วรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีชำนาญการ ยืนคู่กับโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งขุดค้นโนนพลล้าน
ภายในรั้วสังกะสีบริเวณประตูเมืองนครราชสีมาทิศตะวันออกติดกับถนนพลล้าน หรือที่ชาวโคราชรู้จักกันในชื่อว่าประตูพลล้าน นักโบราณคดีกำลังทำงานในหลุมขุดขนาด 3×15 เมตร เพื่อรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนเรื่องเล่าของผู้คนในพื้นที่นี้เมื่อหลายพันปีก่อน
งานครั้งนี้เป็นระยะที่สอง ต่อเนื่องจากการขุดค้นเมื่อปี 2567 ซึ่งในตอนนั้นมีจุดประสงค์ต้องการค้นหากำแพงเมืองเก่าสมัยอยุธยา ทว่า ก่อนที่โครงการนี้จะจบลงภายในกี่วัน จอบของนักขุดก็กระทบกับกะโหลกศีรษะมนุษย์
“เรียกว่ายูเรก้า ! [คำอุทานภาษากรีกแปลว่า ‘ค้นพบแล้ว’] เลยครับ เพราะจากงานขุดค้นกำแพงสมัยอยุธยา กลายเป็นเจอกระโหลกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์แทน” นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีชำนาญการ ผู้ดูแลการขุดค้น จากสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เล่าให้บีบีซีไทยฟัง
เมื่อปี 2567 นักโบราณคดีพบโครงกระดูก 3 โครง พร้อมกับเครื่องอุทิศจำนวนมาก หนึ่งในนั้นมีภาชนะดินเผาพิมายดำ รวมถึงเครื่องประดับทองคำด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก โดยผลจากการกำหนดอายุสมัยด้วยวิธีเรืองแสงความร้อนก็พบว่าพื้นที่นี่เป็นสุสานหรือป่าช้าฝังศพ มีอายุระหว่าง 2,400-1,500 ปีมาแล้ว ตรงกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยการขุดค้นทั้งหมดเป็นผลงานที่เกิดขึ้นภายใน 17 วัน
นักโบราณคดีทำงานแข่งกับเวลาเพื่อเก็บหลักฐานจากแหล่งขุดค้นให้ได้มากที่สุด
ในปีนี้ สำนักโบราณคดีที่ 10 ตัดสินใจดำเนินงานการขุดค้นต่อเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ วันที่บีบีซีไทยเดินทางไปยังแหล่งขุดค้น นักโบราณคดีสามารถขุดค้นโครงกระดูกได้ 6 โครงแล้ว แต่ดูเหมือนว่าภาชนะดินเผาที่พวกเขาพบในหลุม กำลังบ่งชี้ว่านักโบราณคดีอาจกำลังทำงานอยู่ในสุสานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ว่ายุคเหล็ก
สิ่งนั่นคือ “หม้อปากแตร” ภาชนะดินเผาคอแคบ ขอบปากภาชนะผายออกด้านนอก ผิวภาชนะมีสีแดงเคลือบด้วยน้ำโคลนขัดมัน
นายวรรณพงษ์บอกว่าวัฒนธรรมสำริดมีความเก่าแก่กว่าวัฒนธรรมเหล็ก โดยมีอายุอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 4,000 ปีมาแล้ว และภาชนะที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสำริดในพื้นที่นครราชสีมาหรือพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนบนนั้นคือ “หม้อปากแตร” ซึ่งเจอครั้งแรกที่ ต.บ้านปราสาท อ.โนนสูง ห่างจากจุดนี้ออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร ดังนั้นการเจอภาชนะดินเผาชนิดนี้จึง “เป็นจุดเริ่มต้นของข้อสันนิษฐานใหม่ที่จะบอกว่าแหล่งฝังศพมีกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยสำริด”
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการอ้างอิงยุคสมัยจากภาชนะที่พบเท่านั้น ยังต้องรอผลการกำหนดอายุด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ต่อไป
ปริศนาจากหลุมขุดโนนพลล้าน
นักโบราณคดีตั้งข้อสังเกตว่ากระดูกเท้าที่ผิดปกติ ดูเหมือนศพถูกจัดท่าทางมาก่อน
เมื่อมองลงไปในหลุมขุด พวกเขาพบว่าโครงกระดูกที่ขุดได้ในครั้งนี้ดูเหมือนมีการจัดท่าทางของศพ
น.ส.นภัสสร แย้มคงเมือง นักโบราณคดีปฏิบัติการ ชี้ให้ดูกระดูกข้อเท้าที่ชิดกันราวกับว่าถูกมัดไว้ด้วยสิ่งที่มองไม่เห็นหรือสิ่งผูกมัดอาจย่อยสลายไปแล้วตามกาลเวลา ส่วนของปลายเท้านั้นเหยียดยาวออกไป แทนที่จะตั้งและแบะออกตามสรีระของร่างกายมนุษย์เมื่อยามนอนหงาย
“มันทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเขาอาจมีการมัดเท้าหรือจัดท่าทางของศพ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในขั้นตอนของพิธีกรรม” เธอกล่าว “บางไซต์มีการเจอภาชนะแตก ๆ ปูรองศพเอาไว้ แต่น่าสนใจว่าไซต์นี้กลับไม่มี”
โครงกระดูกแต่ละอันก็หันออกไปใน 2 ทิศ บ้างหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนหันไปทางทิศตะวันตก
“มันก็น่าสนใจว่าเป็น 2 ระยะเหรอ ? หรือมีความแตกต่างเรื่องเพศสภาพของศพ มันมีอะไรแตกต่างกันระหว่างโครงกระดูกที่หันไปในสองทิศนี้” น.ส.นภัสสร อธิบายถึงปริศนาต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นระหว่างการขุดค้น
ของอุทิศมักพบวางไว้กับโครงกระดูก
นักโบราณคดีตั้งข้อสังเกตว่าของอุทิศซึ่งเป็นสิ่งของสำหรับโลกหน้าตามความเชื่อโลกหลังความตาย มักพบเจอในโครงกระดูกที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมันอาจสื่อว่าในยุคสมัยนั้นสถานะของผู้หญิงนั้นอาจสูงส่งกว่าผู้ชายก็เป็นได้
“อาจจะเหมือนกับที่นักประวัติศาสตร์พูดมาตลอดว่าก่อนการเข้ามาของศาสนาซึ่งเรารับมาจากอินเดียและเขาให้ความสำคัญกับผู้ชายในฐานะผู้สืบทอด แต่ในสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์เรามีความเชื่อพื้นถิ่นเรื่องนับถือผี ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ให้กำเนิดซึ่งเท่ากับความอุดมสมบูรณ์ มันก็ชวนให้คิดว่าทั้งสองเพศจะมีสถานะแตกต่างกันอย่างไร หากพิจารณาจากของอุทิศที่มีไม่เท่ากัน” นายวรรณพงษ์กล่าวเสริม
นอกจากข้อสังเกตว่าโครงกระดูกเหล่านี้มาจากสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นเกิดขึ้นแล้ว พวกเขายังพบ “แวดินเผา” หรือตุ้มถ่วงน้ำหนักสำหรับใช้ในการทอผ้าวางอยู่บนโครงกระดูกบางอันด้วย
“โครงกระดูกนี้อาจเคยเป็นคนที่มีความชำนาญหรือเป็นกลุ่มช่างที่เกี่ยวข้องกับงานผ้าในชุมชนหรือเปล่า” น.ส.นภัสสร ชี้ให้เห็นปริศนาที่พวกเขาต้องสืบค้นกันต่อไป
นภัสสร แย้มคงเมือง นักโบราณคดี แสดงแวดินเผาที่พวกเขาพบในแหล่งขุดค้น
อีกหนึ่งปริศนาที่นักโบราณคดีมีคำถามอย่างมากคือการพบเต่าน้ำจืดถูกฝังอยู่ในสุสานอายุหลายพันปีแห่งนี้ด้วย โดยพบมันในชั้นดินช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก ซึ่งนักโบราณคดีมองว่ามันถูกจงใจนำมาฝังในที่แห่งนี้
“ถามว่าทำไมถึงบอกว่าจงใจฝัง เต่าตัวนี้มันถูกฝังอยู่บนหอยโข่งนะครับ และใกล้ ๆ กับเต่าที่เราพบ ก็เจอชามดินเผาด้วย มันก็ชวนคิดต่อว่าเต่าที่ถูกปูรองด้วยหอยโข่งและมีชามข้าว มันจะเป็นเต่าอะไร ทำไมมันถึงได้รับการยกย่อง เป็นเรื่องของเต่าศักดิ์สิทธิ์หรือเปล่า หรือเต่าเสี่ยงทาย หรือมันคือสัตว์เลี้ยง ?” นายวรรณพงษ์ เล่าให้ฟังถึงคำถามมากมายที่มีต่อเต่าโบราณตัวนี้
เต่าน้ำจืดที่มีหอยโข่งปูรองไว้
เราพบว่าการขุดค้นในปีนี้มีเรื่องบังเอิญที่นำทำให้นักโบราณคดีได้พบหลักฐานชิ้นสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อด้วยเช่นกัน
ขณะที่นักศึกษาปี 2 จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏนครราชสีมา กำลังเก็บดินในหลุมขุดค้นเพื่อนำไปค้นหาเมล็ดพืช ละอองเรณูที่สัมพันธ์กับหลักฐานทางโบราณคดี และระหว่างที่กำลังร่อนดินอยู่นั้น เธอก็สังเกตเห็นแผ่นทองคำขนาดเล็กจิ๋วประมาณ 1×1 มิลลิเมตร ทางนักโบราณคดีเตรียมนำส่งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้วิเคราะห์หาค่าบริสุทธิ์ของทองคำ ซึ่งพวกเขาเคยทำเมื่อปีที่แล้วกับเครื่องประดับทองคำซึ่งพบในโครงกระดูกหมายเลข 3 ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้หญิง
“นอกจากข้อสังเกตว่าของอุทิศของโครงกระดูกที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้หญิงมีจำนวนเยอะมาก ๆ ยิ่งโครงกระดูกนี้มีเครื่องประดับทองคำ ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าเจ้าของโครงกระดูกเป็นคนที่มีสถานะสูงมาก ๆ แบบมาก ๆ ” นายวรรณพงษ์ กล่าวเน้นเสียงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสูงส่งของสถานะผู้สวมเครื่องประดับทองคำ
แผ่นทองคำขนาดเล็กจิ๋วที่พบโดยไม่ได้ตั้งใจ
ย้อนกลับไปที่การขุดค้นปี 2567 ทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ วิเคราะห์แหวนทองคำซึ่งสวมอยู่บนนิ้วโครงกระดูกหมายเลข 3 และพบว่าแหวนวงแรกมีความบริสุทธ์ของทองคำราว 74.9% ส่วนวงที่สองมีความบริสุทธิ์อยู่ที่ 62.01 % ขณะที่ต่างหูทองคำข้างที่ 1 มีความบริสุทธิ์ 83.59% ข้างที่สองมีความบริสุทธิ์ 79.07% โดยทางสถาบันพบว่าสัดส่วนของธาตุทองคำในเครื่องประดับเหล่านี้มีความใกล้เคียงกับเครื่องประดับทองคำที่พบในแหล่งโบราณคดีโนนบ้านจาก อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จ.กระบี่ รวมถึงแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีช่วงอายุที่ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน
อย่างไรก็ตาม ที่มาของเครื่องประดับเหล่านี้ยังเป็นปริศนาและต้องการการสืบค้นต่อไป
นายวรรณพงษ์บอกว่า หากผลวิเคราะห์ค่าความบริสุทธิ์ของแผ่นทองคำแล้วได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกันกับแหวนและต่างหูที่พบเมื่อปีที่แล้ว ก็ย่อมมีแนวโน้มว่าที่มาของเครื่องประดับทองคำในแหล่งนี้มีความสัมพันธ์กัน แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ “ตอนนี้เราได้จิ๊กซอว์แล้วว่าชุมชนก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้ อาจมีการแลกเปลี่ยนกับเมืองท่าในคาบสมุทรทางตอนใต้ซึ่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์เร็วกว่าก็เป็นได้”
การขุดค้นครั้งนี้สำคัญอย่างไร ?
เมื่อถามผู้ดูแลการขุดค้นว่าหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ที่พวกเขาเจอนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อหน้าประวัติศาสตร์ของนครราชสีมา
“มันขยายเพดานการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่นครราชสีมา” นายวรรณพงษ์ ตอบ และอธิบายต่อว่าชื่อ “เมืองนครราชสีมา” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอาณาจักรอยุธยา โดยสันนิษฐานว่าเดิมทีเมืองนครราชสีมาน่าจะอยู่ที่เมืองเสมา อ.สูงเนิน ก่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้
“แต่หลักฐานที่เราเจอในครั้งนี้มันคือหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ มันเกิดก่อนเมืองนครราชสีมาหลายพันปี เพราะฉะนั้นมันคนละบริบทกัน โดยบริบทที่เราทำงานอยู่ตรงนี้คือชุมชนคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งมันอาจยังไม่มีสถานภาพเป็นเมือง ไม่มีกำแพงเมือง หรือคูเมือง เพราะว่าเมื่อเราพูดถึงชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ เราต้องเอากำแพงและคูเมืองออกไป ตรงนี้เป็นแค่โนน ๆ หนึ่งเท่านั้น เป็นโนนป่าช้ารวม” เขากล่าวเสริม
“บางทฤษฎีก็มีการนำเสนอว่าบริเวณเมืองนครราชสีมาเป็นพื้นที่ใหม่ ไม่น่ามีคนอยู่มาก่อน ไม่น่ามีร่องรอยของคน แต่หลักฐานทางโบราณคดีตรงนี้บอกแล้วว่า ก่อนที่พวกเขาจะย้ายมาที่นี่เมื่อสมัยอยุธยา พันกว่าปีที่แล้วมันมีคนอยู่ตรงนี้” นายวรรณพงษ์กล่าว
การขุดค้นสิ้นสุดเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา หลัก ๆ แล้ว พวกเขาพบโครงกระดูกทั้งหมด 11 โครง เป็นโครงกระดูกที่สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยเหล็ก 6 โครง ซึ่งเป็นโครงที่มีความสมบูรณ์ทั้งหมด 4 โครง และเป็นโครงกระดูกที่สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยสำริดจำนวน 5 โครง โดยเป็นโครงที่มีความสมบูรณ์ 3 โครง
ผู้ดูแลการขุดค้นบอกว่าขั้นตอนต่อจากนี้คือการวิเคราะห์โครงกระดูกและโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พวกเขาได้มาจากหลุมขุด โดยมีแผนทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ในสหวิชาการสาขาอื่น ๆ เนื่องจากปริศนาต่าง ๆ ที่พวกเขาพบจากแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน ไม่อาจพึ่งพาความรู้จากศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเพียงลำพัง
“เราไม่อาจพึ่งพาแค่ความรู้ทางโบราณคดีได้อีกต่อไป” นายวรรณพงษ์ บอก “การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ จะช่วยนักโบราณคดีวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น”
Article information
Author,จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
Role,ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
——————————————————————————————————————–
ที่มา : BBC NEWS ไทย / วันที่เผยแพร่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cly40308dwpo