องค์การสหประชาชาติเรียกสงครามในซูดานว่า “วิกฤตมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในโลก”
มาร์โก โอริอันโต
บีบีซีนิวส์
————–
13 กุมภาพันธ์ 2025
สถานการณ์การสงครามกลางเมืองในซูดานที่ยืดเยื้อมายังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด มีรายงานว่า กองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces หรือ RSF) ซึ่งเป็นกองกำลังรบกึ่งทหารที่ไม่ได้สังกัดกองทัพซูดาน บุกโจมตีเข้าไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศซูดานใกล้กับเมืองอัล ฟาเชอร์ เมืองเอกของภูมิภาคดาร์ฟูร์เหนือ
องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้เสียชีวิตราว 70 คน จากการโจมตีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองนี้ โดยกองกำลัง RSF
นับตั้งแต่การสู้รบเกิดขึ้นในปี 2023 มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายพันคน และยังมีผู้ที่ต้องพลัดถิ่นอีกมากกว่า 10 ล้านคน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้องค์การสหประชาชาติเรียกว่าเป็น “วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดของโลก”
เพราะเหตุใด เมืองอัล ฟาเชอร์ จึงกลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังกลายเป็นสมรภูมิรบเพื่อแย่งชิงทองคำและอำนาจ
การควบคุมในภูมิภาคดาร์ฟู
แผนที่แสดงพิกัดของเมืองอัล ฟาเชอร์ ในภูมิภาคดาร์ฟูร์
ภูมิภาคดาร์ฟูร์มีขนาดพื้นที่คร่าว ๆ ใกล้เคียงกับพื้นที่ของประเทศสเปน และยังเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรซูดานมากที่สุดด้วย
กองกำลัง RSF ได้เข้ายึดครองพื้นที่ 4 ใน 5 รัฐของภูมิภาคดาร์ฟูร์แล้วในขณะนี้ การเข้ายึดครองเมืองอัล ฟาเชอร์ได้ จะทำให้พวกเขาสามารถควบคุมได้ทั้งภูมิภาค
“เมืองอัล ฟาเชอร์ คือ ที่มั่นสุดท้ายในภูมิภาคดาร์ฟูร์ภายใต้การควบคุมของกองทัพแห่งชาติซูดาน” ดัลเลีย อับเดลโมเนียม นักวิเคราะห์ทางการเมืองซูดานกล่าว
หากว่ากองกำลัง RSF สามารถเข้ายึดเมืองอัล ฟาเชอร์ได้ พวกเขาจะสามารถมีอำนาจเหนือพื้นที่ด้านตะวันตกของซูดาน
“นี่คือการรบที่ไม่มีกติกา [กองกำลัง RSF] อาจจะประกาศอิสรภาพหรือไม่ก็แยกตัวออกมา” อับเดลโมเนียม กล่าว
ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์
โมฮัมเหม็ด ฮันดัน ดากาโล ผู้บัญชาการกองกำลัง RSF สามารถเข้าควบคุมเหมืองทองที่มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในภูมิภาคดาร์ฟูร์เอาไว้ได้
ตอนนี้พื้นที่ของเมืองอัล ฟาเชอร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อย่างตึงเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งแยกอาณาเขต
เมืองสำคัญแห่งนี้เป็นที่อยู่ของชุมชนชาวแอฟริกันหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ฟูร์ (Fur), ซากาวา (Zaghawa) และมาซาลิต (Masalit) ในจำนวนนี้หลายกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลซูดาน เพราะมองว่ารัฐบาลซูดานเลือกปฏิบัติต่อประชากรที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ
ในปี 2003 ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ได้ก่อให้เกิดการรณรงค์ที่รุนแรงนำโดยรัฐบาล ซึ่งมุ่งต่อต้านชุมชนชาวแอฟริกัน
ศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวหาว่า ผู้นำซูดานและกลุ่มติดอาวุธจันจาวีด (Janjaweed) ที่รัฐบาลหนุนหลัง กระทำการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ การทรมานและการก่ออาชญากรรมสงคราม
ในปี 2003 กลุ่มติดอาวุธจันจาวีดได้เปลี่ยนแปลงชื่อกลุ่มมาเป็นกองกำลัง RSF ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามที่จะเข้าควบคุมภูมิภาคดาร์ฟูร์
“กลุ่มชนเผ่าแอฟริกันส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองอัล ฟาเชอร์ ขณะที่กองกำลัง RSF ส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวซูดานเชื้อสายอาหรับและทหารรับจ้าง” อับเดลโมเนียม อธิบาย
“พวกเขาสามารถสร้างความรุนแรงได้มากกว่า ประวัติของกองกำลัง RSF ยังแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่เกรงกลัวที่จะกระทำเช่นนั้น”
ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในซูดานทำให้เกิดการทำลายล้างด้วยความโหดร้ายจากทั้งสองฝ่าย
ในการเดินทางครั้งล่าสุดไปยังค่ายผู้ลี้ภัยชาวซูดานบริเวณชายแดนติดกับประเทศชาด เดวิด แลมมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร บอกว่าเขาได้พบเห็น “บางสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในที่ชีวิต”
“บรรดาผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่กำลังหนีภัยอย่างไม่คิดชีวิต บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสังหารหมู่อย่างมโหฬาร การทำลายล้าง การเผาทำลาย ความรุนแรงทางเพศต่อพวกเขา ต่อบรรดาเด็กเล็ก และเหนือสิ่งอื่นใด คือ ความหิวโหย ความอดอยาก มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
ช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ
นักวิเคราะห์ระบุว่า แร่ทองคำในภูมิภาคดาร์ฟูร์ คือชนวนเหตุของความขัดแย้งในซูดาน
การสู้รบเพื่อให้ได้มาซึ่งการควบคุมเมืองอัล ฟาเชอร์ ยังหมายถึงการแก่งแย่งทรัพยากรอันล้ำค่าด้วย
โมฮาหนัด ฮาชิม ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า “ศักยภาพด้านการทำเหมืองแร่ในภูมิภาคดาร์ฟูร์นั้นมากมายมหาศาลนัก ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันดิบ แร่ยูเรเนียม น้ำบาดาล ทว่า สิ่งที่เป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งครั้งนี้คือ ทองคำ”
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เชื่อว่า เงินที่ได้จากการลักลอบค้าทองคำ คือทุนค้ำจุนการทำสงครามครั้งนี้
นอกจากนี้ การที่สามารถควบคุมภูมิภาคดาร์ฟูร์เหนือผ่านเมืองอัล ฟาเชอร์ได้ จะสามารถเปิดเส้นทางที่ไม่เคยมีมาก่อนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลิเบียและชาด เช่นเดียวกันกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งทั้งหมดล้วนกระหายที่อยากจะได้ทองคำ
จากข้อมูลของกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ในขณะนี้ โมฮัมเหม็ด ฮันดัน ดากาโล ผู้บัญชาการกองกำลัง RSF ได้เข้ายึดครองพื้นที่เหมืองทองคำล้ำค่าแห่งหนึ่งในภูมิภาคดาร์ฟูร์แล้ว
—————————————————————————————————————————
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cwywzypn27zo