ในศึกเทคโนโลยีระหว่าง “จีน” กับ “สหรัฐ” หนึ่งในอาวุธที่จีนจะหยิบมาสู้กับกำแพงภาษี คือ “แร่หายาก” ซึ่งเป็น “วัตถุดิบที่ขาดไม่ได้” สำหรับชิป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จนถึงขีปนาวุธ โดยจีนครองการผลิตแร่หายากทั่วโลกถึง 70% จากเหมืองแร่ในหลายประเทศ ตามข้อมูลจาก Now-Gmbh องค์กรวิจัยของรัฐบาลเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงจีนประเทศเดียวที่มีแร่หายาก อเมริกาก็มีเช่นกัน สูงถึง 1.8 ล้านตัน รวมถึงพันธมิตรสหรัฐอย่างออสเตรเลียก็มีถึง 5.7 ล้านตัน แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมเหล่าชาติตะวันตกถึงยังไม่สามารถแยกขาดจากจีนด้านแร่ได้ เหตุใดยังคงพึ่งพาแร่จากจีนจนถึงปัจจุบัน พบว่ามี “3 เหตุผลหลัก” ดังนี้
1. จีนครองแร่แบบครบวงจรทั่วโลก
ถึงแม้ว่าชาติอื่นมีแร่หายาก แต่การจะมีกระบวนการแปลงแร่ดิบให้ใช้งานได้กลับมีไม่ครบถ้วน ขณะที่จีนมีอย่าง “ครบวงจร” ตั้งแต่การขุด สกัด และแปรรูป แม้กระทั่งแร่หายากดิบที่ถูกขุดนอกประเทศจีน ก็มักจะต้องส่งไปแปรรูปในจีน เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งจีนมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยด้วย
ย้อนไปในปี 1992 ขณะเยือนเมืองเปาโถว ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหมืองแร่หายากที่ใหญ่ที่สุดของจีน ผู้นำจีน “เติ้ง เสี่ยวผิง” ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเศรษฐกิจยุคใหม่จีนให้รุดหน้า ได้กล่าวไว้อย่างทรงพลังว่า
“ในตะวันออกกลางมีน้ำมัน จีนมีแร่หายาก” รัฐบาลจีนจึงสนับสนุนการทำเหมืองแร่หายากขนานใหญ่ตั้งแต่นั้นมา มีการลงทุนในเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และขยายเครือข่ายธุรกิจเหมืองไปทั่วทั้งโลก จนประเทศอื่นยากที่จะตามทัน
ไม่เว้นแม้แต่ในออสเตรเลีย ก็มีเครือข่ายเหมืองจีนที่ไปบุกเบิกก่อนแล้ว โดยในรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลีย มีสายทองคำและแร่หายากมากมาย แม้รัฐบาลพยายามสร้างห่วงโซ่อุปทานแร่ที่เป็นอิสระจากจีน แต่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบริษัท “Shenghe Resources” ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสถาบันวิจัยของรัฐบาลจีน มีความเกี่ยวข้องกับโครงการแร่หายากในรัฐวิกตอเรีย
เมื่อปีที่แล้ว Shenghe Resources ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อผลผลิตแร่ประมาณ 60% เป็นเวลาสามปีจาก VHM ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาแร่ของออสเตรเลีย อีกทั้ง Shenghe Resources ยังถือหุ้น 9.9% ใน WIM Resource บริษัทเหมืองแร่ออสเตรเลียที่กำลังพัฒนาแหล่งแร่ Avonbank สิ่งนี้สะท้อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินต่อไประหว่างเหมืองแร่ออสเตรเลียและจีน
2. ก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าแร่หายากเป็นสิ่งที่ชิป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมอเตอร์กังหันลมขาดไม่ได้ แต่การสกัดแร่เหล่านี้ออกมากลับสร้าง “มลพิษที่รุนแรง” ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ต้องแลก
เหตุผลเพราะอุตสาหกรรมนี้สามารถก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศวิทยาอย่างรุนแรง มีการปล่อยโลหะหนัก และสารมลพิษอื่น ๆ ระหว่างการทำเหมือง นำไปสู่การทำลายพืชพรรณ การปนเปื้อนของน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และพื้นที่การเกษตร อีกทั้งการทำเหมืองมากเกินไป อาจนำไปสู่ดินถล่มและแม่น้ำตื้นเขิน โดยในระหว่างการขุด จะมีการใช้ “แอมโมเนียมซัลเฟต” เพื่อใช้เป็นสารสกัดแร่ธาตุหายากออกจากดินเหนียว ให้เกิดการตกตะกอนเป็นแร่หายาก
ด้วยเหตุนี้ ประเทศตะวันตกที่มีระเบียบสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดกว่า กลุ่มเอ็นจีโอซึ่งค่อนข้างแข็งแกร่ง รวมถึงมีกฎหมายบังคับให้บริษัทต้องลงทุนมหาศาล เพื่อฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมือง ข้อจำกัดเหล่านี้ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตแร่หายากในประเทศตะวันตก “สูงกว่าจีนหลายเท่า” เนื่องจากต้องลงทุนในเทคโนโลยีลดมลพิษ ระบบบำบัดของเสีย และมาตรฐานความปลอดภัย
3. เทคโนโลยีสกัดแร่ของจีนล้ำหน้า
เนื่องจากจีนคลุกคลีอยู่ในวงการแร่มาหลายทศวรรษแล้ว ทำให้เทคโนโลยีด้านนี้ล้ำสมัยอย่างยิ่ง โดยตามข้อมูลจาก PatentManiac บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและสิทธิบัตรระบุว่า จีนได้ยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับแร่ธาตุหายากทั้งหมด 25,911 ฉบับ ซึ่งมากกว่าสหรัฐที่ยื่น 9,810 ฉบับ ญี่ปุ่นที่ยื่น 13,920 ฉบับ และสหภาพยุโรปที่ยื่น 7,280 ฉบับนับตั้งแต่ปี 1950 ไม่เพียงเท่านั้น วิศวกรชาวจีนได้ปรับปรุงกระบวนการสกัดด้วยตัวทำละลาย ซึ่งเป็นวิธีหลักในการแยกและทำให้แร่หายากบริสุทธิ์ ทำให้จีนมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี ขณะที่บริษัทตะวันตกเผชิญความท้าทายในการสกัดแร่ด้วยเทคนิคขั้นสูงเหล่านี้ ควบคู่ไปกับความกังวลด้านมลพิษ
ดร.อิซาเบล บาร์ตัน จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาอธิบายถึงความท้าทายในการสกัดแร่หายากว่า “แร่ธาตุเหล่านี้มักเกาะกลุ่มกันอยู่ในหิน ทำให้การแยกแยะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกันมาก เหมือนกับฝาแฝดที่แยกไม่ออก จึงยากที่จะแยกส่วนออกจากกัน”
เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านแร่ ในปี 2023 จีนได้ประกาศมาตรการ “ควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี” ของการผลิตแม่เหล็กจากแร่หายาก โดยรวมเทคโนโลยีการสกัดและแยกแร่ธาตุหายากเข้าไปด้วย
จะเห็นได้ว่า “แร่หายาก” ไม่ใช่เพียงแค่ทรัพยากร แต่ได้กลายเป็น “เครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจ” ที่ทรงพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมือของจีน ซึ่งครอบครองส่วนแบ่งตลาดโลกที่ใหญ่ที่สุด
ด้วยการที่จีนมีห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจร มีเทคโนโลยีผลิตแร่ที่ก้าวหน้า ประกอบกับชาติตะวันตกมีข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุนที่สูง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีทรัพยากรแร่อยู่ในประเทศก็ตาม
อ้างอิง: voa, new, csis, reuters, nikkei, science, patent, lexology, statista
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1164717