“ภูมิธรรม” เผยปรับยุทธศาสตร์ทบทวนการทำงานแก้ปัญหาชายแดนใต้ มุ่งลดภารกิจลดเสี่ยง ตำรวจทหารและผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่ โดยรัฐบาลพร้อมหนุนทุกภารกิจ
วันจันทร์ที่ 17 ก.พ.68 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่ จ.สงขลา ปรากฏว่ารัฐมนตรีน้อยใหญ่พากันลงพื้นที่ล่วงหน้าเพื่อปฏิบัติภารกิจในหน้างานของตนเอง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวนการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายตำรวจ ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ในที่ประชุม ตัวแทนทุกหน่วยงานได้ผลัดกันรายงานผลการดำเนินงานและบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่รับผิดชอบ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยินดีที่ได้มีโอกาสมาพบปะและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ซึ่งเป็นหน่วยที่ต้องเผชิญต่อการแก้ไขปัญหาที่มีความยากลำบาก แต่ก็เป็นความเสียสละ เป็นการทำงานเพื่อป้องกันประเทศและบ้านเมืองให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อประชาชนได้อยู่สุขสบาย โดยการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เหล่านี้ล้วนจะต้องทำงานบนความเสี่ยงทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน
“ขณะนี้รัฐบาลได้มีการปรับยุทธศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องการทำงานที่ประสบปัญหามาหลายสิบปี ซึ่งจะต้องมีการทบทวนการทำงานแบบใหม่ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดภารกิจและลดความเสี่ยงให้กับตำรวจ ทหาร ตลอดจนหน่วยราชการต่างๆ ได้อยู่สุขสบายมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการนำหลักปรัชญา ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย”
“ในส่วนของ ศอ.บต. ผมขอให้กำลังใจผู้ที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ดูแลประชาชนให้มีความสุข ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการทำงานในทุกภารกิจต่อไป” รองนายกฯภูมิธรรม ระบุ
@@ ดัชนีเชื่อมั่น “ศก.-สังคม” ดีขึ้น แต่ความมั่นคงลด
จากนั้น รองนายกฯ ภูมิธรรม ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้รับฟังผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ในรอบ 6 เดือนของ ศอ.บต. ได้แก่
1.การแก้ไขปัญหาความยากจน
2.การพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในระดับฐานราก ระดับอนุภูมิภาค
3.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
4.การพัฒนาสังคม
5.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
6.การส่งเสริมการมีส่วนร่วม
7.การสร้างความเข้าใจกับนานาชาติ
โดยสรุปการพัฒนาในพื้นที่มีความคืบหน้าจากห้วงปีที่ผ่านมา รายได้ครัวเรือนต่อปีอยู่ระดับทรงตัว มูลค่าการลงทุน รวม 4 ปี มีมูลค่า 37,418 ล้านบาท โดยในปี 2566 มีมูลค่า 9,830 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวรวม 4 ปี จำนวน 27.5 ล้านคน หรือเฉลี่ยปีละ 6.9 ล้านคน มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP) อยู่ในระดับทรงตัว
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง พบว่า ความเชื่อมั่นไตรมาส 4 ปี 2567 (ต.ค.-ธ.ค.67) โดยรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งมิติเศรษฐกิจ และสังคม ขณะที่ความมั่นคงปรับลดลง
นอกจากนี้ ยังได้รับฟังการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่
1.อุตสาหกรรมฮาลาล
2.อุตสาหกรรมประมง
3.การพัฒนาร่วมกันกับรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียผ่านเมืองคู่แฝด (Twin Cities)
4.สร้างสรรค์อัตลักษณ์พื้นถิ่นชายแดนใต้
พร้อมกันนี้ รองฯภูมิธรรม ได้เยี่ยมชมบูธการแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการชายแดนใต้ที่ได้นำสินค้ามาจัดแสดงกว่า 20 บูธ
@@ ชงปิด “ท่าข้าม” ไทย-มาเลย์
มีรายงานว่า ที่ประชุมได้หารือในส่วนของภารกิจความมั่นคง โดยได้เน้นยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ที่เสนอโดย พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งสลายกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐ และแก้ไขปัญหารากเหง้าในพื้นที่ชายแดนใต้
อ่านประกอบ : “แม่ทัพไพศาล” ชง 3 ข้อเสนอ “ยุทธศาสตร์ปี 68 ดับไฟใต้”
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเชิงรุก ให้ยกเลิกการใช้ช่องทางผ่านแดนธรรมชาติผิดกฎหมาย หรือ “ท่าข้าม” บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียทั้งหมด โดยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้ช่องทางผ่านแดนตามปกติ รวมทั้งเร่งพัฒนาช่องทางผ่านแดนถาวรเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนแทน ขณะเดียวกันก็ให้ยกระดับการลาดตระเวนบริเวณชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ทั้งคนและสินค้า รวมถึงสกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงด้วย
สำหรับ “ท่าข้าม” ที่มีมากที่สุด อยู่ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และใกล้เคียง เช่น อ.แว้ง โดยเป็นท่าข้ามแม่น้ำโก-ลก ไปยังเมืองรันเตาปันยัง หรือ รันตูปันยัง และใกล้เคียง ในรัฐกลันตันของมาเลเซีย
บริเวณที่นิยมข้ามแดนมากที่สุด อยู่ในช่วงสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย ใกล้ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ไปจนถึงบ้านตันหยงมะลิ รอยต่อกับ อ.แว้ง ระยะทางราว 8 กิโลเมตร มีท่าข้าม 14 ท่า โดยเกือบทั้งหมดเป็น “ท่าข้ามเถื่อน” มีบางท่าเท่านั้นที่เป็น “จุดผ่อนปรน” แต่เมื่อปีที่แล้วทางการมาเลเซียสั่งปิดท่าข้าม 6 ท่า ซึ่งเป็น “จุดผ่อนปรน” ทั้งหมด
เป็นที่น่าสังเกตว่า สส.ฝ่ายค้านและนักวิชาการ เพิ่งเสนอให้รัฐบาลสั่งปิด “ท่าข้ามเอกชน” ริมฝั่งแม่น้ำเมย ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด และอำเภออื่นๆ ของ จ.ตาก ซึ่งมีมากถึง 120 ท่า เพราะเชื่อว่าเป็นช่องทางการข้ามแดนผิดกฎหมายของทั้งเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ ซึ่งมีทั้งเหยื่อและคนที่สมัครใจไปทำงาน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เนื่องจากหาเจ้าภาพรับผิดชอบยังไม่ได้
@@ ไฟเขียวเปิดโปงกลุ่มป่วนใต้ หวังตัดท่อน้ำเลี้ยง
วงประชุมหน่วยงานที่มีภารกิจดับไฟใต้ ซึ่งมีรองนายกฯภูมิธรรม เป็นประธาน ยังเสนอมาตรการด้านการข่าว ให้มีปฏิบัติการข่าวสารเชิงรุก ทั้งในทางเปิดและทางปิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐ และเผยแพรข้อมูลเพื่อต่อต้านการบิดเบือน
พร้อมกันนี้ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต่อสาธารณะ เพื่อลดสถานภาพความเป็นองค์กรปิดลับ และจำกัดความเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระของผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งลดการสนับสนุนจากต่างประเทศ
@@ “พ.ต.อ.ทวี” เปิดมหกรรมไกล่เกลี่ย ช่วยลูกหนี้สงขลา
วันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางไปเป็นประธานเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ 2568 ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ มีอยู่ มีกิน มีใช้” ที่ห้องสมิหลา แกรนด์บอลรูม โรงแรมบีพี สมิหลาบีช จ.สงขลา
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นแก้ปัญหาประชาชนเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้สินของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน รัฐบาลมีความจริงใจที่จะลดภาระหนี้เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
การลดภาระหนี้ คือ การไกล่เกลี่ย, การไกล่เกลี่ย คือ การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นการไกล่เกลี่ยที่ให้เจ้าหนี้อยู่ได้ มีกำไรน้อยหน่อยหรือเสมอตัว และลูกหนี้อยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่คือเป้าหมายของมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ให้มีอยู่ มีกิน มีใช้ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ
“วันนี้เป็นวาระสำคัญของรัฐบาลที่มาประชุมที่สงขลา อยากจะส่งสาร โดยเฉพาะหนี้ กยศ. มีลูกหนี้อยู่ 7 ล้านกว่าคน ผู้ค้ำอีก 7 ล้านกว่าคน รวมเป็น 14 ล้านคน เพื่อให้ได้รับรู้ว่าอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลจะมาลดภาระหนี้ คือไม่ได้ยกหนี้ให้ แต่ลดภาระหนี้ เพื่อให้เงินที่ต้องชำระหนี้ กยศ. ทั้งเบี้ยปรับ หรือดอกเบี้ย ให้นำเงินก้อนนี้กลับไป จะได้มีอยู่ มีกิน และมีใช้ เราหวังว่ารัฐบาลต้องสร้างเศรษฐกิจให้เงินในกระเป๋าประชาชนมากขึ้น และต้องลดภาระหนี้ไปพร้อมกัน”
โอกาสนี้ รมว.ทวี ได้มอบเงินเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา จำนวน 8 ราย พร้อมเยี่ยมชมบูธหน่วยงานต่างๆ และพบปะประชาชนที่มาร่วมงาน โดย พ.ต.อ.ทวี ได้ร่วมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าร่วมมหกรรมฯ ด้วย
สำหรับการจัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ มีอยู่ มีกิน มีใช้” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. และผู้ที่มีหนี้สินจากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ต่างๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้จำนอง ค้ำประกัน เช่าซื้อ ฯลฯ ได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สิน และปรับโครงสร้างหนี้กับผู้แทนของ กยศ. และตัวแทนสถาบันการเงินต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้ ทั้งหมด 11 สถาบัน
@@ บุกสะบ้าย้อย ถกแก้ยาเสพติด – น้ำท่วมซ้ำซาก
จากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี เดินทางลงพื้นที่โรงเรียนสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อติดตามรับฟังการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มน้ำคลองเทพา และการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 9 เป็นผู้ประสานงานกับสมาคมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนภายใต้การกำกับดูแล ดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน โดยยึดผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามความพึงพอใจของประชาชนเป็นหลัก
—————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 17 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/other-news/135743-ministersongkhla.html