“ ข้อมูลทั้งหมดที่เราได้มาตอนนั้นมีจำนวน 11.5 ล้านไฟล์ ความจุรวม 2.6 เทราไบต์ มันเป็นข้อมูลที่ใหญ่มหึมามากและต้องอ่านเยอะมาก ทั้งแบบที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและไม่ได้บอกอะไรเลย เป็นกระดาษมาแผ่นหนึ่งหรือเป็นหนังสือบริคณห์สนธิที่ยังไม่ได้บอกอะไร และเป็นตัวเลขหลายๆแผ่นที่ไม่ได้บอกความเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมของตัวเลขนั้นว่าหมายความว่าอะไร มันเหมือนการค่อยๆไล่ต่อจิ๊กซอร์จนกว่าจะได้รายชื่อบุคคล เราจะตีความอย่างไรถ้าเรื่องมันไม่สมบูรณ์ เราจะบอกอะไรกับสังคม อะไรที่เรารายงานไปแล้วมันจะเป็นประโยชน์…การทำความเข้าใจกับข้อมูล…นี่คือสิ่งที่ยากที่สุด ”

ปรางทิพย์ ดาวเรือง นักข่าวไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่ร่วมอยู่ในเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ ICIJ เล่าถึงเบื้องหลังการตีแผ่รายงาน “ปานามา เปเปอร์ส” รายงานข่าวสืบสวนชิ้นสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ เพราะเป็นผลงานข่าวข้ามพรมแดนขององค์กรสื่อกว่า 100 องค์กรทั่วโลก จากเอกสาร “ปานามา”เอกสารลับการทำงานของบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งสัญชาติปานามา ที่ช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ ทั้งนักการเมือง ผู้นำประเทศ และคนดังหลากหลายวงการจากทั่วโลก เพื่อฟอกเงินและหลีกเลี่ยงภาษี
ที่ผลจากรายงานข่าวชิ้นนี้ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังวงการต่างๆ จนมีผู้นำประเทศและนักการเมืองระดับสูงต้องพ้นจากตำแหน่งไปอีกหลายราย

“ปานามา เปเปอร์ส” ถือเป็นงานข่าวโลกยุค ‘Big Data’ ที่ถูกหยิบยกมาเป็น 1 ในหัวข้อของการอบรม เชิงปฏิบัติการ “รายงานข่าวสืบสวนด้วยข้อมูลเชิงลึก” TRAINING & WORKSHOP: DATA JOURNALISM FOR INVESTIGATIVE REPORTING ซึ่งชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 – 26 มกราคม 2568 โดยมีวิทยากรและหัวข้อในการอบรมที่เจาะลึกแบบเข้มข้น ในการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนด้วยข้อมูลเชิงลึก
ปรางทิพย์ ดาวเรือง สะท้อนมุมมองถึงการทำข่าวสืบสวนด้วยข้อมูลเชิงลึก หรือ Data Journalism ว่ามีทั้งความสำคัญและความสัมพันธ์กับการทำงานข่าว โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ทำให้ข้อมูลไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ชิ้นใดชิ้นหนึ่งอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า Data Set หรือ กลุ่มข้อมูล ดังนั้นการจะจัดการกับข้อมูลที่มีจำนวนมากๆที่มาจากที่ต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการ Data Journalism
“ นักข่าวที่มีทักษะทางด้านข่าวสืบสวนสอบสวน บวกกับ Data Journalismจะยิ่งเพิ่ม Value ในตัวเขามากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องของ Data Journalism ในโลกนี้มันหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว มันจะมีแต่ยิ่งมากขึ้นและมากขึ้น แล้วก็เป็นที่พูดกันโดยทั่วๆไป เป็นที่ตื่นตัวมีการอบรมกันมากมายในนานาชาติ คนข่าวรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ เริ่มมีความเข้าใจและมีความพยายามในการเข้าไปหา “ข้อมูล” ที่มีขนาดใหญ่ เพื่อนำมาเคี่ยวให้เป็นประเด็นของข่าวมากขึ้น แต่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่า คำว่า Data หมายถึง “ข้อมูล” ที่ไม่ได้มีความหมายแค่เฉพาะ “ตัวเลข” เท่านั้น และคำว่า Data ยังไม่ถือว่าเป็น “ข่าว” แต่เป็นเพียงแค่ “ข้อมูล” ที่ยังไม่มีเรื่องราว ”ปรางทิพย์ กล่าว
หากเทียบกับในต่างประเทศแล้วปรางทิพย์บอกว่าหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลอาจมากกว่าโลกตะวันตก ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายของประเทศนั้นๆ เช่น มาเลเซีย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ทุกอย่างปิดลับหมดถ้าเป็นของราชการ จะมีเพียงข้อยกเว้นบางประการเท่านั้น ส่วนในประเทศไทย แม้จะมี พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารที่ให้สิทธิในการเข้าไปหา Data ได้ แต่นักข่าวก็ยังต้องใช้ความพยายามในการเข้าถึง สิ่งสำคัญ คือ การฝึกฝนตัวเองให้รู้จักวิธีการจัดการกับข้อมูลที่ได้มา โดยเฉพาะนักข่าวที่ทำข่าวสืบสวน จะต้องคุยกับข้อมูลให้รู้เรื่อง
“ นักข่าวสืบสวนที่ใช้ Big Data จะต้องมี คือ สัญชาตญาณและคุณสมบัติพื้นฐานของนักข่าว อย่างที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Nose for news จะต้องมี Sense ของความ “เอ๊ะ” ต้องเป็นคนช่างสังเกต ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆรอบตัว มองสังคมในวงกว้างเป็น และมองเห็นความไม่ปกติในความปกติอยู่เสมอ ทำไมเราต้องทำข่าวนี้ ทำไมเราถึงเห็นว่าเรื่องนี้มันผิดปกติ ต้องฝึกตัวเองอย่างนี้และตามมันไป ”

พอมาบวกกับทักษะสมัยใหม่ อย่างน้อยคุณต้องรู้เทคโนโลยีบ้าง แหล่งข่าวซีฟ สำคัญก็จริง แต่หากขาดความรู้ที่จะจัดการกับตัวข้อมูลที่ได้มา ถ้าทำไม่ได้เราอาจจะลำบาก เพราะบางครั้งข้อมูลที่มันมาหาเรา มันมีมาก ดังนั้นนักข่าวยุคนี้ต้องมีความเป็นนักวิจัยอยู่ในตัวด้วย
“เมื่อได้ Dataขนาดใหญ่มา ยังไม่ต้องไปเชื่อทันทีทันใด แต่จะต้องดูให้ออก คุยกับข้อมูลให้เป็น ว่าข้อมูลนั้นบอกอะไรกับเราได้บ้าง และมีเรื่องอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เพราะในการทำข้อมูลอาจจะมีอะไรที่ซ่อนเร้น หรือหมกเม็ดอยู่ในนั้นก็ได้ หรือมีความลึกซึ้งอะไร พูดง่ายๆว่าต้องมีทักษะในการอ่านข้อมูล ตีให้แตก จัดการกับมันให้เป็น โดยไม่ติดกับดักของข้อมูลขนาดใหญ่” แต่แม้จะได้ข้อมูลมาแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าจบ แต่นักข่าวจะต้องมีกระบวนการการจัดการข้อมูล ให้มันออกมาเป็น Story ให้ได้ ดังนั้นอีกทักษะที่สำคัญ คือ ทักษะในการอธิบายและนำเสนอ จากข้อมูลที่ได้ คิดต่อว่าจะเล่าเรื่องอะไรดี จะตัดข้อมูลอะไรออก และจะหาข้อมูลอะไรเพิ่ม จะทำยังไงถึงจะนำเสนอสิ่งที่ซับซ้อน ให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ
“ สิ่งที่ยังไม่ค่อยเห็นในบ้านเรา คือ บทบาทของคนที่เรียกว่า “Whistleblower” หรือ คนเป่านกหวีด ที่จะเป็นผู้แจ้งเบาะแส นำเอาข้อมูลขนาดใหญ่มาให้กับนักข่าว เพื่อที่นักข่าวจะได้เอาไปผ่านกระบวนการการทำข่าว แล้วนำเสนอกับสังคมได้ ตรงนี้เรายังไม่มี ดังนั้นเราจะต้องมีความพยายามในการที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลจากสถาบันต่างๆไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลเปิดหรือไม่ก็ตามให้มากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือเราจะต้องเรียนรู้ในการให้กําลังใจ หรือปลูกฝังให้กับผู้ที่มีข้อมูลอยู่ในมือ แล้วคิดว่าข้อมูลเหล่านี้จะต้องออกสู่สาธารณะ สนับสนุนให้เขา มาทำงานกับเราให้มากขึ้น พูดง่ายๆว่า Data Journalism ในบ้านเรา ยังต้องไปอีกไกล…” ปรางทิพย์ กล่าว
บุกเบิก Data J รุ่นแรก เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
หากย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว คือจุดเริ่มต้นของการบุกเบิก สร้าง Data J ขึ้นเป็นรุ่นแรก หลังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการอบรมData Journalismซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคนั้นที่จะรวบรวมผู้มีความสามารถในการสื่อสาร และผู้มีความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้มาทำงานร่วมกันได้

ดร.พรรณี อมรวิพุธพนิช หัวหน้าทีมวิทยากรหลักสูตร Data Journalismเล่าว่าการบุกเบิกสร้าง Data J รุ่นแรกถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะสามารถสร้างผลงานข่าวด้วยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจได้ถึง 5 เรื่อง และจุดประกายให้สำนักข่าวชั้นนำในประเทศไทยนำไปต่อยอดด้วยการลุกขึ้นมาจัดกลุ่มนักข่าว ทำ Data Journalism ของตัวเอง อีกทั้งยังเกิดเป็น ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย หรือ TDJ ขึ้นมา อยู่ภายใต้การทำงานของสมาคมนักข่าวฯ เป็นการรวมตัวของนักข่าว นักวิชาการ นักออกแบบ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนา Data Journalismในประเทศไทย โดยชมรมฯ ยังได้ถูกเชิญไปให้ข้อมูล ความคิดเห็น แชร์ประสบการณ์การทำข่าวด้วยข้อมูลเชิงลึกกับสำนักข่าวต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษา
ส่วนการจัดอบรมครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากสถานทูตอเมริกาฯ และยังคงได้รับความสนใจจากนักข่าวและนักสื่อสารจากองค์กรสื่อต่างๆจากทั่วประเทศ มาเข้าร่วมอบรมรวม 28 คน โดยมีหลากหลายวิทยากรและหัวข้อของการอบรม อาทิ “Data เปลี่ยนสังคม“ โดย ศูนย์ข้อมูลคนหายมูลนิธิกระจกเงา , Data Joumalismกับอนาคตวงการสื่อมวลชนไทย , การทดลองใช้ BIG Data ในประเทศไทยเพื่องานข่าว , ขั้นตอนและกระบวนการ “รายงานข่าวสืบสวน” , การใช้สื่อสังคมออนไลน์ และ social media เพื่อสนับสนุนงานข่าวสืบสวน และการรายงานข่าวด้วย AI

“ จุดมุ่งหมายสำคัญในการจัดอบรมรุ่นที่ 2 นี้ นอกจากการทำข่าวข้อมูลเชิงลึก เรายังเพิ่มการทำข่าวสืบสวนลงไปด้วย ทำให้น่าสนใจมากขึ้นแล้วก็โจทย์ยากขึ้น โดยจะมีการมาพบกัน 4 ครั้ง ครั้งแรกทำความรู้จักกันและปูพื้นฐาน ครั้งที่ 2 เราจะเชิญกลุ่ม developer อาสาสมัครเข้ามาร่วมกับเรา ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากตอนรุ่น 1 ที่เราจะเชิญกลุ่ม developer มาร่วมอบรมด้วยตั้งแต่ครั้งแรก แต่กลุ่ม developer จะมีการเลือกกลุ่มที่ตัวเองชอบ เลือกหัวข้อที่ตัวเองสนใจ เชื่อว่าผลงานที่จะเกิดจากการอบรมครั้งนี้จะมีความลุ่มลึกและมีประเด็นในการสืบสวนมากกว่าคราวที่แล้ว ” ดร.พรรณี กล่าว
ตั้งเป้า Data J สืบด้วยข้อมูล
สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม

ดร.เอกพล เธียรถาวร ประธานชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เสน่ห์ของ Data Journalismคือการใช้ข้อมูลเป็นฐานในการรายงานข่าวต่างๆ ทำให้ข่าวมีความชัดเจน ตรวจสอบได้ มีความโปร่งใสและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการรายงานข่าวของสื่อ มักไปยึดโยงกับความเห็นของผู้คนเพียงอย่างเดียว
ซึ่ง Data ถือเป็นเทรนด์ของโลกยุคนี้ สถานศึกษาหลายแห่งให้ความสำคัญในการปูพื้นฐานการสร้างบุคลากร จนกลายเป็นหลักสูตรภาคบังคับระดับชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย อย่างคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ของ ม.ธรรมศาสตร์ ก็มีวิชาพื้นฐานที่เป็นวิชาบังคับเกี่ยวกับพื้นฐานด้าน Data เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของ AI และข้อมูล สร้างความพร้อมเพื่อไปต่อยอดในวิชาที่มีความเข้มข้นขึ้นของในแต่ละสาย ปัจจุบันการเอา Data มาใช้ในการนำเสนอข่าวของสื่อไทย ยังมีอยู่น้อยมากหากเทียบกับในต่างประเทศ แต่ก็ยังถือว่าพัฒนาไปมากพอสมควร และมีผลงานทยอยออกมาให้เห็นเรื่อยๆ
“อุปสรรคที่ท้าทายของการทำข่าว โดยใช้ Data ที่สื่อทั่วโลกเจอไม่ใช่เฉพาะแค่สื่อในประเทศไทย คือปัญหาการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งการเข้าถึงการอบรมทักษะความรู้พื้นฐานด้านการจัดการข้อมูลนี้ ดังนั้นความคาดหวังในการจัดอบรมครั้งที่ 2 นี้ เราวางเป้าหมายที่ใหญ่และท้าทายกว่าเดิม เหมือนเป็นการติดอาวุธด้าน Data ให้กับนักข่าวสืบสวน ทำให้ข่าวสืบสวนสอบสวนมีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนำจุดเด่นของสื่อ และ developer หรือว่าโปรแกรมเมอร์ มารวมกัน”
ขณะที่ ดร.พรรณี เสริมว่า ความท้าทายที่สุดของการจัดอบรมครั้งนี้ คือการเลือกข้อมูลที่สามารถนำมาสื่อสารและเป็นไปตามจุดประสงค์สำคัญที่สุดของการทำงานของชมรมฯ คือรายงานข้อมูล รายงานสื่อสารในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
“ คำว่าเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายนั้นอาจจะหมายถึงในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาครัฐ องค์กรเอกชน นโยบายในสังคม ในชุมชนอะไรก็ได้ โดยเราคาดหวังว่าสังคมต้องดีขึ้น ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นช่วยเราได้เยอะ การนำ AI มาช่วย การใช้ Data ที่โอเพ่นมากขึ้นของประเทศไทย ถือเป็นความท้าทายของเราในการที่จัด workshop ครั้งที่ 2 นี้เช่นกัน นั่นคือสิ่งที่ท้าทายว่าผลงานเหล่านี้จะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้หรือไม่”
“ แม้การทำงานด้วยวิธีการของ Data Journalism นั้นไม่ง่าย แต่ TDJ มีความฝันและมีอุดมการณ์ร่วมกันว่าประเทศไทยจะมีเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกที่ทำงานในเชิงสืบสวนสอบสวน การรายงานข่าวจาก Data การพัฒนาของนักข่าวไทย เพื่อให้รู้ว่าข้อมูลนั้นมันมีอะไรมากมายที่สามารถนำมาตอบปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ โดยเรายังมีโครงการที่อยากเตรียมความพร้อมให้สมาคมนักข่าวฯ เป็นศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อรวบรวม Open Data สำหรับนักสื่อสาร นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอีกด้วย
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครือข่ายนี้จะเกิดขึ้น และคาดหวังว่าประเทศไทยต้องมีกลุ่มนักสื่อสารด้วยข้อมูลเชิงลึกที่ทำงานเพื่อประชาชนเพื่อสังคม และที่สำคัญคือว่าเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของประเทศไทย ของโลกใบนี้ นั่นคือจุดมุ่งหมายของเรา ” ดร.พรรณี กล่าว
กำลังใจถึงคนข่าว Data J
“ พี่อาจจะพูดอะไรที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของอาชีพนักข่าวนะคะ แต่พี่อยากจะฝากถึงนักข่าว Data J ว่าให้ใจเย็นๆ เพราะมันไม่มีอะไรที่จะได้มาในครั้งเดียว ก้อนเดียวและสมบูรณ์ นักข่าว 1 คน อาจจะต้องทำข่าวหลายๆอย่างและหลายลักษณะ ทำทุกๆอย่างให้ดีที่สุด ในการทำข่าว Data เนี่ยนะ สิ่งที่พวกเราจะต้องทำคือ 1.พยายามเรียนรู้ทักษะให้มากที่สุด 2.หาโอกาสที่จะทำ อาจจะเป็นข่าวเล็กๆก็ได้ ประเด็นที่เราจะทำข่าว Data ได้มันมีอยู่ทั่วไปเลยจริงๆนะ มันอยู่ที่สายตาของเราเองที่จะมอง ไม่ต้องไปมุ่งหวังว่ามันจะต้องใหญ่มาก ถ้าหากว่าเรามีข้อจำกัดทั้งทรัพยากรและก็เวลา อย่าง “ปานามาเปเปอร์ส” ข่าวในลักษณะที่ใหญ่มหาศาลแบบนี้มันจะมาสักกี่ครั้ง ไม่ต้องไปสนใจ เอาในขอบเขตที่พวกเราทำได้ แล้วก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ” ปรางทิพย์ ดาวเรือง สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ ICIJ ให้กำลังใจถึงคนข่าว Data J
……………………………………………………………..
“ ปัญหาการเข้าถึงข้อมูล เป็นอุปสรรคข้อแรกๆที่ Data Journalism ทั่วโลกประสบเหมือนกันไม่ใช่เฉพาะแค่ประเทศไทย แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับอุปสรรคนั้นยังไง มี Data Journalism จากหลายภาคส่วน เช่น ในแถบละตินอเมริกา ที่เขาก็เจอกับปัญหาการใช้อำนาจรัฐ หรือปกปิดข้อมูลจากภาคธุรกิจ แต่แทนที่จะยอมแพ้ เขากลับลุกขึ้นสู้และบอกว่า ก็เพราะมันไม่มีไง เราถึงต้องทำข้อมูลขึ้นมา บางครั้งก็อาจจะเป็นการสร้างฐานข้อมูลขึ้นมาเองด้วยการรวบรวมข้อมูลกับเครือข่ายสมาชิก หรือว่าอาจจะเป็นภาคประชาชน NGO สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้นมาเพื่อร่วมกันสร้างฐานข้อมูล ก็เป็นทางออกที่จะทำให้ได้ข้อมูลเพื่อให้สามารถนำมาสร้างผลงาน Data ที่มีคุณภาพได้เช่นกัน ” ดร.เอกพล เธียรถาวร ประธานชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย ทิ้งท้ายให้คิด
……………………………………………………………..
“ เราคิดว่าในอนาคตชมรมฯ ของเรา จะมีการเติบโตและเป็นเหมือนกับการปักหมุดของการทำข่าวด้วยข้อมูลเชิงลึกของประเทศไทย เพราะในอีกมุมหนึ่งเราเชื่อว่านักข่าวหรือผู้ที่อยากสื่อสารข้อมูลเชิงลึกออกสู่สาธารณะนั้น เป็นเพราะอยากช่วยแก้ปัญหาบางอย่าง อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในบางสิ่ง หวังให้สังคมหรือสิ่งแวดล้อมเราดีขึ้นกว่าเดิม นั่นคืออุดมการณ์ร่วมกันของเครือข่ายพวกเรา ซึ่งหากนักข่าว หรือ developer หรือองค์กรใด สนใจอยากมีส่วนร่วมติดต่อชมรมของเราเข้ามาได้เลย หรือจะผ่านทางสมาคมนักข่าวฯก็ได้ พวกเรายินดีและเปิดกว้างเสมอ ซึ่งส่วนตัวของพี่เองก็มีความเชื่อว่า “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง” ” ดร.พรรณี อมรวิพุธพนิช หัวหน้าทีมวิทยากรหลักสูตร Data Journalismกล่าว
รายงานพิเศษ
โดยกองบก.จุลสารราชดำเนิน
——————————————————————————————————————-
ที่มา : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / วันที่เผยแพร่ 17 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://tja.or.th/view/booklet/1453599