นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ความพยายามของอินเดีย ในการลดการพึ่งพายุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซียที่มีมาอย่างยาวนาน กำลังประสบผลสำเร็จ หลังรัฐบาลนิวเดลีประจบพันธมิตรตะวันตกรายใหม่ และอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในช่วงเวลาที่กลุ่มอุตสาหกรรมและการทหารของรัฐบาลมอสโก ยุ่งอยู่กับสงครามในยูเครน อินเดียก็ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยเป็นอันดับแรก ซึ่งความเร่งด่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามความตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “จีน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การปะทะกันระหว่างกองทหารของทั้งสองฝ่าย เมื่อปี 2563
“การรับรู้ของอินเดีย ในเรื่องสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงต่อจีน เปลี่ยนไปอย่างมาก” นายฮาร์ช วี ปันต์ จากมูลนิธิวิจัยผู้สังเกตการณ์ (โออาร์เอฟ) ซึ่งเป็นคลังสมองในกรุงนิวเดลี กล่าว
ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีน ตกต่ำหลังเกิดการปะทะที่ชายแดนร่วม ส่งผลให้ทหารอินเดียและทหารจีนเสียชีวิตอย่างน้อย 20 นาย และ 4 นาย ตามลำดับ เมื่อปี 2563 ซึ่งปันต์กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ระบบสั่นคลอน และเกิดการตระหนักว่า เราต้องทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ในตอนนี้ และต้องทำโดยเร็วที่สุด
อนึ่ง สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (เอสไอพีอาร์ไอ) ระบุเมื่อปีที่แล้วว่า อินเดียกลายเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนคิดเป็นเกือบ 10% ของการนำเข้าอาวุธทั้งหมดทั่วโลก ในปี 2562-2566 อีกทั้งอินเดียยังมีคำสั่งซื้ออาวุธจำนวนมากจากสหรัฐ ฝรั่งเศส อิสราเอล และเยอรมนี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มูลค่ารวมหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน นายราชนาถ สิงห์ รมว.กลาโหมอินเดีย ยังให้คำมั่นว่าจะทำสัญญายุทโธปกรณ์ทางทหารภายในประเทศฉบับใหม่ มูลค่าอย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,400 ล้านบาท) ภายในปี 2576 เพื่อกระตุ้นการผลิตอาวุธในประเทศ
“อินเดียเป็นผู้นำเข้ามานานหลายสิบปี และเพิ่งหันมาเน้นการผลิตภายในประเทศ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเทศขาดความสามารถในการระบบอาวุธที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ไม่สามารถผลิตทุกอย่างได้ที่นี่” นายนิติน โกคาเล นักวิเคราะห์ด้านกิจการเชิงกลยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของอินเดีย ยังคงประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจหลายครั้ง โดยในทศวรรษนี้ อินเดียเปิดโรงงานผลิตเฮลิคอปเตอร์แห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ ตลอดจนเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินผลิตเองลำแรก และประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกพิสัยไกล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเดียได้กระชับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศกับชาติตะวันตก รวมถึงพันธมิตร “ควอด” กับสหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งช่วยให้อินเดียลงนามในข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อนำเข้าและผลิตโดรนทางทหาร เรือรบ เครื่องบินขับไล่ และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ภายในประเทศ ร่วมกับซัพพลายเออร์จากชาติตะวันตก
กระนั้น รัฐบาลนิวเดลีก็พยายามรักษาสมดุลที่ละเอียดอ่อน ระหว่างความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับรัฐบาลมอสโก กับความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับประเทศตะวันตก ซึ่งโกคาเลกล่าวเพิ่มเติมว่า อินเดียไม่สามารถละทิ้งความสัมพันธ์กับรัสเซียได้ เนื่องจากอีกฝ่ายยังมีบทบาทสำคัญในฐานะซัพพลายเออร์อาวุธขั้นสูง
“มันเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อินเดียกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดหาอาวุธจากประเทศอื่น แต่ถึงอย่างนั้น รัสเซียยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญและพึ่งพาได้มาก” โกคาเล กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 18 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4404666/