สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมชวนเพื่อนที่จบคณะวิศวกรรมศาสตร์รุ่นเดียวกันกว่า 30 คน มาเรียนเอไอ และการใช้เครื่องมือเอไอต่างๆ เช่น ChatGPT, Gemini, DeepSeek, NotebookLM, Suno และ Gamma เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน ผมสอนทั้งการเขียนเอกสาร การสร้างภาพ การสร้างวิดีโอ การแต่งเพลง แปลภาษา การนำเอไอมาสรุปเอกสารหรือวิดีโอ การสร้างสไลด์อัตโนมัติด้วยตัวเอง รวมถึงการสนทนาด้วยเสียงกับโปรแกรม ChatGPT
การสอนอาจใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง แต่งานที่เครื่องมือเอไอแต่ละตัวทำให้ในเวลาสั้นๆ นั้นมีผลงานออกมาหลายชิ้นมาก ถ้าเป็นคนทั่วไปลงมือทำเองอาจใช้เวลาเกือบเดือน จึงทำให้ทุกคนประหลาดใจว่า วันนี้เอไอมีความสามารถมากอย่างที่ไม่คาดคิด
เพื่อนผมส่วนมากใกล้วัยเกษียณ หลายคนเคยมีหน้าที่การงานที่ดี หลายคนเป็นผู้บริหารในองค์กรต่างๆ หลังจากที่เรียนคอร์สเอไอจบส่วนใหญ่พูดเสียงเดียวกันว่า ถ้าเรามีเครื่องมือเอไอเหล่านี้สมัยยังทำงานอยู่คงสบายกว่านี้เยอะ จะทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น แต่หลายคนก็บอกว่า เราโชคดีที่เกิดมาเร็ว ไม่ต้องมาทำงานในยุคเอไอ เพราะหลายอย่างเอไอทำงานแทนเราได้ แล้วจะเหลืออะไรให้เราทำ
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท OpenAI เปิดตัว ChatGPT o3-mini-high ซึ่งมีการระบุว่า เป็นโมเดลที่เก่งที่สุดเวลานี้ และ เก่งกว่าโมเดลอย่าง DeepSeek R1 ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ก่อนมาก โดยเฉพาะการเขียนโปรแกรม ผมจึงทดลองนำมาเขียนโปรแกรมอย่าง PacMan หรือ Space Invader ที่ผมเคยชอบเล่นสมัยยังเรียนหนังสือ ตอนแรกผมก็นึกไม่ออกว่า จะเขียนคำสั่งหรือที่เรียก Prompt อย่างไรดี จึงจะได้โปรแกรมเกมนี้ออกมา
โดยเฉพาะการเขียนโปรแกรม ผมจึงทดลองนำมาเขียนโปรแกรมอย่าง PacMan หรือ Space Invader ที่ผมเคยชอบเล่นสมัยยังเรียนหนังสือ ตอนแรกผมก็นึกไม่ออกว่า จะเขียนคำสั่งหรือที่เรียก Prompt อย่างไรดี จึงจะได้โปรแกรมเกมนี้ออกมา
ผมจึงเริ่มจากการถาม ChatGPT ให้ช่วยสร้าง Prompt ว่าจะเขียนคำสั่งอะไรดี เขาก็สร้างออกมาให้ หลังจากนั้นผมก็นำ Promptที่สร้างขึ้นมานี้มาสั่งให้ChatGPT เขียนโปรแกรม และไม่น่าเชื่อครับ ภายในไม่กี่นาทีเขาก็สามารถเขียนโปรแกรมออกมาได้อย่างดี และผมก็สามารถนำโปรแกรมนั้นไปใช้งานเล่นเกมส์ได้โดยผมไม่ได้แก้โค้ดใดๆ เลย ซึ่งการเขียนโปรแกรมทั้งสองนี้ ให้โปรแกรมเมอร์จบใหม่ทำก็อาจทำไม่ได้หรือคงใช้เวลาเป็นเดือน แต่สิ่งที่ ChatGPT ทำน่าประหลาดใจมาก เพราะผมแทบไม่ได้ใช้ความคิดอะไรของตัวเองเลย แต่ใช้ ChatGPT ทั้งหมดและทำงานออกมาได้ดีกว่าโปรแกรมเมอร์เด็กๆ มาก
ผมเห็นวิวัฒนาการและแข่งขันของเอไอ โดยเฉพาะ Generative AI แล้วตกใจ ตั้งแต่ ChatGPT 3.5 ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ผมก็เริ่มเห็นบริษัทเทคโนโลยีหลายรายแข่งกันพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ ระยะแรกๆ มีการออกเวอร์ชันใหม่ทุก 4-5 เดือน โดยมีความสามารถใหม่ๆ ที่ผลัดกันแซงหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ระยะหลังที่ตกใจกว่าคือ โมเดลใหม่ออกมาเป็นรายสัปดาห์
สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเห็น DeepSeek ออกโมเดลใหม่มา ก็มีผลทำให้วงการเอไอตื่นเต้นกับความสามารถของบริษัทสตาร์ตอัปจีนที่สามารถทำโมเดลได้เก่งกว่าตัวเดิมๆ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันบริษัท Alibaba ก็เปิดตัวโมเดล Qwen 2.5 Max ที่ระบุว่าดีกว่า DeepSeek
ส่วนบริษัท Google ก็เริ่มเปิดตัวโมเดล Gemini 2.0 Flash และมีโมเดลในการทำบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เรียกว่า Gemini Deep Research ถัดมาบริษัท OpenAI ก็ประกาศให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้โมเดล GPT o3-mini ที่เป็นโมเดลที่ฉลาดสุดในตอนนี้ และจะเปิดให้ใช้ GPT o3 ในเดือนกุมภาพันธ์ โมเดลนี้ถูกระบุว่า มีความสามารถเท่าคนจบปริญญาเอก อีกทั้งยังเปิดตัว ChatGPT Deep Research ออกมาแข่งกับ Gemini
ความสามารถของโมเดลเอไอจากที่เคยเพียงแค่ถามความเห็น เขียนเนื้อหาใหม่ กลายเป็นว่ามีความสามารถในการสนทนากันได้ งานเขียนเนื้อหาก็เก่งขึ้น งานเขียนโปรแกรม และความรู้ต่างๆ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมเคยนำโมเดลต่างๆ มาทำข้อสอบคณิตศาสตร์ O-Net ของ ม.6 ซึ่งเป็นภาษาไทยและเป็นที่ทราบกันว่าเด็กไทยสอบวิชานี้คะแนนต่ำมาก แต่ปรากฏว่าโมเดลเอไอเหล่านั้นสามารถทำข้อสอบผ่านได้สบายๆ และโมเดลบางตัวทำได้คะแนนเกือบเต็ม
การแข่งขันนี้ยังคงมีอีกยาวนาน ความสามารถจะเก่งขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งหากเทียบกับมนุษย์แล้ว เราคงไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้รวดเร็วเท่าเอไอ ยิ่งเป็นการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยโดยไม่มีเอไอ ความรู้ที่เราเรียนมาเทียบกับการพัฒนาของโลก จะพบว่าความรู้ที่ได้จากระหว่างเรียนซึ่งเมื่อจบมาก็ไม่เพียงพอต่อการทำงาน นั่นคืออายุขัยความรู้ที่เรียนมาสั้นลงเรื่อยๆ แต่พอมีความก้าวหน้าของเอไอก็จะยิ่งหนักกว่าเดิมมาก ในเวลานี้เอไอยังเก่งขนาดนี้ หากมองไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า กว่าเด็กนักศึกษามหาวิทยาลัยจะจบออกมา เอไอจะมีความสามารถมากขึ้นขนาดไหน จะยิ่งแซงหน้ามนุษย์ไปอีกหลายเท่า
โลกกำลังเปลี่ยนไปมาก ผมไม่เชื่อว่าคนในยุคใหม่จะมีอาชีพใดอาชีพหนึ่งได้ตลอดชีวิต คนจะเปลี่ยนอาชีพตัวเองไปหลากหลายตลอดเวลา ความรู้ที่ได้มาจากการเรียนในมหาวิทยาลัยจะมีอายุขัยที่สั้นมาก และมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อเรียนจบความรู้ก็จะล้าสมัยไปแล้ว จึงไม่สามารถทำงานในอาชีพนั้นได้แล้ว ถ้ามีความรู้เฉพาะที่เรียนในมหาวิทยาลัย
ดังนั้นคนยุคนี้จึงต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต และมหาวิทยาลัยต้องสร้างทักษะให้นักศึกษามีความกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ไปตลอด ต้องสร้างให้เป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆ ตลอด เพราะอาชีพที่จะจบมาอาชีพเดียวไม่พอแล้ว ต้องเป็นคนเก่งในหลายด้านและพร้อมที่จะปรับตัวเอง
แต่การศึกษาไทยจำนวนมากยังเป็นรูปแบบเดิมๆ หลักสูตรหลายที่ยังไม่ตระหนัก อาจารย์ยังคิดแบบเดิม ระบบการศึกษายังเน้นการสอนแบบท่องจำ ยังเน้นการสอบแข่งขันกันแบบเดิมๆ ก็ส่งผลไปยังผู้ปกครองและนักเรียนให้ได้ค่านิยมที่ผิดๆ ยังแข่งขันกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย ยังมีความเป็นสถาบันนิยมคิดว่ามหาวิทยาลัยไหนดีกว่าโดยดูจากชื่อเสียงเดิมๆ ยังยึดติดกับสาขาและคณะที่จะเรียน
โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ทักษะคนต้องปรับอย่างเร็ว สถาบันการศึกษาของไทยต้องเร่งปรับตัวครับ การสอนแบบท่องจำ แบบครูอาจารย์บอก แล้วนักเรียนนักศึกษาทำตาม จะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป วันนี้ต้องสอนให้พวกเขาพร้อมที่ปรับตัวเอง มีทักษะในการแก้ปัญหา (problem solving) และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทักษะเหล่านี้สามารถใช้ได้กับงานหลากหลายชนิดที่เอไอทำไม่ได้
วิชาที่เน้นการคิดหาเหตุผล เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การออกแบบอัลกอริทึม จึงยกระดับจากเคยเป็นวิชาที่สำคัญ กลายมาเป็นวิชาที่จำเป็น
ในอนาคต เราคงไม่ถามครับว่า จบปริญญาคณะอะไร สาขาอะไร สถาบันไหนยกเว้นบางอาชีพที่ต้องการวุฒิเฉพาะทาง เช่น แพทย์ แต่ก็ยังต้องเน้นทักษะใหม่ๆ เหล่านั้นเช่นกัน แม้จะวุฒิเฉพาะความรู้ก็ต้องไม่หยุดนิ่ง ซึ่งต่อไปเราคงสนใจว่าคนทำงานมีทักษะอะไร และความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเองสู่โลกอนาคตมากกว่า
ถ้าเรายังคิดแบบเดิม การแข่งขันในโลกข้างหน้าลำบากครับ ลูกหลานก็จะยิ่งลำบาก
———————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 10 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1165987