เพียงสองสัปดาห์ มีรายงานผู้เสียชีวิตหลายพันคน และการสู้รบนี้ยังเป็นสัญญาณร้ายของความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกับรวันดา ประเทศเพื่อนบ้าน
ดีอาร์คองโก ประเทศที่ใหญ่ที่สุดแถบแอฟริกาใต้ซาฮารามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ซับซ้อนนี้ ต้องเริ่มทำความเข้าใจจากเรื่องราวของหัวหน้ากลุ่มกบฏ M23 ซุลทานี มาเคงกา ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมสงครามในหลายกรณี
การมองย้อนกลับไปยังชีวิตของมาเคงกาก็เปรียบได้กับการมองย้อนไปยังสงครามที่ยาวนานหลายทศวรรษ การแทรกแซงจากต่างชาติที่เกิดขึ้นเป็นระยะ และแรงดึงดูดจากความมั่งคั่งของทรัพยากรแร่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
มาเคงกา เกิดในวันคริสต์มาส ปี 1973 ที่เมืองมาซีซี เมืองที่เต็มไปด้วยธรรมชาติเขียวขจี เขาเติบโตมากับพ่อแม่ซึ่งเป็นชนชาติพันธุ์ทุตซี (Tutsi) ช่วงชีวิตวัยหนุ่ม เขาออกจากโรงเรียนในวัย 17 ปี เพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ทุตซีซึ่งอยู่บริเวณชายแดนรวันดา
กลุ่มกบฏดังกล่าวมีชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติแห่งรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF) กลุ่มอาร์พีเอฟเรียกร้องให้ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ทุตซีมีบทบาทเพิ่มขึ้นในรัฐบาลรวันดา ซึ่งขณะนั้นถูกครอบงำด้วยเสียงนักการเมืองส่วนใหญ่ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ฮูตู (Hutu)
พวกเขายังต้องการให้ผู้ลี้ภัยชาวทุตซีนับร้อยนับพันคนที่ถูกกดดันให้ต้องออกจากประเทศจากความรุนแรงทางชาติพันธุ์ สามารถกลับบ้านได้
เป็นเวลา 4 ปี ที่มาเคงกา และกองกำลังอาร์พีเอฟ ต่อสู้กับกองทัพที่นำโดยชาวฮูตูในรวันดา การสู้รบนี้พัวพันกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 เมื่อกลุ่มหัวรุนแรงชาวฮูตูสังหารชาวทุตซีและชาวฮูตูสายกลางรวมกว่า 800,000 คน
มาเคงกา เคยกล่าวถึงช่วงเวลานี้ในระหว่างการสัมภาษณ์ที่หาได้ยากยิ่งในปี 2013 เขาบอกว่า ” ชีวิตของผมคือสงคราม การศึกษาของผมคือสงคราม และภาษาของผมก็คือสงคราม… แต่ผมก็เคารพในสันติสุข”
กลุ่มอาร์พีเอฟค่อย ๆ รุกคืบเข้ายึดพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนระดมกำลังเข้าสู่กรุงคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา และโค่นล้มรัฐบาลฮูตูหัวรุนแรงในท้ายที่สุด ซึ่งในจำนวนนี้มีหลายคนลี้ภัยไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน
ด้วยกองกำลังอาร์พีเอฟที่มีอยู่ในมือ มาเคงกาสามารถแทรกซึมเข้าไปในกองทัพรัฐบาลรวันดา และได้รับการแต่งตั้งขยับขั้นขึ้นเป็นสิบเอกและรองผู้บังคับหมวดในเวลาต่อมา
“เขาเก่งมากเรื่องการวางแผนซุ่มโจมตี” หนึ่งในเพื่อนร่วมกองกำลังอาร์พีเอฟของมาเคงกา บอกกับสถาบันริฟต์วัลเลย์ (Rift Valley Institute) องค์กรวิจัยไม่แสวงหาผลกำไร
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าในกองทัพรวันดาของมาเคงกาก็มาถึงจุดชนเพดาน การที่เขามีแค่การศึกษาระดับพื้นฐาน และพูดภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษได้แบบงู ๆ ปลา ๆ เป็น “อุปสรรคในเส้นทางอาชีพทหาร” สถาบันริฟต์วัลเลย์ ระบุ
กองกำลัง M23 ของมาเคงกา ยึดเมืองโกมาของดีอาร์คองโกไว้ในความควบคุม
มาเคงกาเคยพูดด้วยว่า จนถึงวันนี้เขายังคงสงวนท่าทีและรู้สึกว่าการพูดในที่สาธารณะเป็นเรื่องยากลำบาก
ในปี 1997 เขาเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังที่มีรวันดาหนุนหลัง ซึ่งท้ายที่สุดสามารถยึดอำนาจในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้สำเร็จ และขับไล่ โมบูตู เซเซ เซโก ที่ปกครองดีอาร์คองโกมาอย่างยาวนาน หลังจากนั้นกองกำลังของเขาได้แต่งตั้งโลร็อง กาบีลา ผู้นำกบฏคองโกและอดีตทหารผ่านศึกขึ้นมาแทนที่
อย่างไรก็ตาม มาเคงกาเริ่มปะทะกับผู้บังคับบัญชา จนกระทั่งเขาถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รวันดา หลังไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งให้กลับรวันดา ตามรายงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council)
เขาถูกคุมขังอยู่นานหลายปีบนเกาะที่ชื่อว่า อิวาวา
ระหว่างนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกาบีลาและผู้นำคนใหม่ของรวันดาก็ถดถอยลง
รวันดาพยายามที่จะปราบปรามทหารอาสาชาวฮูตูที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งหนีข้ามพรมแดนไปในปี 1994 เพราะความหวาดกลัวว่าทหารกลุ่มนี้จะกลับมา และทำให้เสถียรภาพของประเทศที่ได้มาอย่างยากลำบาก กลับมาระส่ำระสายอีกครั้ง
แต่กาบีลาไม่สามารถหยุดยั้งการก่อตัวของกลุ่มก่อการร้าย และเขาเริ่มที่จะผลักดันกองทัพรวันดาออกไป
นั่นเป็นเหตุให้รวันดาบุกดีอาร์คองโกในปี 1998 ซึ่งเมื่อมาเคงกาถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังด่านหน้าของกลุ่มกบฏที่มีรวันดาหนุนหลัง
ความรุนแรงครั้งล่าสุดในระหว่างที่กองกำลังมุ่งสู่เมืองโกมา รวมถึงในตัวเมืองดังกล่าว ส่งผลให้มีรายงานผู้เสียชีวิตหลายพันคนในรอบสองสัปดาห์
ผ่านมาหลายปี ชื่อเสียงของเขาเลื่องลือในฐานะผู้บัญชาการที่มีกลยุทธ์และทักษะขั้นสูง ในการนำทหารกลุ่มใหญ่ออกสู้รบ
หลังจากที่กองทัพรวันดาข้ามผ่านพรมแดนสู่ดีอาร์คองโก การเลือกปฏิบัติที่มีต่อชุมชนชาวทุตซีก็เพิ่มมากขึ้น กาบีลากล่าวหาว่าชาวทุตซีสนับสนุนการบุกดีอาร์คองโกครั้งนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ในภาคส่วนอื่น ๆ ก็ปลุกระดมให้สาธารณชนโจมตีชาวชาติพันธุ์ทุตซี
มาเคงกา ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในดีอาร์คองโก มองว่าผู้นำชาวคองโกผู้นี้ ทรยศต่อนักรบชาวทุตซี เขาบอกว่า “กาบีลาเป็นนักการเมือง แต่ผมไม่ใช่ ผมเป็นทหาร ภาษาเดียวที่ผมรู้ก็คือภาษาปืน”
หลายประเทศที่อยู่รายล้อมทั้งสองประเทศนี้ ก็ถูกดึงเข้ามาสู่ความขัดแย้งนี้ด้วย ขณะที่กองทัพของสหประชาชาติกองทัพใหญ่ก็เข้ามาในพื้นที่เพื่อพยายามจะรักษาความสงบเรียบร้อย
มีรายงานว่าสงครามนี้และควันหลงจากสงคราม ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ตายจากความอดอยากหรือโรคภัยไข้เจ็บ
การสู้รบจบลงอย่างเป็นทางการในปี 2003 แต่มาเคงกายังทำงานให้กับกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลคองโก
ด้วยความตั้งใจที่จะปรองดองกัน ทำให้กบฏชาวทุตซีอย่างมาเคนกา สามารถผสมกลมกลืนไปอยู่ในกองทัพของรัฐบาลคองโกได้ จากกระบวนการที่เรียกว่า “การผสมผสาน” (mixage)
แต่สถานการณ์ทางการเมืองในดีอาร์คองโกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มาเคงกาแปรพักตร์จากกองทัพรัฐบาล ไปเข้าร่วมกับกลุ่มกบฎ M23
กลุ่มกบฏ M23 มีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในพื้นที่ทางตะวันออกของดีอาร์คองโก พวกเขาอ้างว่าสู้รบเพื่อปกป้องสิทธิของชาวทุตซี และรัฐบาลล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพที่ลงนามเมื่อปี 2009
มาเคงกาได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นเป็นพลเอกของกลุ่ม M23 และต่อมาไม่นานก็ไต่ขึ้นสู่ระดับสูงสุด
เดือน พ.ย. 2012 เขาเป็นผู้นำกลุ่มกบฏในเหตุการณ์ลุกฮืออันโหดร้าย ซึ่งพวกเขาเข้ายึดเมืองโกมา เมืองหลักทางตะวันออกที่มีประชากรกว่า 1 ล้านคนไว้ได้
ดีอาร์คองโกและสหประชาชาติ กล่าวหารัฐบาลรวันดาซึ่งนำโดยชาวทุตซีให้การสนับสนุนกลุ่ม M23 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลรวันดาปฏิเสธมาโดยตลอด แต่เมื่อไม่นานมานี้ ท่าทีจากทางการก็เปลี่ยนไป โดยโฆษกรัฐบาลระบุว่า การสู้รบใกล้ชายแดนรวันดากระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
ในปี 2012 มาเคงกาและคนอื่น ๆ ในกลุ่ม M23 ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามร้ายแรง สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเขา ระบุว่าเขาเกี่ยวข้องกับ “การเกณฑ์เด็กมาเป็นกองกำลังทหาร และก่อความรุนแรงต่อพลเมือง” ขณะที่มาเคงกา ตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่า M23 ใช้ทหารเด็ก ระบุว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่มีมูล”
ทว่า สหประชาชาติระบุว่าเขากระทำความผิดและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอย่างเหตุฆาตกรรม ตัดอวัยวะ ความรุนแรงทางเพศ และการลักพาตัว
มาเคงกา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อกบฎต่อต้านรัฐบาลดีอาร์คองโกหลายครั้ง
นอกเหนือจากทรัพย์สินที่ถูกอายัด มาเคงกาต้องรับมือกับความแตกแยกภายในกลุ่ม M23 เอง ซึ่งข้างหนึ่งก็สนับสนุนเขาในฐานะผู้นำ ขณะที่อีกข้างสนับสนุนศัตรูของเขานั่นคือ พลเอกบอสโก นตากันดา
“โครงการพอกันที” (The Enough Project) กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานในดีอาร์คองโก เปิดเผยว่า ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย กลายมาเป็น “สงครามเต็มรูปแบบ” ในปี 2013 ซึ่งส่งผลให้มีทหาร 3 นาย และพลเมือง 8 คน เสียชีวิต
ฟากของมาเคงกาได้รับชัยชนะ ในขณะที่นตากันดาต้องลี้ภัยไปรวันดาและมอบตัวกับสถานทูตสหรัฐฯ
จากฉายา “ผู้ทำลาย” ที่ได้รับจากความโหดเหี้ยมของเขา สุดท้ายพลเอกนตากันดาถูกตัดสินโทษศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) ให้จำคุก 30 ปี ฐานก่ออาชญากรรมสงคราม
อย่างไรก็ตาม ไม่ถึงปีหลังจากที่มาเคงกาได้รับชัยชนะ เขาต้องเผชิญกับภัยคุกคามอื่นที่ใหญ่กว่า เมื่อสหประชาชาติส่งกำลังทหารที่มีความแข็งแกร่ง 3,000 นาย มาสนับสนุนกองทัพทหารคองโกในการยึดคืนเมืองโกมาจากกลุ่ม M23
กลุ่มกบฏ M23 ถูกผลักดันให้ออกจากประเทศ และมาเคงกาได้ลี้ภัยไปยังอูกันดา ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุน M23 แต่อูกันดาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
อูกันดาได้รับคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากดีอาร์คองโก ให้ส่งตัวมาเคงกา แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอ
8 ปีผ่านไป กลุ่มติดอาวุธจำนวนมากยังคงก่อการอยู่ในดินแดนฝั่งตะวันออกที่เต็มไปด้วยแหล่งแร่ ซึ่งได้สร้างความหายนะอย่างใหญ่หลวง แต่ก็ถือว่าทางการคองโกปลอดจากกลุ่มติดอาวุธที่โด่งดังที่สุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
เหตุการณ์เป็นเช่นนั้นมาจนกระทั่งปี 2021
มาเคงกาและกองกำลังของเขากลับมาจับอาวุธอีกครั้ง และเข้ายึดครองอาณาเขตในจังหวัดคิวูเหนือ
การพักรบระหว่างกลุ่ม M23 และทางการคองโกล้มเหลวหลายครั้ง และเมื่อปีที่แล้วศาลพิพากษาประหารชีวิตมาเคงกา โดยเป็นการอ่านคำพิพากษาลับหลัง
ในการรุกคืบครั้งล่าสุดของกลุ่ม M23 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้รับการสนับสนุนกำลังทหารรวันดาหลายพันนายนั้น มาเคงกาแทบไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ
เขาใช้วิธีการให้โฆษกประจำตัวเป็นผู้แถลงข่าวหรือออกแถลงการณ์ต่าง ๆ หรือไม่ก็จะเป็น คอร์เนลล์ นังกา ซึ่งคุมกลุ่มพันธมิตรกองกำลังกบฏ ซึ่งรวมถึงกลุ่ม M23 เป็นผู้ออกหน้า
แต่มาเคงกาก็ยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญ ซึ่งดูเหมือนจะเน้นไปที่การวางกลยุทธ์อยู่เบื้องหลังมากกว่า
เขาระบุว่าการต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งของตนเอง ทำเพื่อลูกของเขาทั้ง 3 คน “เพื่อที่วันหนึ่งพวกเขาจะมีอนาคตที่ดีกว่าในประเทศนี้”
“ผมไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่ต้องการสันติภาพ ผมมีหัวใจ มีครอบครัว และมีผู้คนที่ผมห่วงใย” มาเคงกา ระบุ
แต่คนธรรมดานับล้านมีราคาต้องจ่ายจากความขัดแย้งนี้ และหากมาเคงกาถูกทหารคองโกจับกุม เขาก็ต้องเผชิญกับโทษประหาร
แต่ว่าเขากลับไม่หวั่นใด ๆ
“ผมพร้อมสละทุกอย่าง” มาเคงกา ระบุ
————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : bbc news / วันที่เผยแพร่ 10 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c4gz4zj7dzpo