ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องให้มีการก่อตั้ง ‘กองทัพของยุโรป’
รีเบกกา ธอร์น
—————–
บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
19 กุมภาพันธ์ 2025
พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวว่ากลุ่มประเทศยุโรปต้องทุ่มเงินทุนเพื่อช่วยเหลือยูเครนในการป้องกันการรุกรานจากรัสเซีย ระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง แล้วคำกล่าวนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับยุโรป ?
ความเห็นของเฮกเซธที่ผุดขึ้นมากลางวงสนทนาระหว่างผู้แทนของรัสเซียและสหรัฐฯ ในซาอุดีอาระเบีย สื่อถึงยุทธศาสตร์ของทรัมป์ในการยุติสงครามในยูเครน
ภาพอนาคตที่ยุโรปจะต้องรับผิดชอบมากขึ้นเพื่อความมั่นคงของตัวเอง ถูกสะท้อนผ่านนายเจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการประชุมความมั่นคงมิวนิก (Munich Security Conference) เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.พ. ซึ่งเขากล่าวว่ายุโรปจะต้อง “ขยับก้าวครั้งใหญ่ เพื่อจัดหาการป้องกันให้กับตัวเอง”
การเปลี่ยนจุดยืนอย่างรุนแรงของสหรัฐฯ กระตุ้นเตือนเหล่าผู้นำในยุโรปจนทำให้เกิดการประชุมฉุกเฉินที่ปารีสของฝรั่งเศสในวันที่ 17 ก.พ. เพื่อหารือถึงข้อขัดแย้งและเรื่องความมั่นคงของทวีป
นี่นำมาซึ่งคำถามว่า ยุโรปพึ่งพาสหรัฐฯ มากแค่ไหนในเรื่องความมั่นคง และจะสามารถอยู่รอดด้วยตัวเองได้หรือไม่
ทำไมสหรัฐฯ จึงเข้าร่วมกองกำลังกับชาติยุโรปในตอนแรก
ตัวแทนจากประเทศสมาชิกนาโต (Nato) เข้าร่วมการประชุมในปี 1957 ที่ปารีส
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 ด้วยจุดประสงค์แรกเริ่มเพื่อป้องกันการขยายอำนาจในยุโรปของสหภาพโซเวียตในอดีต
ขณะนั้นสหรัฐฯ มองว่า ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการทหารของยุโรป เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการขยายอำนาจนี้ และให้ความช่วยเหลือในขนาดที่ใหญ่กับบรรดาประเทศยุโรป เพื่อช่วยฟื้นฟูความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นจากสงครามโลกครั้งที่สอง
ปัจจุบันนาโตมีสมาชิก 32 ประเทศ รวมถึงประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งสมาชิกตกลงว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตี ประเทศอื่น ๆ ก็ควรช่วยป้องกัน
แต่หลังจากสัปดาห์นี้ โครงสร้างด้านความมั่นคงของยุโรปที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง แม้สหรัฐฯ จะยังคงเป็นสมาชิกนาโต แต่เหล่าผู้นำในยุโรปกำลังกังวลว่า พวกเขาอาจจะไม่สามารถพึ่งพาสหรัฐฯ ได้แล้ว ในเรื่องของการส่งความช่วยเหลือมาให้
กลุ่มประเทศยุโรปใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการป้องกันประเทศ ?
โปแลนด์ คือหนึ่งในประเทศที่ทุ่มงบประมาณด้านความมั่นคงสูงที่สุด
กลุ่มพันธมิตรนาโต ร้องขอให้ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนทางการทหารเป็นจำนวนอย่างน้อย 2% ของรายได้ประชาชาติหรือจีดีพี (GDP)
จากการประมาณการของนาโต ในปี 2024 โปแลนด์เป็นผู้ใช้จ่ายมากสุดติดต่อกันเป็นปีที่สอง โดยจัดสรรเงินในสัดส่วน 4.1% ของจีดีพี
เอสโตเนีย ตามมาเป็นอันดับสองจากสนับสนุน 3.4% ของจีดีพี ขณะที่สหรัฐฯ อยู่อันดับสามจากการใช้จ่าย 3.4% เช่นกัน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับที่เคยสนับสนุนตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ด้านสหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับเก้า โดยจัดสรรทุนสนับสนุนเป็นสัดส่วน 2.3% ของจีดีพี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร เดวิด แลมมี เคยระบุว่าสหราชอาณาจักร มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะใช้จ่ายด้านความมั่นคงให้ได้ 2.5% และจะวางแนวทางในการไปถึงเป้าหมายนี้ให้ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
ขณะที่ค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายด้านความมั่นคงของสมาชิกนาโตในยุโรปและแคนาดา อยู่ที่ประมาณ 2.0%.
คามิลล์ แกรนด์ ผู้ช่วยเลขาธิการหน่วยการลงทุนด้านกลาโหมของนาโต บอกกับบีบีซีว่า การเรียกร้องของสหรัฐฯ ให้บรรดาประเทศยุโรปลงทุนมากขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ
“กลุ่มประเทศยุโรปจ่ายน้อยเกินไปมาหลายสิบปีแล้ว และตอนนี้พวกเขาต้องรับผลจากการกระทำนั้น”
“นี่เป็นคำขอที่สมเหตุสมผลจากสหรัฐฯ ว่าทำไมบรรดาประเทศที่ร่ำรวยจึงไม่จ่ายมากกว่านี้”
“กองทัพยุโรป” เป็นไปได้ไหม ?
เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุว่าเขา “พร้อมและเต็มใจ” ที่จะเสริมกำลังทหารของสหราชอาณาจักรในยูเครน เพื่อช่วยรับประกันความปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสันติภาพ
นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เรียกร้องให้มีการก่อตั้ง “กองทัพยุโรป” เพื่อตอบสนองความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะถอนความช่วยเหลือ
“พูดกันตรง ๆ ตอนนี้เราไม่สามารถที่จะตัดความเป็นไปได้ในการที่อเมริกาจะปฏิเสธยุโรป เกี่ยวกับปัญหาที่กำลังคุกคามยุโรปอยู่” เขากล่าวเมื่อ 15 ก.พ.
“ผู้นำหลายต่อหลายคนก็เคยพูดถึงประเด็นที่ยุโรปต้องมีกองทัพเป็นของตัวเอง คือ กองทัพยุโรป”
ด้านนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส สนับสนุนแนวคิดที่ยุโรปจะมีกองทัพเป็นของตัวเองมาอย่างยาวนานเพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ แต่แนวคิดดังกล่าวถูกปฏิเสธอย่างรวดเร็วโดย กายา กัลลัส หัวหน้าส่วนงานนโยบายด้านการต่างประเทศของสหภาพยุโรป
ริชาร์ด วิตแมน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยเคนต์ บอกกับบีบีซีว่า ขณะที่บรรดาประเทศนาโตในยุโรปมีความมั่งคั่งที่จะสร้างการป้องกันพื้นฐานจากประเทศอย่างรัสเซีย แต่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดอาจเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ
“ปัญหาที่พวกเขามีก็คือจะรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดมาสื่อสารกันอย่างไร รวมถึงจะสำรวจข้อมูลระยะไกลและเชื่อมต่อกันอย่างไร อย่างระบบดาวเทียม” เขาระบุ
ความสามารถของ “กองทัพยุโรป” ในการป้องกันตนเองจากประเทศอำนาจอย่างรัสเซีย เป็นสิ่งที่ “ไม่มีข้อกังขาใด ๆ เลย” จากมุมมองของศาสตราจารย์ เอมีเลีย แฮดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์สหราชอาณาจักรและยุโรปศึกษา มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์
“ยุโรป โดยเฉพาะนาโต มีความสามารถในการทำงานร่วมกันในระดับที่สูงมาก มีศักยภาพสูงมาก มีการฝึกอบรมมากมาย” เธอระบุถึงความสามารถของกองทัพประเทศต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกัน
“แต่คุณกำลังขอให้พวกเขากระโดดเข้ามา หลังจากสามปีที่อยู่ข้างสนามมาตลอดตอนที่วิกฤตกำลังคุกรุ่น การมีความพร้อมและมีความมั่นใจว่ายุทโธปกรณ์ไม่ขาดแคลน กำลังพลไม่ขาดแคลน ส่วนที่ต้องประสานการทำงานร่วมกันไม่ขาดแคลน จึงจะทำให้กองทัพยุโรปเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพนานาชาติที่มีประสิทธิภาพ”
ตั้งแต่การก่อตั้งองค์การนาโต ปฏิบัติการทางการทหารขององค์กรนี้ก็เดินตามการนำของผู้บัญชาการทหารกองผสมสูงสุดแห่งยุโรป (Supreme Allied Commander Europe – SACEUR) ซึ่งมักจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ที่ให้ประสบการณ์มากมายในการปฏิบัติการช่วงสงคราม
ศ.วิตแมน ระบุว่า บรรดานายพลในยุโรป ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในระดับนี้ ซึ่งทำให้อาจมีช่องว่างขนาดใหญ่ในศักยภาพของ “กองทัพยุโรป”
ทหารราบยูเครนที่เพิ่งถูกส่งไปยังแนวหน้า ฝึกฝนการโจมตีด้วยปืนไรเฟิลซุ่มยิงในสนามซ้อม
นอกจากนี้ อาจมีช่องว่างทางการเมืองที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้ด้วย
“ประเด็นที่สหรัฐฯ นำมาไม่ใช่แค่เรื่องของการรับประกันการช่วยเหลือ พวกเรามีทุกอย่างที่ต้องการในการต่อสู้แล้ว แต่สหรัฐฯ ยังทำให้เห็นเรื่องอำนาจในการดำเนินการในทางปฏิบัติ และคุณยังไม่มีโครงสร้างทางการเมืองที่พอจะเทียบเคียงกันได้ [ในยุโรป] ในการจะทำเรื่องนี้ หรือทำแบบมีส่วนร่วมกันทั้งหมดได้ หากพูดกันตรง ๆ” เขากล่าวเสริม
มันอาจจะนำมาซึ่งความกระอักกระอ่วนในเชิงอำนาจ และนำมาซึ่งคำถามที่ว่าใครเป็นคนนำยุทธศาสตร์การป้องกันยุโรป
ศ.แฮดฟิลด์ ระบุว่าฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศของยุโรป อาจสามารถเป็นผู้เบิกทางใช้โอกาสนี้ในการนำทางยุโรป
แต่พวกเขาก็ต้องตัดสินใจเช่นกันว่าจะแบ่งการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศระหว่างประเทศต่าง ๆ อย่างไร และใครจะต้องแบกรับภาระเยอะที่สุด
อีกปัญหาที่ผู้เชี่ยวชาญชี้คือเรื่อง “เวลา”
“คุณสามารถสร้างดาวเทียมจนปล่อยมันขึ้นสู่อวกาศได้เร็วแค่ไหน” ศ.วิตแมน ตั้งคำถาม “มันไม่ใช่แค่ระดับวัน สัปดาห์ หรือเดือน เรากำลังพูดถึงระยะเวลาเป็นหลักปี”
นี่จึงนำมาสู่คำถามว่า “กองทัพยุโรป” จะมีประโยชน์แค่ไหน กับวิกฤตของยุโรปที่เร่งด่วนที่สุดในยูเครน
“ผมยังไม่ค่อยเชื่อในแนวคิดนี้เท่าไหร่นัก” คามิลล์ แกรนด์ ผู้ช่วยเลขาธิการหน่วยการลงทุนด้านกลาโหมของนาโต บอกกับบีบีซี
ความท้าทายสูงสุดของยุโรปคือ “ความใหญ่และความพร้อม” ของยุโรปเอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะจำนวนทหารที่กองทัพมี แต่รวมถึงการเตรียมตัวของพวกเขาในการสู้ศึกที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มี อย่างเช่น การเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ โดรน และขีปนาวุธพิสัยไกล”
ในรายงานของ ศูนย์วิทยาศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศเบลเฟอร์ (Belfer Center for Science and International Affairs) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แกรนด์และเพื่อนร่วมงานของเขาระบุว่า “ศักยภาพในการป้องกันยุโรปที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือทรานส์แอตแลนติก ไม่สามารถที่จะสร้างได้ชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้ระยะเวลาหลายปีจากความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างต่อเนื่อง”
“เพื่อจะรับรองอิสรภาพและสถานะในระดับโลกของยุโรป และเพื่อรักษาความเป็นผู้นำของอเมริกาในยุคที่สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอน ทั้งยุโรปและอเมริกา ต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบาก”
เรื่องนี้มีความหมายอย่างไรต่ออนาคตของยุโรป ?
การประชุมฉุกเฉินถูกจัดขึ้นในปารีส เพื่อหารือก้าวต่อไปของยุโรปในยูเครน รวมถึงยุทธศาสตร์ความมั่นคงของทวีป
ช่องว่างด้านศักยภาพของกองทัพยุโรปทำให้หลายคนเป็นกังวลกับคำขู่ของอเมริกาในการถอนความช่วยเหลือด้านความมั่นคง
“มันยากที่จะจินตนาการว่ายุโรปจะมีความมั่นคงทางการทหาร หากปราศจากสหรัฐฯ” ศ.วิตแมน ระบุ
นานาประเทศในยุโรปต้องเพิ่มการใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญต่อไป เพื่อให้ไปถึงจุดที่เทียบเคียงกับการมีกองทัพร่วมที่มีความยั่งยืน แกรนด์ ระบุ
นอกจากนี้บางคนก็ยังกังวลว่ารัสเซียจะทดสอบความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ด้วยการมุ่งเป้าไปที่อื่นอีกหรือไม่
“มันเป็นเรื่องเศร้าที่จะบอกว่า ผู้คนเริ่มจะคุ้นชินกับแนวคิดที่ว่ายูเครนจะแตกสลายและพวกเราจะต้องสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ แต่พวกเขายังไม่คุ้นชินกับความคิดว่า [รัสเซีย] จะบุกโจมตีสวีเดน โปแลนด์ หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ซึ่งนั่นจะเป็นความขัดแย้งในอีกระดับหนึ่งเลย” ศ.แฮดฟิลด์ ระบุ
“นาโตต้องรีบหาคำตอบให้ได้ว่าตัวตนขององค์การจะเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีประเทศที่ร่วมก่อตั้ง”
——————————————————————————————————————
ที่มา : BBC NEWS / วันที่เผยแพร่ 19 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cz037g77rn9o